ธอส.ตั้งเป้า เพิ่มผู้ใช้บริการ GHB All เป็น 1 ล้านคนในปีหน้า

24 ก.ย. 2563 | 08:09 น.

ธอส.ตั้งเป้า เพิ่มผู้ใช้บริการ GHB All เป็น 1 ล้านคนในปีหน้า หลังปีนี้มีผู้ใช้แล้วกว่า 700,00 ราย

            นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ได้จัดทำโครงการ “G H Bank New Normal Services” เฟสที่ 1 ด้วยการพัฒนาฟังก์ชั่นบริการเพิ่มเติมทั้งทางด้านการเงินและสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมของ ธอส. ได้ง่าย ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลด้วย Mobile Application : GHB ALL ที่ลูกค้าของธนาคารหันมาใช้บริการผ่านช่องทางนี้มากขึ้นเห็นได้จาก ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2563 ธนาคารมีจำนวนลูกค้าที่ใช้ GHB ALL และยังใช้งานอยู่จำนวน 710,318 บัญชี เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีจำนวนลูกค้าใช้งาน 242,180 บัญชี และปัจจุบันลูกค้ามีการทำธุรกรรมการโอนเงินและชำระหนี้เงินกู้ผ่าน GHB ALL จำนวน 590,769 รายการ เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2562 ที่มีการทำธุรกรรมจำนวน 375,981 รายการ หรือเพิ่มขึ้นถึง 57.13%

                ทั้งนี้ ธอส.จะพัฒนาแอพลิเคชั่นในเฟส 2 ต่อไป โดยตั้งเป้าหมายว่าในสิ้นปี 2563 จะมีจำนวนลูกค้าที่ทำธุรกรรมการโอนเงินและชำระหนี้เงินกู้ผ่าน GHB ALL เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 756,300 รายการ หรือเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคน ในไตรมาสที่ 1 ปีหน้า

ธอส.ตั้งเป้า เพิ่มผู้ใช้บริการ GHB All เป็น 1 ล้านคนในปีหน้า

         สำหรับฟังก์ชั่นบริการเพิ่มเติมในเฟสที่ 1 ที่เริ่มให้บริการได้แล้วประกอบด้วย 1.ซื้อสลากออมทรัพย์ ธอส. ให้บริการได้ทั้งการซื้อสลากครั้งแรกหรือลูกค้าเดิมที่ต้องการซื้อเพิ่มเติม โดยหลังจากเริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2563 มีลูกค้าซื้อสลากออมทรัพย์ ธอส. ชุดพิมานมาศ หน่วยละ 50,000 บาท ผ่าน GHB ALL จำนวนกว่า 5,500 หน่วย ล่าสุด ธอส. ได้จัดทำโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าที่ซื้อสลากผ่าน GHB ALL ในวันที่ 24 กันยายน 2563 รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1.1% ต่อปี (จากปกติอัตราดอกเบี้ย 0.90% ต่อปี) ภายใต้กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท และการเปิดรับซื้อสลาก ธอส. ชุดต่อไปจะเปิดให้ลูกค้าซื้อผ่าน GHB ALL ต่อไป

           2.ขอ Statement บัญชีเงินฝาก สำหรับลูกค้าที่ต้องการนำข้อมูลบัญชีประเภทออมทรัพย์ไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาในการอนุมัติธุรกรรมต่าง ๆ ตามที่ต้องการ โดยภายหลังจากกรอกข้อมูลครบถ้วนตามที่ธนาคารกำหนดแล้ว ระบบจะส่ง Statement บัญชีเงินฝากตามที่ระบุไปที่ E-mail ของลูกค้า

            3.จองคิวใช้บริการล่วงหน้า เพื่อเลือกสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ต้องการใช้บริการ ซึ่งระบบจะแสดงรายชื่อสาขาที่เรียงลำดับจากระยะทางที่ใกล้กับจุดที่ลูกค้าอยู่มากที่สุด โดยสามารถเลือกบริการประเภทที่ต้องการพร้อมระบุวันและเวลาที่ต้องการนัดหมาย และหลังจากกดยืนยันแล้วจะสามารถไปรอรับบริการที่สาขาในวันเวลาที่นัดหมายได้ทันที

           4.ใบเสร็จชำระเงินกู้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ แทนรูปแบบเดิมที่เป็นกระดาษและจัดส่งทางไปรษณีย์ สำหรับลูกค้าที่ชำระเงินงวดผ่านการหักบัญชีอัตโนมัติ หรือผ่านช่องทางตัวแทน และลูกค้าสวัสดิการที่ชำระโดยหน่วยงานต้นสังกัด ซึ่งจะมีข้อมูลสำคัญเช่นเดียวกับใบเสร็จแบบกระดาษ อาทิ ยอดที่ชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และเงินต้นคงเหลือ

            5.ชำระเงินดาวน์ทรัพย์ NPA เพียงเลือกบัญชีที่ต้องการชำระพร้อมด้วยรหัสทรัพย์ NPA เมื่อตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยและกดยืนยันแล้ว ระบบจะส่งใบเสร็จให้ผู้ชำระทันที และ และ 6.แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเปลี่ยนแปลงที่อยู่จัดส่งเอกสาร/การติดต่อกับธนาคารโดยไม่ต้องเดินทางไปแจ้งที่สาขา เพื่อไม่ให้พลาดการติดต่อหรือรับข้อมูลสำคัญจากธนาคาร โดยลูกค้ายังสามารถเลือกเปลี่ยนแปลงเบอร์โทรศัพท์ E-Mail และ Line ID ซึ่งเป็นช่องทางการติดต่อที่สะดวกรวดเร็วในปัจจุบันได้อีกด้วย