ธปท.ยัน “แวร์เฮ้าส์ซิ่ง”แก้ปัญหาลูกหนี้ ตรงจุด

25 ก.พ. 2564 | 11:51 น.

ธปท. แจง “แวร์เฮ้าส์ซิ่ง” มุ่งแก้ปัญหาลูกหนี้ที่มีหลักประกัน เน้นตรงจุด-เป็นธรรมและปฎิบัติได้จริง

ธปท. แจง “แวร์เฮ้าส์ซิ่ง” มุ่งแก้ปัญหาลูกหนี้ที่มีหลักประกัน เน้นตรงจุด-เป็นธรรมและปฎิบัติได้จริง หวังพยุงธุรกิจโรงแรม-บริการให้อยู่รอดและประคองแรงงาน  ด้านผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมขยายเวลาให้ธุรกิจสมัครใจร่วมโครงการอีก  หลังจากผลตอบรับเบื้องต้น 140รายมูลค่าทรัพย์สิน 56,187ล้านบาท

ธปท.ยัน  “แวร์เฮ้าส์ซิ่ง”แก้ปัญหาลูกหนี้ ตรงจุด

 นางชญาวดี  ชัยอนันต์  ผู้อำนวยการอาวุโส  ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค  ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงข่าวเรื่อง "คลายข้อจำกัดธุรกิจไทย ฝ่าภัยโควิด"  โดยระบุว่า  ภาพรวมเศรษฐไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงสูง  หลังการระบาดระลอกสองของโควิด โดยไตรมาส1ปีนี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)อาจจะปรับลดลงบ้าง แต่ในแง่ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจจะต้องเลื่อนไปอีก 1ไตรมาสจากเดิมที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดราวไตรมาส3ปี2565 ไว้ครึ่งปีหลังน่าจะกระจายฉีดวัคซีนได้ราว 50% ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ  แต่ยังมีความเสี่ยงหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)อาจจะปรับเพิ่มขึ้นเมื่อมาตรการช่วยเหลือหมดอายุ และรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐจะลดลงสะท้อนความเสี่ยงที่ยังมีอยู่ในระยะข้างหน้า 

ทั้งนี้  ธปท.แบ่งผลกระทบออกเป็น 2กลุ่ม  ได้แก่  1. ธุรกิจที่ยังไปได้หรือต้องการฟื้นฟูกิจการแต่ขาดสภาพคล่อง เพราะเจ้าหนี้ระมัดระวังขึ้นในการปล่อยสินเชื่อ และกลุ่มที่สองเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีภาระหนี้ที่มีหลักประกันแค่อุปสงค์ฟื้นตัวช้า ทำให้ขาดรายได้เพื่อจัดการกับภาระหนี้ โดยกลุ่ม 1.นั้น ต้องการเติมสภาพคล่องใหม่เพื่อรักษาการจ้างงานและฟื้นตัว เนื่องจากความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการระบาดระลอก2 เป็นธุรกิจที่สายป่านสั้นและได้รับผลกระทบมากขึ้น แต่ผู้ให้กู้มีความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาสินเชื่อ   และกลุ่มที่2.มีภาระหนี้ที่มีหลักประกันที่ยังไม่ฟื้นตัว  หลักๆอยู่ในกลุ่มภาคบริการ  ส่วนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์  เช่น คอนโดหรือโรงแรมที่เน้นลูกค้าต่างชาติซึ่งกลุ่มนี้อาจจะต้องการความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน

อย่างไรก็ตามกลุ่มุธุรกิจบริการนั้น เป็นกลุ่มที่ทางการให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยสัดส่วนเอสเอ็มอีค่อนข้างมากและมีการจ้างงานเกือบ 1ใน3ของการจ้างงานทั้งประเทศ ฉะนั้นหากพยุงกลุ่มนี้ก็จะช่วยประคองการจ้างงานซึ่งยังเปราะบางอยู่  เพราะกลุ่มเสมืองว่างงาน ที่ถูกลดชั่วโมงการทำงานต่ำกว่า 24ชั่วโมง แม้ปัจจุบันจะเริ่มกลับไปทำงานบ้างแล้วก็ตาม

สำหรับมาตรการทางการเงิน แม้จะมีมาตรการดูแลกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน เช่น กลุ่มที่มีภาระหนี้เดิมธปท.เร่งให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือพักชำระหนี้  แต่กลุ่มโรงแรมที่ไม่มีรายได้ยังไม่มีกลไกมาช่วยโดยที่กลุ่มนี้มีความต้องการเม็ดเงินใหม่เพื่อชำระค่าน้ำค่าไฟ แต่ระยะต่อไปจำเป็นต้องการสภาพคล่องเพื่อปรับปรุงหรือฟื้นฟูกิจการ 

นางสาวชญาวดีกล่าวว่า  กลุ่มที่มีภาระหนี้ที่เป็นหลักประกัน แต่มีรายได้ต่ำ หากไม่สามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้อาจจะต้องเสียสินทรัพย์อย่างถาวร  เพราะฉะนั้นกลไก Asset Warehousing (โกดังเก็บหนี้) ซึ่งหลักการลดภาระหนี้ให้ลูกหนี้ตีโอนทรัพย์เพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่ให้เจ้าหนี้และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืนในอนาคตด้วยราคาที่ไม่สูงเกิน ซึ่งลูกหนี้ได้พักภาระหนี้ชั่วคราว และสามารถเช่าสินทรัพย์ต่อเพื่อดำเนินการได้และสามารถซื้อคืนกิจการในราคาที่ตกลงกันไว้ก่อน  หลักสำคัญ ต้องมีการคำนวณราคา  ค่าเช่า ค่าดูแลต้องเป็นธรรมทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้

ยกตัวอย่าง นาย ก.  กู้เงินจากธนาคาร A เพื่อก่อสร้างพัฒนาโรงแรมและนำรายได้จากการบริการโรงแรมชำระเจ้าหนี้  เพื่อแก้ไขปัญหาโรงแรมขาดรายได้ กลไกแวร์เฮ้าส์ซิ่งจึงเป็นเปิดทางให้ลูกหนี้ตามสมัครใจเพื่อนำสินทรัพย์หลักประกันโอนทรัพย์ชำระหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้  โดยในหลักการเจ้าของโรงแรมสามารถเช่าโรงแรมเพื่อบริหารจัดการได้เช่นเดิม แต่หากไม่เช่าทางเจ้าหนี้อาจจะต้องดูแลทรัพย์หลักประกันให้ชั่วคราวโดยมีข้อตกลงให้ลูกหนี้กลับมาซื้อคืนโดยไม่มีภาระเกินไปกับลูกหนี้ในอนาคต ทั้งนี้สินทรัพย์จะได้รับการดูแลโดยไม่เสื่อมสภาพ

“ ภาพรวมของการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง  ความช่วยเหลือที่จะออกมาต้องเพียงพอ และดูแลเพิ่มเติม ซึ่งแวร์เฮ้าส์ซิ่ง เป็นมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ภาคธุรกิจโรงแรมซึ่งทั้งธปท. กระทรวงการคลัง  สมาคมธนาคารไทยและผู้เกี่ยวข้องธนาคารพาณิชย์ และผู้ประกอบการเพื่อออกแบบกลไกแก้ปัญหาให้ตรงจุดและสามารถใช้ปฎิบัติได้จริงทั้งดูแลความเสี่ยงและคลายข้อจำกัดธุรกิจและแรงงานได้รับการดูแลด้วย”

ด้านแหล่งข่าวจากผู้ประกอบการโรงแรมไทยกล่าวว่า  ขณะนี้ทางสมาคมโรงแรมไทยได้ขยายเวลาออกไปอีก เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงแรมแสดงความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ "แวร์เฮ้าส์ซิ่ง"   เนื่องจากที่ผ่านมามีจำนวนเบื้องต้น 140โรงแรมที่แสดงความสนใจจะเข้าร่วมโครงการแวร์เฮ้าส์ซิ่ง โดย 140โรงแรมดังกล่าวรวมมูลหนี้อยู่ที่ 23,576ล้านบาท มูลค่าทรัพย์สินหลักประกันรวมจำนวน 56,187ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :