พักหนี้ต่อ 6 เดือน ไม่สะเทือนหุ้นแบงก์

18 มกราคม 2564

โบรกมองขยายมาตรการช่วยลูกหนี้เยียวยาโควิด-19 รอบใหม่ กระทบกลุ่มธนาคารพาณิชย์น้อยกว่าปีก่อน ชี้ช่วยลดการเกิดเอ็นพีแอล และตั้งสำรองลดลง แต่ต้องจับตาความเสี่ยงจากสถานการณ์ที่ยังยืดเยื้อ

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะลูกหนี้ของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ โดยให้สถาบันการเงินขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือตามมาตรการที่ออกมาระยะที่ 2 ได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์กลับมาผันผวนอีกครั้ง หลังจากที่สามารถฟื้นตัวได้ โดยตั้งแต่ต้นปี-13 มกราคม 2564 ดัชนีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้น 6.53% สูงกว่าดัชนีหุ้นไทยที่ปรับขึ้น 5.84%

 

ทั้งนี้การขยายเวลาลงทะเบียนให้กับลูกหนี้ เป็นสิ่งที่ทำได้เร็วที่สุด ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ยังต้องใช้เวลาวิเคราะห์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ จะจบลงเมื่อไรและต้นทุนจะเป็นอย่างไร และต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)และปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดการกันสำรองและให้มีรายได้เข้ามาเสริมในช่วงที่มีการพักหนี้เงินต้นละดอกเบี้ย 6 เดือนจากนี้ 

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มพาณิชย์

 

นายธนวัฒน์ รื่นบันเทิง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทิสโก้ จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นั้น จะกระทบต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในส่วนของรายได้ดอกเบี้ย, การคำนวณ Effective interest rate (EIR) และส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่อาจจะลดลง คล้ายกับในช่วงปี 2563 ที่เคยใช้มาตรการดังกล่าว ซึ่งมีผลดีคือลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจะทำให้การเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ลดลง และไม่ตั้งเงินสำรองมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะเห็นผลกระทบชัดเจนในช่วงสิ้นไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งผลกระทบต่อธนาคารจะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับเม็ดเงินสินเชื่อที่ปล่อยและการใช้มาตรการลดดอกเบี้ยของแต่ละแห่ง ทั้งนี้ มาตรการอาจจะไม่มากเท่ากับปีที่ผ่านมา ที่มีทั้งลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต ที่อยู่อาศัย รถยนต์ และ Loan payment holiday โดยมองว่า จะไม่ส่งผลต่อกำไรสุทธิมากนัก แต่อาจจะต้องติดตามการตั้งเงินสำรองที่เพิ่มขึ้น จากภาพเอ็นพีแอลที่ยังมีความเสี่ยง เพราะสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะยืดเยื้อหรือไม่

“ความกลัวในรอบนี้มีน้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งในรอบที่แล้วยังมีการนำเงินออมออกมาใช้ และยังไหวอยู่ แต่รอบนี้หากไม่มีเงินออม และไม่ไหว จะทำให้เอ็นพีแอล มีความเสี่ยง รวมถึงอาจจะต้องตั้งสำรองมากขึ้น ส่วนแนวโน้มกำไรสุทธิกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 2564 คาดจะฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ผ่านมาราคาหุ้นได้ปรับเพิ่มขึ้นจากกระแสเงินทุนต่างชาติที่ยังไหลเข้าต่อเนื่อง แต่ความน่าสนใจในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีไม่มาก อยู่ที่ระดับ Neutral” นายธนวัฒน์กล่าว 

 

ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน จำกัด ระบุว่า การขยายระยะเวลาให้ลูกหนี้สมัครรับความช่วยเหลือและให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกนั้น มีมุมมองเป็นลบเล็กน้อยต่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพราะกังวลต่อรายได้ดอกเบี้ยที่อาจลดลงจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ส่วนในเชิงปัจจัยพื้นฐานมีมุมมอง Neutral ต่อมาตรการข้างต้น เนื่องจากมีรายละเอียดเหมือนกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 2 ที่ ธปท.เคยออกประกาศไปแล้วก่อนหน้า เพียงแต่มีการยืดระยะเวลาออกไปเป็น 30 โดยการช่วยเหลือยังคงรูปแบบของการปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของลูกหนี้แต่ละราย

 

นอกจากนั้น การปรับโครงสร้างหนี้ ธนาคารยังสามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามมาตรฐาน TFRS9 ด้วยการคำนวณตาม EIR แต่ EIR อาจลดลง โดยประเมิน NIM ที่ลดลงทุก -0.1% จะกระทบต่อกำไรของกลุ่มธนาคารประมาณ -6% ทั้งนี้ คาดว่าจะถูกชดเชยจากภาระสำรองที่ลดลง เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ลูกหนี้ยังชำระคืนหนี้ได้และไม่ตกเป็นเอ็นพีแอล ซึ่งยังคงคำแนะนำ Bullish ต่อกลุ่มธนาคาร

 

บล.เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า ประเมินมูลหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการในครั้งนี้น่าจะตํ่ากว่าครั้งก่อนเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจในรอบนี้ มีแนวโน้มไม่รุนแรงเท่ารอบก่อน เพราะไม่มีการ Lock Down ทั้งประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินได้อยู่ ถึงแม้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะส่งผลลบต่อ NIM แต่มองไม่ได้มีนัยฯ รวมถึงยังชดเชยได้กับการที่ธนาคารพาณิชย์มีระยะเวลาในการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ ผ่านการตั้งสำรองล่วงหน้าสำหรับลูกหนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง 

 

ที่มา : หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรุป มาตรการแก้หนี้รายย่อย เยียวยาโควิดรอบ 2 ล่าสุด

เปิดรายละเอียด 5 มาตรการ "ธนาคารออมสิน" เยียวยาโควิดรอบ2

ธปท. ออกมาตรการด่วนแก้หนี้ "เยียวยาโควิดรอบ 2"

สรุป"เยียวยารอบ 2" คลังจัดหนัก "พักชำระหนี้-เสริมสภาพคล่อง

"ออมสิน" เปิดให้ลูกค้าสินเชื่อกว่า 1.9 ล้านราย ลงทะเบียนพักชำระหนี้ เยียวยาโควิด