อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด "อ่อนค่า" แนะติดตามผลพัฒนายาต้านไวรัสในฝั่งเอเชีย

25 พ.ย. 2563 | 00:17 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นมีแรงซื้อตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ สลับกับแรงขายการปรับตัวลงของราคาทองคำ


อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 30.38 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ระดับ 30.34 บาทต่อดอลลาร์ กรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.25-30.45 บาทต่อดอลลาร์

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO)ระบุว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท ระยะสั้นมีแรงซื้อตามการอ่อนค่าของดอลลาร์ สลับกับแรงขายการปรับตัวลงของราคาทองคำ ส่วนตลาดการเงินฝั่งสหรัฐก็มีแรงหนุนใกล้เคียงกับฝั่งเอเชียในช่วงนี้ อย่างไรก็ดี ระยะถัดไปมองว่าความสำเร็จของการผลิตยาต้านไวรัสในฝั่งเอเชียเป็นประเด็นที่ตลาดควรติดตาม ซึ่งจะหนุนสกุลเงินเอเชียและเงินบาทให้แข็งค่าได้ต่อในช่วงสิ้นปี

สำหรับช่วงคืนที่ผ่านมา ตลาดการเงินอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐและดัชนี STOXX 600 ของยุโรป ปรับตัวขึ้น 1.6% และ 0.9% ตามลำดับ ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ฟื้นตัวขึ้น 4.2% สวนทางกับราคาทองคำที่ปรับตัวลง 1.7% มาที่ระดับ 1806 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากมีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งของสหรัฐและนโยบายประคองเศรษฐกิจในฝั่งยุโรปมากขึ้นตามลำดับ

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงต่อ 0.3% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก พร้อมกับบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ปรับตัวขึ่นกลับมาแตะระดับ 0.87% โดยในครั้งนี้ยีลด์สามสิบปีขยับขึ้นมาถึง 1.60% ชี้ว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากขึ้นเช่นกัน

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า  เงินบาทอ่อนค่ามาปรับตัวอยู่ที่ระดับ 30.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ (กรอบการเคลื่อนไหวหลังเปิดตลาดเช้านี้(25พ.ย.)อยู่ที่ 30.29-30.37 บาทต่อดอลลาร์ฯ) โดยแม้จะมีแรงหนุนจากสกุลเงินในภูมิภาค แต่กรอบการแข็งค่าของเงินบาทจะเริ่มจำกัดลง และมีโอกาสอ่อนค่าในระยะสั้น เนื่องจากตลาดยังรอประเมินสถานการณ์การเมืองในประเทศ และสัญญาณดูแลเงินบาทจากทางการอย่างใกล้ชิด

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 30.10-30.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ปัจจัยทางการเมืองของไทย สัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติและทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3/63 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนและยอดขายบ้านใหม่เดือนต.ค. และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.