หุ้น“ค้าปลีก-ยานยนต์” คึกรับมาตรการรัฐ

01 ธ.ค. 2563 | 11:25 น.

หุ้นกลุ่มค้าปลีก-ยานยนต์ ตอบรับคึกคัก ลุ้นมาตรการกระตุ้นบริโภครัฐทยอยออกมาต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า โบรกเชื่อดันกำลังซื้อไปต่อ หนุน SSSG ฟื้นจากไตรมาส 2 ติดลบกว่า 18.2%

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 หลังสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ปี 2563 ขยายตัว 6.5% จากไตรมาสก่อน แต่ยังติดลบ 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงปรับประมาณการจีดีพีในปี 2563 อยู่ที่ติดลบ 6% ดีขึ้นจากเดิมที่คาดว่า จะติดลบถึง 7.5% สะท้อนถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจในประเทศ 

 

ขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพื่อชดเชยกับรายได้จากต่างประเทศที่หายไปจากการปิดประเทศ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการ เราเที่ยวด้วยกัน เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศและการประกาศเพิ่มวันหยุดติดต่อกัน พร้อมกับขยายมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ไปจนถึงเดือนมกราคม 2564, การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาทต่อคน ระยะเวลา 3 เดือน, โครงการ “คนละครึ่ง” คนละ 3,000 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี มียอดการซื้อขายเฉลี่ยถึง 720 ล้านบาทต่อวัน และโครงการ “ช้อปดีมืคืน” ที่สามารถขอคืนภาษีของปี 2563 ที่ทำให้ยอดการซื้อขายในห้างสรรพสินค้าพุ่งสูงขึ้น จาก่อนหน้าที่ค่อนข้างเงียบเหงา

 

นายภราดร เตียรณปราโมทย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเชีย พลัส จำกัดเปิดเผยว่า ตลาดยังให้นํ้าหนักมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาลที่จะออกมาในช่วงต้นปี 2564 โดยที่จะเสนอให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.)พิจารณาในวันที่ 2 ธันวาคม 2563 คือ มาตรการนำรถเก่าแลกรถใหม่จำนวน 100,000 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่า จะเป็นการให้ส่วนลดในรูปแบบใด 

หุ้น“ค้าปลีก-ยานยนต์” คึกรับมาตรการรัฐ

ทั้งนี้คาดว่า จะเป็นการลดหย่อนทางภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีนิติบุคคล ทำให้เป็นบวกต่อหุ้นกลุ่มยานยนต์ เช่น บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) (AH), บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SAT) และบริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (STANLY)

 

ขณะที่มาตรการ คนละครึ่ง เฟส 2 ที่มีความชัดเจนขึ้น หลังจากกระทรวงการคลังยืนยันว่า มาตรการนี้จะเริ่มลงทะเบียนวันที่ 1 มกราคม 2564 โดยรอศบศ.พิจารณาว่าจะขยายระยะเวลามาตรการไปจนถึงตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 หรือไม่ จากปัจจุบันโครงการเฟส 1 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 รวมถึงอาจมีการเพิ่มวงเงินอีก และอาจพิจารณาให้สิทธิโดยอัตโนมัติกับผู้ที่เคยลงทะเบียนในเฟส 1 มาแล้ว ซึ่งจะช่วยให้จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้นอีก

 

ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่วางจำหน่ายในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ เช่น บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP), บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) (TKN), บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) (SAPPE) และบริษัท นํ้ามันพืชไทย จำกัด (มหาชน) (TVO)

 

นอกจากนี้ มาตรการที่กำลังเข้าสู่ช่วงการใช้สิทธิโค้งสุดท้าย คือ “ช้อปดีมีคืน” ที่สามารถนำค่าซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นั้น คาดว่า ประชาชนจะทยอยเร่งซื้อสินค้าเพื่อใช้สิทธิในช่วงที่เหลือของปี 2563 ประกอบกับยังมีปัจจัยหนุนจากการเปิดขาย IPhone 12 ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ เข้ามาช่วยหนุนอีกแรงด้วย 

 

หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยที่สูงขึ้นคือ หุ้นค้าปลีก เช่น บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (M), บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (CRC), บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) (COM7), บริษัท เอส พี วี ไอ จำกัด (มหาชน) (SPVI) และบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC)

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ระบุว่า แนวโน้มหุ้นกลุ่มค้าปลีกในไตรมาส 4 ปี 2563 หลังรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มขึ้น คาดว่า จะหนุนกำลังซื้อไปต่อ โดยการเติบโตของรายได้ต่อสาขา (SSSG) ในไตรมาส 3 ปี 2563 จาก 7 บริษัท คือ HMPRO, CPALL, BJC, MAKRO, DOHOME, MC และ CRC เฉลี่ยอยู่ที่ -6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ฟื้นตัวจากไตรมาส 2 ปี 2563 ที่ SSSG เฉลี่ยติดลบสูงถึง 18.2% 

ทั้งนี้ บริษัทที่มีผลกระทบยังเป็นลบในระดับที่มากกว่า 10% ยังคงเป็นกลุ่มที่มีธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อเฉลี่ย คือ BJC, CPALL และ CRC เนื่องจากมีรายได้ส่วนที่หายไปจากกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 

 

ขณะเดียวกัน คาดว่า SSSG ในไตรมาส 4 จะมีโอกาสฟื้นตัวขึ้น นอกเหนือจากการเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวและเฉลิมฉลอง โดยกำลังซื้อมีส่วนเพิ่มจากนโยบายภาครัฐที่มีมาตรการต่างๆ ให้การสนับสนุน เช่น การท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มวันหยุดติดต่อกันพร้อมขยายมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน”ไปจนถึงเดือนมกราคม 2564, เพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 500 บาทต่อคน ระยะเวลา 3 เดือน, โครงการ “คนละครึ่ง” คนละ 3,000 บาท และโครงการ “ช้อปดีมืคืน” ที่สามารถขอคืนภาษีของปี 2563 เป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อในช่วงท้ายปี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"คนละครึ่ง คลัง เปิดช่องทาง [email protected] แจ้งเบาะแสร้านค้าขึ้นราคา

‘รถเก่าแลกรถใหม่’ รอคลังเคาะมาตรการภาษี คาดชัดเจนสัปดาห์หน้า

คลัง ยันมาตรการที่ออกมาดูแลประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่ม

“คนละครึ่ง” ปังไม่หยุด คลัง เผยมียอดใช้จ่ายสะสม 2.8 หมื่นล้าน

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,631 วันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม พ.ศ. 2563