Refinance หรือ Retention แบบไหนคุ้มกว่ากัน?

19 ต.ค. 2563 | 22:29 น.

การขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อซื้อบ้าน โดยปกติในช่วง 3 ปีแรก สถาบันการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ค่อนข้างต่ำเพื่อจูงใจให้ใช้บริการ แต่หลังจากนั้นจะปรับขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนดซึ่งสูงกว่ามาก ด้วยเหตุนี้ผู้กู้จึงมักจะ"รีไฟแนนซ์" แต่ยังมีอีกทางเลือก นั้นก็คือการขอเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อกับสถาบันการเงินเดิม หรือ “รีเทนชั่น"


การขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพื่อซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียมนั้น โดยปกติแล้วสถาบันการเงินจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีแรกไว้ค่อนข้างต่ำเพื่อจูงใจให้ใช้บริการ หลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยก็จะปรับเพิ่มขึ้นตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยในช่วง 3 ปีแรกค่อนข้างมาก

 

Refinance หรือ Retention แบบไหนคุ้มกว่ากัน?

 

ดังนั้นเมื่อครบกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำตามสัญญาสินเชื่อแล้ว ผู้กู้ส่วนใหญ่จึงมองหาวิธีประหยัดดอกเบี้ยลง โดยการทำ“รีไฟแนนซ์ (Refinance)” ก็คือการย้ายวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินเดิมไปยังสถาบันการเงินใหม่ที่ให้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า ทำให้ค่างวดที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือนไปหักเงินต้นมากขึ้น และระยะเวลาการผ่อนชำระหมดเร็วขึ้น

 

แต่นอกเหนือจากทางเลือกในการรีไฟแนนซ์แล้ว ยังมีอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้มีสินเชื่อที่อยู่อาศัย คือการขอเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อกับสถาบันการเงินเดิมหรือที่เรียกกันว่า “รีเทนชั่น (Retention)”
 

“รีเทนชั่น (Retention)” คือ การต่อรองขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินเดิม ว่าจะสามารถช่วยลดอัตราดอกเบี้ยจากที่จะต้องปรับขึ้นตามที่กำหนดไว้ได้ไหม โดยสถาบันการเงินจะพิจารณาจากประวัติในการผ่อนชำระในช่วงที่ผ่านมาของผู้กู้ ซึ่งปกติแล้วหากผู้กู้มีประวัติการชำระหนี้ที่ดี สถาบันการเงินก็ไม่ต้องการเสียลูกค้า แต่การทำรีเทนชั่น มักจะไม่ได้ส่วนลดอัตราดอกเบี้ยมากเท่าการรีไฟแนนซ์ ซึ่งการรีไฟแนนซ์ มีเอกสารหลายส่วนที่ต้องเตรียม และมีขั้นตอนในการดำเนินการหลายขั้นตอน คล้ายการขอยื่นขอสินเชื่อใหม่ ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร รวมถึงจะต้องมีค่าใช้จ่ายในกระบวนการต่างๆ เช่น ค่าประเมินราคาหลักประกัน ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ ค่าอากรสแตมป์ ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้รวมถึงค่าบริการอื่นๆ ของสถาบันการเงิน

 

ส่วนการขอลดอัตราดอกเบี้ย (Retention) เป็นวิธีที่สะดวกสบาย เพราะเป็นการทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินเดิม ไม่ต้องมีภาระในการจัดเตรียมเอกสารใหม่ ระยะเวลาในการพิจารณาก็ไม่นานเนื่องจากสถาบันการเงินมีข้อมูล และประวัติในการผ่อนชำระอยู่แล้ว ส่วนในด้านค่าธรรมเนียมก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของสถาบันการเงิน แต่โดยรวมแล้วค่าใช้จ่ายจะต่ำกว่าการรีไฟแนนซ์ ส่วนจะลดอัตราดอกเบี้ยได้เท่าใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละสถาบันการเงิน

 

ตัวอย่าง : บ้านราคา 4,700,000 บาท ผ่อนกับธนาคารมา 3 ปี ผ่อน 28,600 บาท/เดือน ยอดสินเชื่อคงเหลือ 4,000,000 บาท ปีที่ 4 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ย MRR-1.00% ต่อปี ** MRR = 6.00% ต่อปี 
 
 

Refinance หรือ Retention แบบไหนคุ้มกว่ากัน?

 

 

สิ่งที่ผู้มีภาระสินเชื่อที่อยู่อาศัยควรทำอยู่เสมอก็คือ พยายามลดอัตราดอกเบี้ยในทุกๆ 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นการ “รีไฟแนนซ์” หรือ “รีเทนชั่น” ซึ่งวิธีการเปรียบเทียบทางเลือก การทำ รีไฟแนนซ์” หรือ “รีเทนชั่น” วิธีไหนที่จะประหยัดมากกว่ากัน ต้องเปรียบเทียบ รายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ไม่ได้ดูแต่เพียงอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกิดขึ้นของแต่ละทางเลือกมาคำนวณหักลบกับเงินที่ประหยัดขึ้น ว่าค่าใช้จ่ายที่เสียไปจะคุ้มค่ากับจำนวนเงินที่ประหยัดได้จากดอกเบี้ยที่ลดลงหรือเปล่า เพื่อหาทางเลือกที่คุ้มค่าที่สุด

 

การประหยัดดอกเบี้ยเท่ากับคุณมีเงินออมมากขึ้น เมื่อมีเงินเพิ่มมากขึ้นก็สามารถนำไปเก็บออมเพื่อการเกษียณ เพิ่มค่างวดในการผ่อนชำระ หรือเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาให้ลูกได้มากขึ้น การวางแผนจัดการการเงินที่ดี จะช่วยทำให้คุณมีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น
 

 

โดย :  ธีรพัฒน์ มีอำพล นักวางแผนการเงิน CFP®  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย