"ดร.กนก" แนะ รื้อระบบงบประมาณ ฟังเสียงประชาชน

21 ก.ย. 2563 | 05:14 น.

ดร.กนก ชี้ 3 ประเด็น ส.ส.ฝ่ายค้าน-รัฐบาล เห็นพ้อง แนะ ปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณ รับฟังปัญหาประชาชน

21 กันยายน 2563 ศ.ดร.กนก วง์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการพิจารณางบประมาณรายจ่ายแผ่นดินในวาระ 2 และ 3 ที่ผ่านมาว่ามีอยู่ 3 ประเด็นที่ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เห็นตรงกัน คือ

 
1.งบประมาณไม่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของประชาชน เพราะสำนักงบประมาณและข้าราชการประจำของกระทรวงต่างๆ ยังคงมองปัญหาของประชาชนด้วยสายตาของคนนอก และมุมมองอันไกลห่างจากปัญหาจริง จึงทำให้ประเด็นที่เหล่า ส.ส. ได้อภิปรายในสภาเมื่อปีที่แล้ว (งบประมาณปี 2563) ก็ยังคงเป็นปัญหาในระบบงบประมาณในปีนี้อยู่ (ปี 2564) ส่งผลให้การบังคับใช้งบประมาณขาดประสิทธิภาพ และไปไม่ถึงประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
 

 

2.กระบวนการจัดทำงบประมาณที่ขับเคลื่อนด้วยระบบราชการทั่วประเทศ เป็นการจัดทำโครงการตามแผนงานที่กระทรวงในสังกัดกำหนด แล้วส่งกลับไปยังกรมและกระทรวงเพื่อพิจารณา ซึ่งทั้งหมดก็มีที่มาตามกรอบของยุทธศาสตร์ชาติที่ได้กำหนดรูปแบบเอาไว้ค่อนข้างตายตัว จากนั้นทั้งกรมและกระทรวงก็ส่งต่อไปยังสำนักงบประมาณ ซึ่งเป็นหน่วยงานในการกำกับการตัดหรือปรับลดงบประมาณสำหรับโครงการต่างๆ เท่านั้น
 

3. ประชาชนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับงบประมาณแผ่นดิน กลับไม่มีส่วนร่วมในการเสนอโครงการใดๆ รวมไปถึงตัวแทนของประชาชน หรือ ส.ส. ก็ถูกห้ามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงบประมาณตามที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 144 อันว่าด้วยหลักการแห่งการขัดกันของผลประโยชน์ จนทำให้อาจถูกตีความในทางลบกรณีเข้าไปเสนอปัญหาของชาวบ้านและแนวทางแก้ไขต่อหน่วยงานงบประมาณได้ ซึ่งมีโทษที่รุนแรงมากสำหรับ ส.ส.”

 
 

พร้อมกันนี้ ดร.กนก รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้คำแนะนำสำหรับรัฐบาลและสำนักงบประมาณว่า รัฐบาล และสำนักงบฯ ควรเปิดใจรับฟังปัญหานี้ และต้องยินดีที่จะหาทางออกอันเหมาะสมอย่างจริงใจ ด้วยการปรับเปลี่ยนระบบงบประมาณเสียใหม่ พยายามตอบสนองความต้องการของประชาชนให้ได้ เพราะถ้าระบบงบประมาณ และกระบวนการจัดทำงบประมาณในปัจจุบันไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของประชาชนได้ นอกจากความสูญเปล่าของงบประมาณแผ่นดินแล้วการปล่อยให้ประชาชนต้องแบกปัญหา และความทุกข์ยากของตนไว้บนบ่าต่อไป ยังเป็นสาเหตุอันสำคัญของความแตกแยกขัดแย้งที่ดำรงอยู่ และมีทีท่าว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นลำดับอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

งบรายจ่ายปี 64 สะดุดใช้ไม่ทัน 1 ต.ค.นี้ โครงการลงทุนใหม่สะเทือน

ความท้าทายงบประมาณ กับข้อจำกัดด้านการคลัง

“ดร.กนก” ชี้ จุดอ่อน “งบปี 64”

รัฐลุยปั้น "จีดีพี" ปีหน้า โต 5%

จากนั้น ดร.กนก อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้หยิบข้อเสนอในเรื่องการให้ความสำคัญต่อส.ส.ในฐานะตัวแทนประชาชนโดยอธิบายว่า รัฐบาลและสำนักงบฯ ควรมอง ส.ส. เป็นเสมือนปากเสียงหรือตัวแทนของประชาชน ในการนำเสนอปัญหาและแนวทางในการพัฒนา เพื่อให้การจัดทำงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนได้กลับคืนไปสู่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของการจัดทำงบประมาณอันถูกต้องชอบธรรมตามหลักสากลอย่างแท้จริง
 

ส่วนเรื่องข้อกังวลสำหรับการหาผลประโยชน์ของนักการเมืองนั้น เราควรปล่อยให้ระบบและกลไกในการตรวจสอบจากภาครัฐได้ทำงาน ซึ่งถ้าใครห่วงในเรื่องประสิทธิภาพ เราก็มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของภาคประชาสังคมคอยกระชับอีกที หรือการร่วมสร้างความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดขึ้น อาทิ การเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบ เป็นต้น