ผู้ว่าธปท.มั่นใจ ศก.ไทยแกร่ง ก้าวพ้นวิกฤติ

24 ต.ค. 2563 | 12:42 น.

ผู้ว่าธปท.มั่นใจ เศรษฐกิจไทยแกร่งพอฝ่าวิกฤติ ยกนโยบายการคลังเป็นพระเอก ยอมรับโควิดกระทบหนัก ต้องใช้เวลา เผยการเมืองกระทบความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ แนะติดตามใกล้ชิด

หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) อย่างเป็นทางการเมื่อ 1 ตุลาคม 2563  นาย เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. คนที่ 21 ได้พบสื่อมวลชนและแถลงนโยบายเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 ตุลาคม โดยระบุว่า แนวทางการดำเนินนโยบายของธปท.นั้น ได้มีการจัดองคาพยพเป็น 5 โจทย์ใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เกิดขึ้น รวมทั้งพยายามลดดัชนีวัดความสำเร็จ(KPI)ให้เหลือ 13 ตัวจากที่มีอยู่กว่า 70 ตัว

 

 “หลังผ่อนคลายล็อกดาวน์ บริบทประเทศเปลี่ยนไปใน 3 ด้านคือ 1.การฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแตกต่างกันมาก ทั้งมิติของสาขาเศรษฐกิจ เชิงพื้นที่และขนาดธุรกิจ 2.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คาดว่าจะใช้เวลานาน ไม่น้อยกว่า 2 ปี กว่าจะสู่ระดับก่อนโควิด และ 3.ยังมีความไม่แน่นอนว่า วัคซีนจะทดลองสำเร็จเมื่อไร การท่องเที่ยวจะฟื้นได้ระดับไหน ซึ่งเป็นความท้าทาย เพราะแนวโน้มนักท่องเที่ยวจาก 40 ล้านคนจะลดเหลือเพียง 7 ล้านคน ทำให้รายได้หายไปกว่า 1.6 ล้านล้านบาท”

 

ผู้ว่าธปท.มั่นใจ ศก.ไทยแกร่ง  ก้าวพ้นวิกฤติ

 

หากมองไปข้างหน้า ภาพรวมเศรษฐกิจและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย และทั่วโลกที่ถูกกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยทั้งปีนี้ เศรษฐกิจไทยติดลบทุกไตรมาสและยังมีความไม่แน่นอนสูงมากที่เป็นตัวถ่วง และยังขึ้นกับความคืบหน้าการทดลองวัคซีนด้วย แต่แนวโน้มเศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัว โดยน่าจะเห็นการฟื้นตัวเป็นบวกในไตรมาส 2 ปีหน้า แต่คาดว่า จะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 ประมาณไตรมาส 3 ของปี 2565

“วิกฤติรอบนี้ยอมรับว่า เป็นปัญหาหนัก แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งนี้สามารถแก้ไขได้ โดยต้องอาศัยเวลาและการใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดอย่างคุ้มค่า เพราะเป็นปัญหาใหม่ ที่ไม่มีวิธีแก้ในตำราเหมือนในอดีต เช่น การควบคุมโควิด-19 เทียบกับต่างประเทศ ยุโรป สหรัฐ มีโอกาสเกิดการระบาดรอบสองสูง ดังนั้น การจะแก้วิกฤติต้องมั่นใจแนวทางหรือเครื่องมือที่จะนำมาใช้จริงๆ”

ผู้ว่าธปท.มั่นใจ ศก.ไทยแกร่ง  ก้าวพ้นวิกฤติ

อย่างไรก็ตามธปท. เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งพอที่จะก้าวพ้นวิกฤติในครั้งนี้ นอกจากความสามารถที่ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้ดีแล้ว เสถียรภาพการเงินยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยความเพียงพอของเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS)ของสถาบันการเงินไทยอยู่ในระดับ 19% เทียบกับเวียดนามที่ BIS อยู่ที่ 11% เสถียรภาพต่างประเทศเข้มแข็ง หนี้สาธารณะยังอยู่ต่ำกว่าเพดาน และยังสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ และตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่น

 

นายเศรษฐพุฒิยังกล่าวถึงการดำเนินนโยบายการเงินว่า ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ระดับ 0.50%ต่อปี ต่ำสุดในภูมิภาคและต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ ซึ่งประสิทธิภาพต่ำ ดังนั้นนโยบายการคลังควรจะเป็นพระเอก เพราะโดยธรรมชาตินโยบายการเงินจะเป็นกองหลังไม่ใช่กองหน้าอยู่แล้ว

ส่วนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนนั้น ภาพรวมการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นกับสกุลเงินดอลลาร์และสกุลเงินต่างประเทศ โดย 5 ปีที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของค่าเงินขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างประเทศ 85% ที่เหลือเพียง 15% เป็นปัจจัยในประเทศ ซึ่งต่างประเทศ ก็ประสบปัญหาเช่นกัน แต่ใช้วิธีสนับสนุนให้เงินออกไปลงทุนต่างประเทศ แต่ประเทศไทยยังมีบริษัทไทยออกไปลงทุนต่างประเทศในสัดส่วนที่น้อย

 

“สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ ทำให้ตลาดการเงิน โดยรวมไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ปัญหาดีมานด์ภาคท่องเที่ยวที่หายไป ไม่สามารถใช้นโยบายการเงินเอาดีมานด์มาทดแทนได้”

ผู้ว่าธปท.มั่นใจ ศก.ไทยแกร่ง  ก้าวพ้นวิกฤติ

ส่วนสถานการณ์ทางการเมือง ผู้ว่าธปท.ระบุว่า เบื้องต้นเชื่อว่า กระทบต่อความเชื่อมั่น การลงทุน การบริโภคและการท่องเที่ยวว่า จะกลับมาเมื่อใด สิ่งที่ธปท.กังวลคือ กระทบต่อความสามารถจัดการในด้านต่างๆ และความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น แม้ว่าไทยจะมีความสามารถในการรองรับภาวะช็อกได้ แต่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องติดตามว่า สถานการณ์จะลากยาวหรือไม่

 

ส่วน 5 โจทย์สำหรับธปท.คือ 1. แก้วิกฤติหนี้อย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจผ่านพ้นวิกฤติโควิดและฟื้นตัวได้ ที่สำคัญคือ สภาพคล่องและการปรับโครงสร้างหนี้ ขณะเดียวกันต้องคำนึงผลกระทบจากภาคอุตสาหกรรมอื่นด้วย ซึ่งธปท.พร้อมออกมาตรการสนับสนุน 2.รักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่า สถาบันการเงินสามารถทำหน้าที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้ฟื้นและเดินหน้าต่อไปได้ 3.รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค ให้ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจการเงินไทยสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและความผันผวนตลาดการเงิน

 

หากบรรลุทั้ง 3 ด้านได้ดี จึงดำเนินการต่อในโจทย์ที่ 4 คือ สร้างความเชื่อมั่นของสาธารณชน ให้ ธปท.เป็นหนึ่งในองค์กรที่ประชาชนเชื่อมั่นที่สุด ด้วยกระบวนการทำงาน“คิดรอบ ตอบได้”สะท้อนการทำงานที่สร้างวัฒนธรรมการทำงานช่วยกันคิด เพราะปัญหาที่หลายองค์กรพบมักเกิดจากการแบ่งกันเป็นฝ่าย(ไซโล) และ 5.พัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงาน ให้ ธปท. เป็นองค์กรที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ (Outcome) ซึ่งต้องให้น้ำหนักกับส่วนรวมที่จะได้รับผลกระทบด้วย และสร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท.ขยาย“ลดดอก-พักหนี้”ถึงกลางปี 64 ลดดอกเพิ่ม 1-2%

ธปท.ระดมขุนพลผ่าทางตันสู้โควิด

ธปท.เปิดฐานะการเงินขาดทุนสะสม 1,069,366 ล้านบาท

รู้จัก “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าธปท.คนใหม่ให้มากขึ้น

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3620 วันที่ 22 - 24 ตุลาคม พ.ศ. 2563