ขยายเวลาลงทะเบียนแก้หนี้ ต่อลมหายใจ รายย่อย 11 ล้านบัญชี

17 ม.ค. 2564 | 19:00 น.

ธปท.ต่อลมหายใจ ลูกหนี้รายย่อย 11 ล้านบัญชี 5.6 ล้านล้านบาท หลังขยายเวลาลงทะเบียนรับความช่วยเหลือต่ออีก 6 เดือน แจงมีบางแบงก์ออกมาตรการช่วยเหลือก่อนหน้าแล้ว หลังเห็นสัญญาณชำระหนี้แผ่วลง ตามการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้ออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ โดยขยายเวลาการลงทะเบียนรับความช่วยเหลือตามมาตรการระยะที่ 2 ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 หลังจากที่ครบกำหนดเมื่อ 31 ธันวาคม 2563 ซึ่งมีทั้งการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย การลดเพดานดอกเบี้ยงลง 2% การยืดเวลาการผ่อนชำระ เพื่อให้เงินงวดลดลง รวมถึงการพักชำระหนี้อัติโนมัติ สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งมีลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือ ณ เดือนกรกฎาคม 2563 ทั้งสิ้น 7.2 ล้านล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนดมาตรการดังกล่าว( 22 ตุลาคม 2563) มีลูกหนี้ที่อยู่ในมาตรการคงเหลือ 6 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์ 55% และสถาบันการเงินเฉพาะกิจอีก 45%  โดยลูกหนี้ที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความช่วยเหลือแบ่งเป็นลูกหนี้ธุรกิจ 63% และรายย่อย 37% ซึ่งลูกหนี้ธุรกิจสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข 66% , ปรับโครงสร้างหนี้ 32% ที่เหลือเป็นกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ 2% ส่วนลูกหนี้รายย่อยสามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไข 70% ,ปรับโครงสร้างหนี้ 29% และกลุ่มเปราะบางที่ยังติดต่อไม่ได้เพียง 1% 

 

ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2563 ตัวเลขลูกหนี้ที่ขอรับความช่วยเหลือคงเหลือรวม 5.6 ล้านล้านบาทจาก 11 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย 3.22 ล้านล้านบาทจาก 10 ล้านบัญชีและเมื่อมีการขยายเวลาลงทะเบียนรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมได้อีก 6 เดือนจึงเชื่อลูกหนี้เหล่านี้จะยื่นขอรับความช่วยเหลือต่อ และอาจมีลูกหนี้บางส่วนในพื้นที่มีการระบาดเพิ่มเติมและเป็นพื้นที่สีแดง 28 จังหวัดที่จะมาเข้าร่วมโครงการครั้งนี้  

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย

 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า จำนวนลูกหนี้ที่จะเข้ารับความช่วยเหลือรอบใหม่ อาจจะกลับมาเพิ่มขึ้นตามผลการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะไตรมาส 1 และ 2 ของปีนี้ อาจทำให้สัดส่วนลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารพาณิชย์ ขยับเพิ่มขึ้นจาก 23.5% ของสินเชื่อรายย่อยรวมในเดือนพฤศจิกายนที่มีลูกหนี้ประมาณ 4 ล้านบัญชี วงเงินหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 1.15 ล้านล้านบาท

 

ด้านนางวิเรขา สันตะพันธุ์ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท.เปิดเผยว่า สถาบันการเงินบางแห่งได้ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มาก่อนที่ธปท.จะต่อมาตรการออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือมากกว่ามาตรการขั้นต่ำที่ธปท.กำหนด โดยมีบางแห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งธปท.ประสานงานให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้โดยเร็วแล้ว

 

นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูเมอร์ ผู้ให้บริการบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า บริษัทมีแผนที่จะให้ความช่วยเหลือช่วยเหลือลูกหนี้อยู่แล้ว โดยได้แจ้งให้ลูกหนี้มาลงทะเบียนเพื่อขอรับความช่วยเหลือผ่านแอพพลิเคชั่น UCHOOSE ได้ตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมจนถึง 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งสัปดาห์แรกลงทะเบียนเข้ามาแล้ว 200-300 รายต่อวันซึ่งนโยบายที่เปิดให้ลงทะเบียน เพื่อประเมินว่า อะไรเป็นเหตุผลแท้จริงที่ลูกหนี้ได้รับผลกระทบ ป้องกันการเกิด Moral Hazard และขอให้โอกาสรายที่ไม่ไหวจริงๆเข้ามาใช้สิทธิ เพราะต้องการให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้อง ถูกคน

 

“ลูกหนี้ที่ลงทะเบียนเข้ามาแล้ว เราจะประเมินความเหมาะสม ซึ่งแผนให้ความช่วยเหลือรอบนี้เป็นเรื่องรีไฟแนนซ์, ยืดชำระหนี้เป็นระยะยาว และลดดอกเบี้ย แต่ไม่มี SKIP Payment หรือพักหนี้ 2 เดือนเหมือนรอบแรก ดังนั้นการต่อมาตรการ จึงไม่เหมือนกันซะทีเดียว เพราะรอบนี้ไม่ได้ล็อกดาวน์ มีผู้เดือดร้อนบางพื้นที่บางคลัสเตอร์”

 

ดังนั้นโจทย์วันนี้มี 2 กลุ่มคือ รายที่เคยผ่อนชำระดี บัญชีปกติ แต่เพิ่งจะมีปัญหา ก็ขอรับความช่วยเหลือ กับรายที่เจอปัญหาอยู่แล้ว แต่เข้ามาไม่ทันรอบ 31 ธันวาคม 2563 สามารถขยายเวลามาลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ เพราะมาตรการต้องปรับให้สอดคล้องกับ 2 กรณีคือ ลดดอกเบี้ยพิเศษ กับขยายเวลาผ่อนชำระนาน 99 เดือน(8ปีเศษ) ซึ่งให้สิทธิเลือกผ่อนได้ แต่จริงๆ ถ้ามูลหนี้น้อยควรจะรีบผ่อนให้จบระยะสั้น แต่หากมูลหนี้หลายแสนบาท ก็ใช้สิทธิผ่อนระยะยาว ตามที่จำเป็น

 

ด้านแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ระบุว่า โควิด-19 รอบนี้ทำให้รายได้ลูกหนี้ส่วนใหญ่หายไป จึงเป็นจังหวะที่ต้องช่วยลูกหนี้ให้ได้มากที่สุด เพราะลูกค้าสินเชื่อบ้านที่เคยผ่อนชำระเต็มงวด มีแนวโน้มผ่อนลดลง และจากก่อนหน้าที่เคยนำเงินปิดบัญชีแต่ตอนนี้ทุกคนต้อง การถือเงินสดเพราะไม่แน่ใจสถาน การณ์ว่าจะจบใน 3 เดือนหรือไม่ หากลากยาวก็น่าห่วง  

 

ที่มา: หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรุป มาตรการแก้หนี้รายย่อย เยียวยาโควิดรอบ 2 ล่าสุด

ธปท. ออกมาตรการด่วนแก้หนี้ "เยียวยาโควิดรอบ 2"

สรุป"เยียวยารอบ 2" คลังจัดหนัก "พักชำระหนี้-เสริมสภาพคล่อง

รัฐผุด “เราชนะ”ลงทะเบียน 3,500 บาท 2 เดือน เยียวยารอบ 2

เช็กที่นี่ มาตรการเยียวยารอบ 2 เข้าครม. แบบอัพเดทล่าสุด