แฟคตอริ่งร้องรัฐ อัดฉีดซอฟต์โลน

18 ต.ค. 2563 | 07:15 น.

นายกสมาคมแฟคตอริ่ง ประเมินปีนี้ตลาดหดตัว 10% ร้องรัฐอัดฉีดซอฟต์โลน ส่งต่อสภาพคล่องไมโครเอสเอ็มอี จับมือธปท.ทดสอบแพลตฟอร์ม ดิจิทัลแฟคตอริ่ง เล็งลดกระบวนการอนุมัติสินเชื่อผ่านอิเล็กทรอนิกส์ภายในปีนี้ 

ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ในอุตสาหกรรมต่างๆ ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่อง เนื่องจากคู่ค้ารายใหญ่ซื้อขายในลักษณะ “เงินเชื่อ” ทำให้ขยายธุรกิจไม่ได้ เพราะเงินจม ขณะที่ ผู้ประกอบการแฟคตอริ่ง มีความกังวลเรื่อง เอกสารใบแจ้งหนี้ปลอม หรือการนำใบแจ้งหนี้ไปขอสินเชื่อซํ้าซ้อนหลายสถาบันการเงิน ทำให้แฟคตอริ่งไม่กล้าปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี  

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาระบบนิเวศ Digital Factoring เพื่อช่วยเอสเอ็มอีรายย่อยให้เข้าถึงแหลงทุน โดยธปท.ได้พัฒนาใบแจ้งหนี้ดิจิทัล (Digital Invoice) ซึ่งปลอมได้ยากและตรวจสอบได้ว่าตรงกับยอดสั่งซื้อหรือไม่ โดยสามารถตรวจสอบผ่านระบบและกระบวนการดิจิทัลทั้งหมด

 

ขณะเดียวกันเอสเอ็มอียังประสบปัญหาจากการที่ผู้ซื้อรายใหญ่ขยายเวลาเครดิตเทอมเพิ่มเป็น 60-120 วันจากช่วงปี 2559 อยู่ที่ 30-45 วัน แต่ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ได้ออกมาตรการเพื่อเร่งอัดฉีดสภาพคล่องเอสเอ็มอี โดยขอความร่วมมือกับสมาชิกให้ชำระหนี้ค่าสินค้าหรือบริการให้กับคู่ค้าของบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มิเอสเอ็มอี ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้ตรวจรับสินค้าหรือบริการครบถ้วนและได้รับเอกสารเรียบร้อยแล้ว เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

แฟคตอริ่งร้องรัฐ อัดฉีดซอฟต์โลน

นายอัครวิทย์ สุกใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AF ในฐานะนายกสมาคมสมาคมผู้ประกอบ ธุรกิจแฟคตอริ่ง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมธุรกิจแฟคตอริ่งปีนี้ มีแนวโน้มหดตัวประมาณ 10-15% จากปี 2562 

แฟคตอริ่งร้องรัฐ อัดฉีดซอฟต์โลน

อย่างไรก็ตาม หากทางการสามารถควบคุมสถานการณ์ระบาดรอบสองของโควิดได้ และมาตรการรัฐที่ทยอยออกมาได้ผลตรงจุด จะเรียกความเชื่อมั่นทั้งภาคเอกชน ซึ่งหมายถึงผู้ประกอบธุรกิจ และผู้บริโภคให้กล้าลงทุนและจับจ่ายใช้สอยก็จะเป็นปัจจัยบวกให้การรับซื้อลูกหนี้การค้าในไตรมาส 4 ปีนี้กลับมาคึกคักขึ้น และน่าจะทำให้อัตราการหดตัวเพียงประมาณ 10% เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าที่คาดว่า ทั้งปีจะหดตัว 10-15%

 

“ปกติไตรมาส 4 ของทุกปี จะเป็นไฮไลต์ของการเติบโตที่ 10% แต่ปีนี้น่าจะติดลบ 10-15% ซึ่งขึ้นกับแรงกระตุ้นของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการที่ทยอยออกมาหรือการเบิกจ่ายไม่ชะงักงั้น มีโอกาสที่ปีนี้ธุรกิจแฟคตอริ่งจะติดลบแค่ 10% โดยยอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อหรือการรับซื้อลูกหนี้การค้าสะสมทั้งปีจะเหลือ 1.7-1.8 แสนล้านบาทจากปีก่อนอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท แต่ห่วงเรื่องควบคุมการระบาดรอบสองของโควิดและความไม่นิ่งของภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือ”

 

ปัจจุบันสมาคมผู้ประกอบธุรกิจแฟคตอริ่งมีสมาชิก 13 รายทั้ง ธนาคารและผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) โดยมียอดคงค้างการปล่อยสินเชื่อหรือรับซื้อลูกหนี้การค้า 2 แสนล้านบาท โดย5 อันดับแรกคือ ธนาคาร กสิกรไทยจำกัด(มหาชน) บริษัท ไอเอฟเอส แคปปิตอล(ประเทศไทย)จำกัด(มหาชน) บริษัท ไอร่า แฟคตอริ่ง จำกัด(มหาชน) บริษัท ลีซ อิท จำกัด(มหาชน) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย

ส่วนกลุ่มลูกค้าเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นไมโครเอสเอ็มอีที่ไม่ถูกกระทบจากโควิดเช่น ธุรกิจอุตสาหกรรมทางการแพทย์ กลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มพลังงานทดแทน ซึ่งส่วนใหญ่จะพิจารณาวงเงินกู้ต่อราย 80%ของยอดคำสั่งซื้อ ซึ่งการบริหารความเสี่ยงในการคัดเลือกลูกค้านั้น จะวิเคราะห์หรือพิสูจน์ทั้งเครดิตของผู้กู้ สถานะเครดิตของผู้ซื้อและการโอนสิทธิเรียกร้อง

 

โดยหลักการธุรกิจแฟคตอริ่ง จะเป็นการให้สินเชื่อหลังการส่งมอบสินค้าและบริการถ้าลูกค้าสามารถแสดงหลักฐานการส่งมอบสินค้าหรือบริการมาแล้วสองหรือสามรอบบิลโดยเป็นการให้ในแง่อัตราดอกเบี้ยที่ชาร์ตจากลูกค้าปัจจุบัน MRR+1-2% แต่ถ้าธุรกิจเลือกใช้บัตรกดเงินสด บัตรเอทีเอ็มและสินเชื่อส่วนบุคคลจะอยู่ที่อัตรา 20%ต่อปี

 

ส่วนการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำของธปท.หรือ ซอฟต์โลน นั้น นิยามของสถาบันการเงินไม่ครอบคุลมธุรกิจแฟคตอริ่ง ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมได้เสนอต่อกระทรวงการคลังและธปท.แล้ว เพราะจากปริมาณธุรกรรมที่ 2 แสนล้านบาทต่อปี หากรัฐอัดฉีดซอฟต์โลนให้แฟคตอริ่งและให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)เข้ามาคํ้าประกัน ก็จะทำให้นอนแบงก์เข้ามาช่วยเอสเอ็มอีได้อีกแรง โดยส่วนของ AF มีพอร์ตรับซื้อลูกหนี้การค้า 2,000 ล้านต่อปี มียอดรับซื้อราว 22,000 ล้านบาท

 

“สมาคมฯ อยู่ระหว่างทดลองโครงการ Digital Factoring Ecosystems ซึ่งธปท.เป็นเจ้าภาพ เพื่อช่วยเอสเอ็มอีให้มีตัวเลือกในการเข้าถึงแหล่งเงิน โดยแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเฟสแรก จะเห็นเป็นรูปธรรมไตรมาส 1 ปี2564 ส่วน AF คาดว่า จะออกแพลตฟอร์มในการขอสินเชื่อดิจิทัลภายในสิ้นปี ซึ่งจะร่นระยะเวลาของกระบวนการอนุมัติสินเชื่อได้เสร็จภายใน 1 วันเศษ จากปัจจุบันอยู่ที่ 2-3 วัน  ระยะต่อไปคาดว่า จะยกระดับลูกค้ากว่า 1,000 รายให้สามารถใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลด้วย” 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้จัก “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าธปท.คนใหม่ให้มากขึ้น

ธปท.จ่อบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานเครดิตเทอมกับธุรกิจรายใหญ่ธันวาคม63

ธุรกิจการบินโคม่า 7 แอร์ไลน์ไทยร้อง ‘อาคม’ เร่งซอฟต์โลนกู้ชีพ

ออมสิน ช่วยธุรกิจท่องเที่ยว ปล่อยกู้ซอฟต์โลน 1.5 หมื่นล้าน

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,618 วันที่ 15 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2563