ออกจากงานอย่างเป็นสุข (ตอนที่ 2)

14 ม.ค. 2564 | 22:09 น.

โดย : ลาวัณย์ วาริชนันท์ นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย


จากตอนที่ 1 เรามาต่อกันที่การเตรียมแผนการเงินแบบง่ายๆ เมื่อต้องการออกจากงานกันดีกว่า เมื่อคุณจะออกจากงานคุณควรทำดังนี้

 

1. เขียนเป้าหมายของการทำงานหาเงินในทุกวันนี้ออกมาก่อน

 

การเขียนเป้าหมายออกมาจะทำให้คุณรู้ว่า คุณมีเรื่องสำคัญในชีวิตที่คุณต้องรับผิดชอบเรื่องอะไรบ้าง หลายคนต้องรับผิดชอบพ่อแม่ที่อยู่ในวัยชรา บางคนมีบุตรที่ต้องให้การเลี้ยงดูและรับการศึกษา แล้วยังมีบ้าน มีรถ ที่ต้องผ่อนทุกเดือน หรือบางคนก็อยู่ในวัยใกล้เกษียณก็ต้องเตรียมเงินเกษียณของตัวเอง เขียนออกมาให้หมด ก็จะเริ่มรู้ว่าชีวิตจะต้องจัดสรรแบบไหน

 

2. ระบุทรัพย์สิน หนี้สิน ออกมาเป็นตัวเลข

 

จริงๆ แล้วในทางการเงิน เราเรียกว่าการทำงบดุลนั่นเอง คุณอาจจะหาโหลดแบบฟอร์มงบดุลทางออนไลน์แบบง่ายๆ แล้วใส่รายการทรัพย์สิน หนี้สินของคุณดู คุณก็จะรู้ว่า ทรัพย์สินกับหนี้สิน อะไรมากกว่ากัน และมากกว่านั้น คุณจะยังรู้ด้วยว่า ความมั่งคั่งสุทธิของคุณอยู่ที่เท่าไหร่ คุณมีทรัพย์สินประเภทไหนบ้าง เปลี่ยนเป็นเงินได้เร็วมั้ย หรือว่าต้องรอเวลา เรื่องนี้ก็สำคัญมากเลยนะคะเวลาที่ต้องใช้เงินอย่างฉุกเฉิน

 

3. ระบุค่าใช้จ่ายรายเดือน

 

หลายคนไม่เคยจดรายรับ รายจ่าย ประจำเดือนที่แท้จริง การเริ่มจดอาจทำได้โดยง่ายจากการใช้ application บนมือถือ หรือหากจวนตัวต้องออกจากงานแล้ว ก็นั่งลิสต์ออกมาเลยค่ะ ว่าแต่ละเดือนต้องจ่ายค่าอะไรบ้าง จะได้รู้ว่าต้องมีเงินสำรองฉุกเฉินเท่าไหร่ ยังจำได้มั้ยคะ...เงินสำรองฉุกเฉินต้องมีอย่างน้อย 3-6 เดือน อย่าลืมว่ายุคนี้ เงินสดสำคัญยิ่งกว่าโฉนดที่ดินซะอีก!!!

 


4. รู้สิทธิ์ของตัวเองเมื่อลาออก หรือ ถูกจ้างออก

 

สิทธิ์สำคัญที่คุณควรต้องรู้คือ สิทธิ์ประกันสังคม เพื่อที่เราจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นผู้ว่างงานกับสำนักงานประกันสังคม และรับเงินชดเชยรายเดือน รวมถึงสิทธิ์ต่างๆ ทั้งกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิต ได้อีกด้วย หรือจะออกจากประกันสังคมไปเลย หรือจะขึ้นทะเบียนเป็นมาตรา 39 ก็ว่ากันไป ทั้งนี้คุณผู้อ่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ประกันสังคม มากไปกว่านั้น คุณจะได้รู้ด้วยว่า คุณต้องเตรียมประกันชีวิตเพื่อโอนความเสี่ยงและสุขภาพเพิ่มหรือเปล่า ระหว่างรองานใหม่

 

อีกสิทธิ์ที่สำคัญ หากถูกเลิกจ้างกระทันหันคือเรื่องเงินชดเชย ซึ่งตามกฏหมายแล้วจะได้เงินชดเชย 2 อย่างจากนายจ้าง ได้แก่ ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1.    ค่าชดเชยถูกเลิกจ้าง: จะได้รับเมื่อถูกให้ออกจากงานโดยไม่สมัครใจและไม่มีความผิดใดๆ เงินที่ได้จะขึ้นอยู่กับอายุงาน ดังตารางด้านล่าง


 

ออกจากงานอย่างเป็นสุข (ตอนที่ 2)

 

2.    ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า: เรียกง่ายๆ ว่าค่าตกใจ โดยทั่วไปนายจ้างต้องจ่ายค่าบอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดของการจ่ายค่าจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ 1 เดือน แต่หากเลิกจ้างเพราะปรับปรุงหน่วยงานก็จะจ่ายให้ 2 เดือน
 

 

5. วางแผนจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เมื่อคุณลาออก เท่ากับว่าคุณได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งการนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาใช้ก่อนอายุ 55 นั้น เป็นการผิดเงื่อนไขทางภาษี ทำให้เมื่อคุณได้เงินนั้นมา คุณต้องนำมายื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากคุณไม่ต้องการเสียภาษี คุณสามารถเลือกโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปอยู่ในกองทุน RMF เพื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ แล้วค่อยนำเงินนั้นมาใช้ในวัยเกษียณจริงๆ

 

เมื่อรู้จักตัวเอง จัดการ 5 เรื่องนี้ได้ การออกจากงาน คงไม่ลำบากอย่างที่หลายคนประสบแล้วค่ะ
 

 

ออกจากงานอย่างเป็นสุข (ตอนที่ 1 )