"คนละครึ่ง" กระตุ้นเศรษฐกิจโค้งท้ายฟื้น

27 พ.ย. 2563 | 06:12 น.

อานิสงส์โครงการ"คนละครึ่ง " ดันเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคม ดีกว่าเดือนก่อน  เชื่อไตรมาส 4 /63 ฟื้นตัวชัด 

 

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวถึง ภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนตุลาคม 2563 ว่า ในเดือนตุลาคม เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จากมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเฉพาะจากโครงการคนละครึ่ง

 

โดยเครื่องชี้ด้านการบริโภคเอกชนมีสัญญาณชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ตามมูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ลดลงและจากฐานสูงในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผูบริโภคกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวก คือ ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง มาตรการเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รวมถึงการออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงปลายปี โดยเฉพาะโครงการเราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง และช้อปดีมีคืน รวมทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรดีขึ้น

 

ขณะที่เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ส่วนเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนกน้า เนื่องจากการลดลงของการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญ อาทิ หมวดที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รวมถึงหมวดรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยหนุนอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าคงทน ส่งผลให้ภาคการผลิตมีการฟื้นตัวตามอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านการท่องเที่ยวและการบริโภค ช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อยอดขายสินค้าและรายได้ของผู้ประกอบการ 

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.5% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.2% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนกันยายน อยู่ที่ 49.4% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ และเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคมอยู่ในระดับสูงที่ 248.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

นายวุฒิพงศ์ ระบุอีกว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากได้รับแรงกระตุ้นจากมาตรการต่างๆ และเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 จะติดลบน้อยกว่าไตรมาสอื่นที่ผ่านมา จากแรงกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้น