บทเรียน Factor Investing ในปี 2020

25 ม.ค. 2564 | 19:30 น.

คอลัมน์มันนี่ดีไอวาย โดย : ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

หากมองย้อนกลับไปปี 2020 ที่เพิ่งผ่านมาจะเห็นได้ว่า เป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยและตลาดโลกผันผวนเป็นอย่างมากอันเนื่องมาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่รุมเร้าตลอดทั้งปี ดังนั้นการจะวิเคราะห์สภาพความเป็นไปของตลาดเราอาจจะมองจากผลประกอบการของนักลงทุนแต่ละประเภท โดยใช้ผลตอบแทนการลงทุนของสิ่งที่เรียกว่า Factor Investing เป็นตัวแทนได้

 

ปัจจุบันกลยุทธ์การลงทุนมีหลายรูปแบบ นักลงทุนบางรายใช้สัญญาณจากการวิเคราะห์ราคาหรือปริมาณการซื้อขายของหลักทรัพย์(Technical Analysis) ในการเลือกซื้อหรือขายหลักทรัพย์นั้นๆ บางรายวิเคราะห์จากข้อมูลทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาศัยความรู้เชิงเศรษฐศาสตร์มหภาค หรืออีกกลยุทธ์หนึ่งที่นิยมกันมากคือ การวิเคราะห์ข้อมูลงบการเงินของบริษัท และถูกนักลงทุนที่ใช้ข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative investment) มาพัฒนาต่อเป็นการลงทุนแบบ Factor Investing

 

การลงทุนแบบ Factor Investing เป็นการนำข้อมูลงบการเงิน ข้อมูลด้านราคาของทุกๆ บริษัทที่อยู่ในขอบเขตการลงทุน เช่น บริษัทใน SET Index แล้วจำแนกออกเป็นหลากหลายสไตล์ เช่น กลุ่มหุ้นเน้นคุณค่า(Value) อาจวัดจากบริษัทที่มี Price to Book หรือ Price to Earning ตํ่า, กลุ่มหุ้นเน้นการเติบโต(Growth) อาจวัดจากอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ, กลุ่มหุ้นที่มีคุณภาพของสถานะทางการเงินที่ดี (Quality) อาจวัดจากกระแสเงินสดที่มากหรือ ROE สูง, กลุ่มหุ้นที่ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ผ่านมา (Momentum), กลุ่มหุ้นที่มีความเสี่ยงตํ่า (Low Volatility) ซึ่งวัดจากความผันผวนของหุ้น, กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Large Capitalization) และกลุ่มหุ้นขนาดเล็ก (Small Capitalization)

 

เมื่อศึกษาการลงทุนแบบ Factor Investing ต่อไปจะทำให้เราทราบได้ว่า แต่ละ Factor หรือแต่ละสไตล์สามารถสร้างผลตอบแทนที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ โดยพบว่า ช่วงเศรษฐกิจขยายตัว(Expansion) SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือน 2.66% ขณะที่ Value, Growth และ Momentum ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่า 3% ต่อเดือน มากกว่าสไตล์การลงทุนอื่นๆ ส่วนสภาวะชะลอตัว(Slowdown) SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อเดือน 0.91% ขณะที่ Quality, Growth และ Momentum ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.2-1.4% ต่อเดือน  

บทเรียน Factor Investing ในปี 2020

 

เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงหดตัว(Recession) ตลาดหุ้นมักให้ผลตอบแทนที่เป็นลบ SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -3.49% ต่อเดือน ซึ่ง Quality และ Low Volatility ให้ผลตอบแทนติดลบน้อยกว่าตลาด เฉลี่ยประมาณ -3.17% ต่อเดือน และสุดท้ายเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว (Recovery) SET index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเดือนละ 1.67% แต่ Value และ Small Cap สามารถสร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 4.65% และ 5.36% ต่อเดือน ตามลำดับ จากผลวิจัยนี้สรุปได้ว่า Factor หรือสไตล์ในการลงทุนต่างๆ นั้นจะสร้างผลตอบแทนที่ดีและไม่ดีแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจ ดังนั้นถ้าเราสามารถพยากรณ์หรือคาดเดาเศรษฐกิจในอนาคตได้ ก็จะสามารถเลือกสไตล์การลงทุนที่เหมาะสมได้และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่มากกว่าตลาดได้

 

ตลาดหุ้นไทยปี 2020 ต้องบอกว่า เป็นปีที่น่าเรียนรู้จากการลงทุน เพราะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เดือนม.ค.ถึงปลายก.พ.เป็นช่วงที่เริ่มเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ช่วงเวลานี้ เราจะเห็นว่า หุ้นกลุ่ม Quality, Low Volatility และ Large Cap สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าสไตล์การลงทุนอื่นๆ เมื่อเข้าสู่เดือนมี.ค. ซึ่งเศรษฐกิจน่าจะเข้าสู่ภาวะหดตัว จากสถานการณ์ COVID-19 ที่แย่ลง เราจะเห็นได้ว่า หุ้นกลุ่ม Value และ Momentum มีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีและสร้างผลตอบแทนติดลบมากกว่า SET Index โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม Value ซึ่งโดยปกติแล้ว จะเป็นหุ้นในกลุ่มที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับราคาพื้นฐาน แต่ในทางตรงกันข้าม Quality ยังคงทำผลงานได้ดีกว่าสไตล์อื่น ๆ ต่อมาเมื่อเข้าสู่เดือนพ.ย.ข่าวความสำเร็จในการผลิตวัคซีน หุ้นกลุ่ม Value จึงกลับมาทำผลงานได้เป็นอย่างดี และในทางตรงกันข้าม Quality สร้างผลตอบแทนที่ตํ่ากว่าสไตล์อื่นๆ 

 

ส่วนของปี 2021 เรามองว่าประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะทำให้สามารถเปลี่ยนจากสภาวะการฟื้นตัวเป็นสภาวะขยายตัวได้ โดยนักลงทุนสามารถยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้น ดังนั้นหุ้นสไตล์ Value, Growth, Momentum และ Small Cap จึงเป็นกลุ่มที่น่าสนใจและมีโอกาสที่อาจทำผลตอบแทนได้ดีในปีนี้ 

 

ที่มา : หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,647 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2564