เอกสารลับ FinCen แฉ 4 แบงก์ไทย ปล่อยโอนเงินผิดกฎหมายกว่า 1.2 พันล้าน

21 ก.ย. 2563 | 06:35 น.

 เอกสารลับ FinCen  พบ 4 แบงก์ไทย ทำ 92 ธุรกรรมเข้าข่ายต้องสงสัย ยอมปล่อยให้มีการโอนผิดกฎหมายกว่า 1.2 พันล้านบาท

กรณีสมาคมผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ (ICIJ) เผยแพร่เอกสารลับของเครือข่ายสืบสวนอาชญากรรมทางการเงินสหรัฐ หรือ FinCen ผ่านเว็บไซต์ www.icij.org ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งทั่วโลกได้ปล่อยให้มีการโยกย้ายเงินผิดกฎหมายจำนวนมากเป็นเวลานานเกือบ 20 ปี มูลค่ากว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 60 ล้านล้านบาท ในระหว่างปี 2542- 2560 ซึ่งเงินเหล่านี้ได้รับอนุมัติการทำธุรกรรมโดยหน่วยงานภายในของสถาบันการเงินที่อยู่ในข่ายต้องสงสัย

 

“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบข้อมูลจาก www.icij.org พบว่าในส่วนของประเทศไทยได้มีการยกตัวอย่างรายงานกิจกรรมที่น่าสงสัยไว้ทั้งสิ้น 92 ธุรกรรมผ่าน 4 ธนาคารพาณิชย์ของไทยมูลค่ารวม 41,308,752 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,239.26 ล้านบาท ประกอบด้วย การรับโอนเงิน 9,558,752 ดอลลาร์สหรัฐ การโอนเงินออก 31,750,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งหมดเป็นธุรกรรมการเงินที่มีการบันทึกไว้ว่าอยู่ในระหว่างเดือน ธ.ค. 2555- ม.ค. 2559


ทั้งนี้ ธุรกรรมการโอนเงินเข้าที่มีมูลค่ามากที่สุด เป็นการรับเงินโอนจากธนาคาร Israel Discount Bank Ltd ในประเทศอิสราเอลมายังธนาคารไทยในช่วงวันที่ 2 ก.ค. 2556 - 12 พ.ย. 2556 คิดเป็นจำนวนการโอนเงินทั้งสิ้น 45 ครั้ง มูลค่ารวม 5,920,731 ดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือประมาณ 185,555,709 บาท

 

ขณะที่การโอนเงินออกจากธนาคารในประเทศไทยไปยังประเทศอื่น ครั้งที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นการโอนเงินไปยังธนาคาร CIMB Bank Berhad ในประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2556 คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 22,300,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 698,993,500 บาท

เอกสารลับของ FinCen ที่ถูกเปิดเผยออกมาครอบคลุมถึงเอกสารที่ชื่อว่า "รายงานกิจกรรมที่น่าสงสัย (SAR)" ซึ่งเป็นเอกสารที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ได้ยื่นต่อ FinCen มากกว่า 2,100 ฉบับ

 

รายงานกิจกรรมที่น่าสงสัย (SAR) ระบุว่า บ่อยครั้งที่ธนาคารพาณิชย์ได้โยกย้ายเงินของบริษัทต่างๆ ที่จดทะเบียนในแหล่งซึ่งถูกระบุว่าที่เป็นที่พักเงิน เช่น หมู่เกาะบริติช เวอร์จิน และไม่มีการระบุถึงเจ้าของบัญชี ขณะที่พนักงานของธนาคารรายใหญ่ก็มักจะใช้กูเกิลเสิร์ชหาข้อมูลว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโอนเงินเหล่านี้

 

โดยมีชื่อธนาคารสแตนชาร์ดปรากฎอยู่ในรายงานดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง นอกจากนี้ยังมีชื่อของธนาคารเอชเอสบีซี, เจพีมอร์แกน เชส, ดอยซ์แบงก์ และแบงก์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน ถูกระบุอยู่ในเอกสารดังกล่าวด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอกสารลับ FinCen แฉธนาคารยักษ์ ปล่อยอาชญากรโอนเงินสกปรกกว่า 2 ล้านล้านดอลล์