พอร์ตหุ้นเพื่อชีวิต

30 พ.ย. 2563 | 05:30 น.

โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ชั้นแนวหน้า

 

ถึงวันนี้ที่ดูเหมือนว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในขณะที่ประเทศไทยกำลัง  “ถดถอย” ในหลาย ๆ  ด้านรวมถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอานิสงค์จากการที่สังคมไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและการพัฒนาทางด้านศักยภาพของคนก็ยังไม่ก้าวหน้าขึ้นเห็นได้จากความสามารถในวิชาความรู้ต่าง ๆ  เช่น  การใช้ภาษาอังกฤษหรือความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ตกต่ำลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ นี่ทำให้ผมคิดถึงการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้ไปอีกเป็นสิบ ๆ ปีข้างหน้าว่าเราอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยทำมาในอดีต  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  เราอาจจะไม่สามารถลงทุนเฉพาะแต่ในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวได้  การแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ถ้าหวังที่จะได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม

 

คนที่ต้องการลงทุน  “เพื่อชีวิต” ซึ่งหมายความว่าเขาจะต้องลงทุนตลอดเวลาในช่วงที่เขาทำงานหาเงินและเก็บออมเพื่อที่จะสร้างพอร์ตการลงทุนที่จะเติบโตไปเรื่อย ๆ  จนถึงวันเกษียณและมีเงินเพียงพอที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างสุขสบายจนตายนั้น  จะต้องคิดถึงผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่าการลงทุนอื่น ๆ ในระยะยาวและต้องได้ผลตอบแทนเฉลี่ยอย่างน้อยน่าจะซัก 7% ต่อปีแบบทบต้นขึ้นไป  ซึ่งก็แน่นอนว่าพอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่ก็จะต้องเป็นการลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่เท่านั้น  เพราะ “ประวัติศาสตร์ระยะยาว” บอกว่า  ในตลาดหุ้นของประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมากนั้น  จะให้ผลตอบแทนแบบทบต้นสูงกว่า 7% ต่อปีได้  บางประเทศที่โดดเด่นจริง ๆ  ซึ่งรวมถึงประเทศไทยในอดีตนั้น  ให้ผลตอบแทนถึงเกือบ 10% ต่อปีเป็นเวลาหลายสิบปีด้วยซ้ำ

 

บทความย้อนหลัง

หุ้น Value กำลังจะกลับมา

บทเรียนของการเล่นหุ้นตามสถานการณ์

Survivor

ลงทุนในหุ้นตัวใหญ่

 

หน้าที่ของคนหนุ่มสาวที่อาจจะเพิ่งเริ่มลงทุนมาไม่นานก็คือการวิเคราะห์และเลือกหาตลาดหุ้นและหุ้นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีในอีกอย่างน้อย 10 หรือหลายสิบปีข้างหน้า  ลงทุนถือหุ้นระยะยาวไปเรื่อย ๆ  ซึ่งนี่ก็ไม่ใช่วิธีการที่ผมและนักลงทุน VI จำนวนมากเคยใช้ในตลาดหุ้นไทยเมื่อประมาณ 20 ปีก่อนและประสบความสำเร็จอย่างสูงจนมีอิสรภาพทางการเงินหรือรวยตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 50-60 ปีในวันนี้  นักลงทุนรุ่นใหม่จะต้องตระหนักว่า  ถ้าประเทศไทยโตช้าหรืออิ่มตัวแล้วเนื่องจากคนแก่ตัวลงและไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพได้  ตลาดหุ้นก็จะไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีได้เช่นกัน  ตัวอย่างที่เห็นชัดก็คือที่ญี่ปุ่นที่ตลาดหุ้นไม่ได้ให้ผลตอบแทนในระยะยาวเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว            

 

ในความคิดของผม  ตลาดหุ้น  “แห่งอนาคต” ที่ผมคิดว่าน่าสนใจและเหมาะสมที่จะลงทุนระยะยาวในอีกอย่างน้อยซัก 10 ปีข้างหน้านั้น  มีอย่างน้อย 3-4 แห่ง ที่เราควรเลือกกระจายการลงทุนเป็นพอร์ตโฟลิโอเพื่อป้องกันความเสี่ยงและให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว  โดยที่ผมคิดว่าอาจจะแบ่งเงินเท่า ๆ  กันหรือใกล้เคียงกันในแต่ละตลาดขึ้นอยู่กับระดับความต้องการผลตอบแทนและความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคน  ตลาด 4 แห่งที่ผมเสนอก็คือ  ตลาดหุ้นสหรัฐ  จีน  เวียตนาม  และตลาดหลักทรัพย์ไทย  โดยเหตุผลมีดังต่อไปนี้

 

หนึ่ง  ตลาดหุ้นสหรัฐ  นี่คือประเทศที่ผมคิดว่ายังจะสามารถรักษาความเป็น “Super Power” หรือมหาอำนาจชั้นนำได้ต่อไปอีกหลายสิบปี  เหตุผลคงเป็นเพราะด้วยระบบสังคมและการปกครองที่เปิดกว้างมากที่ส่งเสริมให้คนสามารถปลดปล่อยศักยภาพได้เต็มที่ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจก้าวหน้าและมีความคิดสร้างสรรค์สูง  เห็นได้จากการมีนักประดิษฐ์และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจดิจิตอลและไฮเท็คจำนวนมากที่มีอายุน้อย  นอกจากนั้น  ถ้ามองในแง่ของจำนวนคนซึ่งจะเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคก็ไม่มีปัญหา  เพราะสินค้ารุ่นใหม่ที่ผลิตในอเมริกานั้นส่วนใหญ่ก็ขายไปทั่วโลก  ในด้านของคนที่ผลิตเองนั้นก็ไม่ได้มีปัญหา  เพราะคนอเมริกันก็มีจำนวนมากและไม่ได้แก่ตัวลงเหมือนประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่เนื่องจากการที่มีผู้อพยพที่มีศักยภาพสูงเข้าประเทศตลอดเวลา  ว่าที่จริง  คนที่เป็น Elite หรือผู้นำนั้น  จำนวนมากก็มาจากกลุ่มผู้อพยพหรือลูกหลานที่เพิ่งเข้าไปอยู่ในอเมริกาไม่นานนัก  ข้อดีของตลาดหุ้นอเมริกาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ  เป็นตลาดที่มีความโปร่งใสและมีข้อมูลที่เราจะหาได้หรือสัมผัสได้เท่า ๆ  กับคนอื่น

 

สอง  ตลาดหุ้นจีน  นี่คือประเทศที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็น Super Power รายใหม่ที่สามารถแข่งกับสหรัฐได้โดยเฉพาะทางด้านของเทคโนโลยีเนื่องจากจำนวนคนหรือผู้บริโภคมหาศาลและกำลังการผลิตของคนที่มีความสามารถสูง  ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้เศรษฐกิจของจีนจะยังสามารถเติบโตขึ้นค่อนข้างเร็วต่อไปอีกนับสิบปีทั้ง ๆ  ที่คนกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  พูดง่าย ๆ  ก็คือ  จีนยังสามารถเพิ่มผลิตภาพของตนเองได้อานิสงค์จากการใช้เทคโนโลยีที่เข้มข้น  เศรษฐกิจของจีนนั้นค่อนข้างแน่นอนว่าในอนาคตจะใหญ่กว่าอเมริกา  และถ้ามองรายได้ต่อหัวซึ่งจะเป็นตัวที่วัดว่าเป็นประเทศร่ำรวยแล้วหรือยังนั้น  ผมก็คิดว่าคนจีนคงจะบรรลุถึงจุดนั้นได้ภายในเวลาไม่เกิน 10-20 ปี หรือพูดง่าย ๆ  ว่าจีนคงจะ “รวยก่อนแก่” ดังนั้น  ตลาดหุ้นของจีนน่าจะสามารถสร้างตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปีได้ค่อนข้างดีต่อไปอีกเป็น 10 ปีขึ้นไป

 

สาม คือตลาดหุ้นเวียตนามซึ่งผมได้ติดตามและพูดถึงโดยตลอดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่าน  เรื่องราวการพัฒนาทางเศรษฐกิจของเวียตนามนั้นชัดเจนมากว่าจะต้องเติบโตอย่างรวดเร็วต่อไปอีกเป็นสิบ ๆ ปี  โดยช่วงนี้ก็จะเป็นการเติบโตทางด้านการผลิตทางอุตสาหกรรมที่มาจากการลงทุนของประเทศพัฒนาแล้วทั่วโลก  ความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตของเวียตนามนั้น  น่าจะสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่งในช่วงนี้และต่อไปอีกนานเนื่องจากมีกำลังแรงงานจำนวนมากที่มีคุณภาพดีเห็นได้จากความสามารถในด้านวิทยาศาสตร์ของเด็กนักเรียนเวียตนามที่ติดอันดับโลกและสูงพอ  ๆ กับประเทศพัฒนาแล้ว  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  เวียตนามมีสนธิสัญญาการค้าเสรีกับอเมริกาและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดในการส่งออกสินค้าจากเวียตนาม  ผมเองเชื่อว่าเวียตนามกำลังเดินหน้าสู่การเป็น “A new economic miracle” หรือ “เศรษฐกิจมหัศจรรย์ใหม่” ในทศวรรษหน้า  ดังนั้น  การลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีคล้าย ๆ  กับที่เกิดกับตลาดหุ้นไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

สี่ และสุดท้ายก็คือ  ตลาดหุ้นไทย  เหตุผลที่ผมคิดว่าเรายังจำเป็นหรือควรที่จะมีพอร์ตส่วนหนึ่งในตลาดหุ้นไทยก็เพราะว่ามันคือประเทศที่เราอาศัยอยู่  เรายังต้องใช้เงินบาทในการดำรงชีพประจำวัน  และที่สำคัญก็คือ  เรารู้จักตลาดหุ้นไทยมากที่สุด  จริงอยู่  มองในแง่ของ “อนาคต” ของประเทศไทยแล้ว  ดูเหมือนว่ามันจะไม่สดใสเท่าไรนักอย่างที่กล่าวไว้โดยเฉพาะเรื่องของคนที่แก่ตัวลงซึ่งเป็นเรื่องทางโครงสร้างที่เปลี่ยนได้ยาก  แต่โอกาสที่ผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นโดยเฉพาะในช่วงประมาณ 4-5 ปีข้างหน้าก็น่าจะยังพอหวังได้อานิสงค์จากการที่ดัชนีหุ้นไทยถดถอยและนิ่งมานานหลายปี  ประกอบกับการที่เม็ดเงินบาทของคนไทยที่ถูกเก็บสะสมมานานทยอยเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น  สองสิ่งนี้ประกอบกับการที่เศรษฐกิจของไทยน่าจะกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19  ผมจึงเชื่อว่า  ดัชนีตลาดหุ้นน่าจะมีการปรับตัวขึ้นตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกด้วย  อย่างไรก็ตาม  หลังจาก 4-5 ปีหรือดัชนีปรับตัวขึ้นไปจนถึงประมาณ 1,800 จุดซึ่งเป็นจุดที่เคยสูงสุดไปแล้ว  เราก็คงต้องพิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่งสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

 

คำแนะนำของผมในทางปฏิบัติสำหรับคนที่เลือกเส้นทางการลงทุนแบบนี้ก็คือ  เราควรที่จะเลือกลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีตลาดหรือ ETF ของตลาดเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการเลือกหุ้นเป็นรายตัว  จัดสัดส่วนการลงทุนในแต่ละประเทศให้เหมาะสมหรืออาจจะเลือกลงทุนเท่า ๆ  กันก็น่าจะได้  เพิ่มเงินเข้าไปในพอร์ตทุกครั้งที่มีเงินออมเหลือจากการทำงาน  และสุดท้ายก็คือ  ปรับพอร์ตทุกปีเพื่อไม่ให้พอร์ตบางประเทศใหญ่เกินจากสัดส่วนที่กำหนดไว้  ถือพอร์ตทั้ง 4 แห่งไปเรื่อย ๆ  ถ้าไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญในตลาดใดตลาดหนึ่ง  ทำได้แบบนี้ผมเชื่อว่าในระยะเวลาอีก 10 ปีข้างหน้าเราน่าจะได้รับผลตอบแทนอย่างน้อย 7% แบบทบต้น  ถ้าโชคดีอาจจะได้ถึง 10% และถ้าเรามีเม็ดเงินลงทุนมากพอ  เช่น  เก็บเงินออมได้ถึง 10-15% ของรายได้เพื่อนำไปลงทุน  อนาคตทางการเงินของเราจะต้องสดใสแน่นอน

 

 

Posted by nivate at 10:58 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor