7 ธีมการลงทุน คว้ากระแสโควิด-19

25 ม.ค. 2564 | 12:02 น.

บล.เกียรตินาคินภัทร แนะ 7 ธีมการลงทุน คว้ากระแสโควิด-19 เหตุเทรนด์ลงทุนระยยาวถูกเร่งตัวขึ้น

ในงาน The Year Ahead 2021 งานสัมมนาใหญ่ประจำปีของบริษัทหลักทรัพย์(บล.)เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ซึ่งจัดขึ้นเพื่อแสดงทิศทางของเศรษฐกิจและปัจจัยสำคัญที่กระทบการลงทุน สำหรับลูกค้า Wealth Management เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา

 

นายทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน (CIO Office)ให้มุมมองในช่วง Harvesting Return in the Post-COVID World เกี่ยวกับการจัดสรรพอร์ตการลงทุน เพื่อบรรเทาความเสี่ยงจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและเปิดโอกาสรับประโยชน์จากพัฒนาการในหลายอุตสาหกรรมที่ถูกเร่งให้เร็วขึ้นจากสถานการณ์ของโควิด-19 

ทวีศักดิ์ เผ่าพัลลภ

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ความสำเร็จในการลงทุนขึ้นกับการวางกลยุทธ์ระยะยาว โดยเฉพาะในช่วงเวลาของวิกฤติโควิด ทำให้เทรนด์ระยะยาวที่มีอยู่แล้วถูกเร่งตัวขึ้นอย่างมาก โดยใน 3-4 ปีที่ผ่านมา กลยุทธ์การปรับพอร์ตระยะยาวที่บล.เกียรตินาคินภัทร เน้นคือ ลดน้ำหนักลงทุนในประเทศและเพิ่มการลงทุนต่างประเทศให้เป็นสัดส่วนหลักของพอร์ต เนื่องจากโอกาสการลงทุนในต่างประเทศดีกว่า และหุ้นไทยยังมีปัจจัยลบเชิงโครงสร้างจากการเข้าสู่สังคมสูงวัยและข้อจำกัดของนโยบายการเงิน

 

ยิ่งกว่านั้น บริษัทจดทะเบียนของไทยเป็นจำนวนมากยังได้รับผลกระทบจาก technology disruption  ทำให้หุ้นต่างประเทศให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นไทยค่อนข้างมากในหลายปีที่ผ่านมา และน่าจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า

CIO Office ประเมินว่า มีมุมมองระยะยาว 4 มุมมอง ที่จะมีนัยสำคัญต่อการลงทุน 

 

มุมมองแรกคือ การเร่งตัวของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมต่างๆมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน, การซื้อสินค้าบริการ หรือความบันเทิงและนันทนาการ 

 

มุมมองที่สองคือ ความเสื่อมถอยของกระแสโลกาภิวัตน์ (De-globalization) ซึ่งดำเนินมาสักระยะหนึ่งแล้ว และทำให้ภาคธุรกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วดึงฐานการผลิตกลับประเทศ (reshoring) ซึ่งส่งผลให้มีการนำระบบอัตโนมัติ (automation) และหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ 

 

มุมมองที่สามคือ secular stagnation หรือภาวะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจ, เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยเทรนด์นี้จะส่งผลด้านลบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 

 

มุมมองที่สี่คือ ภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำประกอบกับการทำ QE ของธนาคารกลางประเทศหลักๆ ได้ทำให้ราคาสินทรัพย์การลงทุนเป็นจำนวนมากปรับขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ทำให้นักลงทุนต้องจับตามดูความเสี่ยงที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยจะกลับมาปรับขึ้นแรงจนทำให้ราคาสินทรัพย์การลงทุนร่วงลงอย่างแรงคล้ายกับภาวะฟองสบู่แตก

 

ทั้งนี้ CIO Office ยังไม่คิดว่า ความเสี่ยงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องจับตามอง โดยความเสี่ยงนี้อาจจะถูกเร่งให้เกิดเร็วขึ้นจาก 1) การที่ธนาคารกลางพิมพ์เงินมาซื้อพันธบัตรของรัฐบาลตัวเองในปริมาณมากเกินไป, 2) ความเสื่อมอย่างรุนแรงของดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 3) ความเหลื่อมล้ำขั้นรุนแรง”

 

อย่างไรก็ตาม การที่จะหาการลงทุนที่จะได้รับประโยชน์จากมุมมองระยะยาว CIO Office ของบล.เกียรตินาคินภัทร แนะนำการลงทุนแบบธีม (Thematic investments) โดยแยกส่วนออกมาจากพอร์ตการลงทุนหลัก และประกอบด้วย  7 ธีมคือ  1) New Consumers, 2) Technology Backbone, 3) Healthcare, 4) Quality stocks, 5) De-globalization and Race to Supremacy, 6) Alternative Store of Value และ 7) Environmental

 

ทั้งนี้นักลงทุนสามารถลงทุนในธีมเหล่านี้ผ่าน thematic ETF ซึ่งมีข้อดีคือค่าธรรมเนียมที่ต่ำและส่วนใหญ่มีวิธีการคัดเลือกหุ้นที่เป็น pure play ซึ่งจะมีธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธีมในสัดส่วนที่น้อย

 

“แม้วิกฤตโควิด อาจซ้ำเติมศักยภาพการเติบทางทางเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ในระยะสั้นเศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัวได้ดีหลังจากการฉีดวัคซีนในวงกว้าง และการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่จากรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งตลาดหุ้นทั่วโลกได้ปรับขึ้นมารับมุมมองดังกล่าวแล้วระดับหนึ่ง และบางตลาดราคาก็ค่อนข้างตึงตัวแล้ว”

 

ดังนั้นตลาดอาจจะย่อตัวในระยะสั้นๆ แต่ในกรอบ 6-12 เดือน ยังน่าจะเป็นขาขึ้นได้ ถ้าดูหุ้นรายกลุ่ม CIO Office แนะนำให้ปรับพอร์ตเอียงไปทางหุ้นกลุ่มที่เป็น cyclical และ value ที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ (เช่น financials, industrials, materials รวมทั้งหุ้น small cap)  และมองว่าหุ้น technology และ growth ที่ปรับขึ้นแรงในปีที่แล้ว น่าจะให้ผลตอบแทนที่แย่กว่าตลาด

 

อย่างไรก็ตามหุ้นในกลุ่ม growth และ technology เป็นจำนวนมากจะเป็นหุ้นที่เป็นส่วนหนึ่งของ thematic investment ที่ CIO Office แนะนำ ดังนั้นถ้าราคาปรับลดลงมาในระดับที่เหมาะสมก็แนะนำให้เข้าซื้อเพื่อเป็นการลงทุนระยะยาว