เปิดใจ 2 นาโนไฟแนนซ์ ช่วงทดลองตลาด แมคคาเล กรุ๊พ–ไทยเอช

22 เม.ย. 2559 | 01:00 น.
จากนโยบายของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเนื่องจากยังมีประชาชนรายย่อยประมาณ 1.3 ล้านครัวเรือนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อจากสถาบันการเงินใดๆ เลย โดยนับตั้งแต่ไตรมาส 2 /2558 เป็นต้นมา กระทรวงการคลังได้ให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับหรือสินเชื่อ Nano Finance แล้ว 30 ราย จำนวนนี้เปิดดำเนินการแล้ว 12 ราย

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษ 2 น้องใหม่ ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นกลุ่มแรกๆ ถึงประสบการณ์ในช่วงทดลองตลาด และมองโอกาสความเป็นไปได้ของธุรกิจ กับ นายสมชาย โฆศิริมงคล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) ( บมจ.) เจ้าของแบรนด์ "เงินกู้สมใจ" และนายคณิตเชษฐ์ วัยอัศว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด แบรนด์" กู้เงิน กู้ง่าย "
*ธุรกิจดั้งเดิมของ "แมคคาเล กรุ๊พ"

[caption id="attachment_45768" align="aligncenter" width="389"] นายสมชาย โฆศิริมงคล  กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) ( บมจ.)  เจ้าของแบรนด์ "เงินกู้สมใจ" นายสมชาย โฆศิริมงคล
กรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัท แมคคาเล กรุ๊พ จำกัด (มหาชน) ( บมจ.)
เจ้าของแบรนด์ "เงินกู้สมใจ"[/caption]

สมชาย โฆศิริมงคล เล่าว่า บมจ.แมคคาเล กรุ๊พ ตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 186.86 ล้านบาท ผมถือหุ้นใหญ่ 95% เปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2548 ทำเกี่ยวกับน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้กับรถไถหรือใช้กับเครื่องยนต์การเกษตร ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเกษตรกรชาวไร่ ชาวนา ต่อมาบริษัทได้ขยายไลน์ธุรกิจทำทางด้านไฟแนนซ์ คือสินเชื่อ Pre Loan หรือสินเชื่อมีหลักประกัน และนาโนไฟแนนซ์ ดังนั้นฐานลูกค้าเรา นอกจากกลุ่มเกษตรกร อีกส่วนก็เป็นคนงานในโรงงานนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นนิคมโรจนะ, นิคมนวนคร และคนที่อยู่โดยรอบโรงงาน ส่วนต่างจังหวัดยังเป็นภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่

บริษัทได้รับใบอนุญาตธุรกิจนาโนไฟแนนซ์เมื่อกลางปี 2558 แต่เพิ่งมาเปิดบริการเมื่อปลายปี 2558 ทำจริงๆ ก็ประมาณ 4 เดือน ภายใต้ชื่อแบรนด์ว่า "เงินกู้สมใจ" ปัจจุบันมีจุดบริการถึง 11 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเช่นที่อุบลราชธานี, ร้อยเอ็ด และปีนี้เราจะขยายสาขาเพิ่มเป็น 50 สาขา รวมทั้งเปิดจุดให้บริการในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว
*นาโนไฟแนนซ์ ช่วงทดลอง

ผลการดำเนินงานในปี 2558 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใช้ได้ สินเชื่อทุกประเภทที่บริษัทปล่อยไปมีประมาณ 60 ล้านบาท ลูกค้า 200 ราย แต่จำนวนนี้เป็นการปล่อยกู้นาโนไฟแนนซ์เพียง 1 ล้านบาท เพราะยังอยู่ในช่วงทดลองตลาด ส่วนวงเงินอีก 50 ล้านบาทเป็น Personal Loan (สินเชื่อบุคคล) ที่ปล่อยให้กลุ่มลูกค้ารายเดิม และลูกค้าชั้นดีที่เคยซื้อขายกันอยู่

เงื่อนไขสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ฯ บริษัทจะให้มีการรวมกลุ่มกันมากู้ 5 คน (ค้ำประกันระหว่างกัน) และจะไม่มีการตรวจสอบเครดิตบูโร วงเงินกู้เฉลี่ยต่อรายที่ผ่านมาจะอยู่ที่ 2 หมื่นบาท โดยให้ชำระคืนภายใน 1 ปี อย่างไรก็ดีหากลูกค้ามีประวัติดีกับเรา 1 ปี บริษัทจะเพิ่มวงเงินให้ เพราะเรายังอยู่ในช่วงการทดลองตลาด (เกณฑ์ที่คลัง-ธปท. กำหนดวงเงินกู้ต่อรายสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท เพดานอัตราดอกเบี้ยที่ 36% ต่อปี )

หนี้เสีย 10-15 %

ส่วนหนี้เสีย ปัจจุบันอยู่ที่ 10-15% ของยอดคงค้างสินเชื่อที่ปล่อย อย่างไรก็ดีปัญหาต้นทุนที่เพิ่มตรงนี้ เรามองว่าน่าจะเกิดจากค่าใช้จ่ายมากกว่า คือค่าใช้จ่ายในการทำตลาด เนื่องจากนาโนไฟแนนซ์มีหลายกลุ่มที่ได้ใบอนุญาต และอีกส่วนก็เป็นแบงก์กับนอนแบงก์ด้วย ดังนั้นสโคปตรงนี้ ผู้ประกอบการรายใหม่อย่างเราจะเหนื่อย เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ยิ่งหากรัฐให้ใบอนุญาตมากราย รายจ่ายการตลาดก็จะยิ่งสูง เพราะต้องแข่งขันมากขึ้น บางรายหนี้เสียสูงอยู่แล้วบวกกับค่าใช้จ่ายด้วยแล้ว ส่วนต่างของรายได้ก็จะต่ำ

อย่างดอกเบี้ยนาโนไฟแนนซ์อยู่ที่ 36% แต่หักลดต้นลดดอกเสร็จสรรพจะเหลือเพียง 22% และหักหนี้เสีย 10-15% ก็เหลือ 7-12 % และยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าใช้จ่ายในการบริหาร ค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ บวกลบคูณหารอีก 7 % ส่วนต่างจะเหลือน้อยมาก ดังนั้นปัญหาที่เกิดขึ้น เราต้องไปลดค่าใช้จ่ายการทำตลาดลง ถึงจะทำให้เรามีกำไร ขณะที่เราก็ยังเป็นรายใหม่มีความจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ทำตลาด

ค้านรัฐเพิ่มใบอนุญาตมากราย

กรรมการผู้จัดการใหญ่ "เงินกู้สมใจ" กล่าวต่อว่า ผมเห็นด้วยกับแนวทางที่รัฐส่งเสริมให้เกิดนาโนไฟแนนซ์เพื่อมาแทนที่เงินกู้นอกระบบ แต่การให้ใบอนุญาตมากรายเกิน ก็จะไม่ตอบโจทย์ในการช่วยให้ครัวเรือนเข้าถึงแหล่งเงิน เพราะจะกลายเป็นการเพิ่มอุปสรรค ซึ่งส่งผลต่อการอยู่รอด

"ปัจจุบันผู้ประกอบการที่เข้ามาด้วยทุนจดทะเบียนที่ทางการวางเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ว่าต้องไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งมีความสามารถในการปล่อยกู้ ก็ยังไม่ปล่อยกู้เลย เนื่องจากกลัวค่าใช้จ่าย ห่วงว่าเข้ามาทำแล้วจะการขาดทุน หนี้เสียเพิ่ม และยิ่งหากเป็นรายเล็กๆ จากกระแสข่าวที่ว่ากระทรวงคลัง จะลดทุนจดทะเบียนให้รายใหม่เป็นไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ก็ยิ่งจะสร้างปัญหา ทำให้รายเล็ก- รายกลางอยู่ไม่รอด หรือได้ใบอนุญาต แต่ไม่เปิดดำเนินการ "

 เป้าสินเชื่อปี 59 ที่ 180 ล้านบาท

สำหรับแผนธุรกิจปีนี้ บริษัทตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อรวมอยู่ที่ 180 ล้านบาท (สินเชื่อทุกประเภท) เฉพาะนาโนไฟแนนซ์ น่าจะไม่เกิน 30 ล้านบาท นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างเตรียมแผนที่จะขยายโปรดักต์สินเชื่อเพิ่มในอนาคต เช่นสินเชื่อด้านเกษตรกร ที่เกี่ยวกับเครื่องจักร เครื่องมือแรงงานเกษตร รวมถึงสินเชื่อที่เกี่ยวกับการใช้หลักทรัพย์อื่นๆ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น

[caption id="attachment_45769" align="aligncenter" width="392"] นายคณิตเชษฐ์ วัยอัศว  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด  แบรนด์" กู้เงิน กู้ง่าย " นายคณิตเชษฐ์ วัยอัศว
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด
แบรนด์" กู้เงิน กู้ง่าย "[/caption]

เติบโตจากลิสซิ่งแท็กซี่

ส่วน บริษัทไทยเอช แคปปิตอล จำกัด แม้จะเป็นน้องใหม่นาโนไฟแนนซ์ แต่ดำเนินธุรกิจด้านนอนแบงก์ (สถาบันการเงินที่ไม่ใช่แบงก์) มาตั้งแต่รุ่นพ่อ (อมร วัยอัศว กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไทยเอช แคปปิตอล) ก่อตั้งตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติ "ต้มยำกุ้ง" ในชื่อว่า "บริษัทไทยเอช ลิสซิ่งฯ" บริษัทในเครือของกลุ่ม ซึ่งทำธุรกิจให้สินเชื่อกับคนขับรถแท็กซี่ โดยเป็นสินเชื่อที่ให้คนขับรถแท็กซี่สามารถออกรถและเป็นเจ้าของแท็กซี่ได้ ทำอยู่ 2 สี รถแท็กซี่สีฟ้า และรถแท็กซี่ส่วนบุคคล สีเขียว-เหลือง

มาปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่ คณิตเชษฐ์ เรียนจบออกมาพอดีจึงเข้ามาช่วยสานต่อธุรกิจของครอบครัว โดยก่อตั้ง บริษัทไทยเอช แคปปิตอลฯ เปิดให้บริการสินเชื่อรายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบธุรกิจ โดยที่ "ไทยเอช ลิสซิ่ง" กับ "ไทยเอช แคปปิตอล "จะประกอบธุรกิจแตกต่างกัน

" ไทยเอช ลิสซิ่ง" จะทำเฉพาะสินเชื่อรถแท็กซี่เท่านั้น ส่วน "ไทยเอช แคปปิตอล" จะทำสินเชื่อทุกประเภท ตั้งแต่การให้จำนองบ้าน ขายฝากบ้าน ให้เช่าซื้อเครื่องจักร รถใช้ในโรงงาน รถโฟร์กลิฟต์หรือรถยก สินเชื่อในกลุ่มพวกคอมพิวเตอร์ และรถเพื่อการพาณิชย์ (รถยนต์ กระบะ รถบรรทุก ) ต่อมาในปี 2557 ได้ใบอนุญาตสินเชื่อบุคคล ( personal loan) และเมื่อรัฐบาลมีโครงการจะให้ทำนาโนไฟแนนซ์ ทางบริษัทเห็นว่าน่าจะตอบโจทย์ลูกค้าเราเองได้ เพราะเป็นกลุ่มเดียวกันคือเป็นอาชีพอิสระ จึงได้ยื่นความสนใจโดยเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้ใบอนุญาต

 ปีแรกผลดำเนินงานยังไม่ได้เป้า

หลังทดลองตลาดปีแรก คณิตเชษฐ์ ยอมรับว่า ผลดำเนินงานยังไม่เป็นไปตามเป้าที่คาดไว้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมองว่าตลาดนาโนไฟแนนซ์ยังไปได้ แต่บริษัทอาจต้องหาจุดให้เจอก่อน ยกตัวอย่างเช่น คู่แข่งในตลาดสินเชื่อบุคคล จะมีทาร์เก็ตกรุ๊ปที่ชัดเจน เช่นสินเชื่อส่วนบุคคล อาจเป็นพนักงานประจำ สาวโรงงานที่มีเงินเดือน แต่พอเรามาเล่นกับตลาดที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า ความเสี่ยงก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นต้องพยายามหาสูตรสำเร็จที่ว่าจะทำอย่างไรเมื่อให้สินเชื่อไปแล้ว เราสามารถควบคุมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพราะสินเชื่อพวกนี้เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน

ผลดำเนินงานที่ผ่านมา หากเป็น personal loan เบื้องต้นเราตั้งไว้ที่ 5-10 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังปล่อยไม่ได้มากนัก และมีหนี้เอ็นพีแอลในระดับหนึ่ง 2-3% ส่วนนาโนไฟแนนซ์ เพิ่งปล่อยไปเพียงกว่า 1 ล้านบาท เอ็นพีแอลประมาณ 10% กว่า

 เจาะลูกค้าตึกแถว-ศูนย์อาหาร

ความแตกต่างระหว่างสินเชื่อทั้ง 2 ประเภท personal loan เราจะเน้นไปยังลูกค้าที่มีหลักฐานค่อนข้างชัดเจน คือมีเงินเดือนแน่นอนและมีรายได้ต่อเดือนเกิน 3 หมื่นบาท โดยที่เงื่อนไขของไทยเอชจะผ่อนปรนมากกว่า ส่วนนาโนไฟแนนซ์จะเน้นกลุ่มที่ไม่มีอาชีพชัดเจน เช่น พ่อค้า แม่ค้า พวกประกอบอาชีพตามตึกแถวหรือศูนย์อาหาร โดยวงเงินปล่อยกู้เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 3 หมื่นบาท

สินเชื่อ person loan กำหนดดอกเบี้ยที่ 28% แบบลดต้นลดดอกเบี้ย ส่วนใหญ่เป็นการกู้เพื่อฉุกเฉินมากกว่า และอย่างที่บอกว่า ทำไมเรายังหาลูกค้าไม่เจอ เพราะถ้าเซ็ตรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ที่เจออาจมีปัญหาด้านเครดิต และปรากฏว่ามาสมัคร 100 ราย อาจไม่ผ่านสัก 80-90 ราย ซึ่งเรามองว่าคงไม่ใช่ แต่พอเราเซ็ตกลุ่มบน ก็พบว่าเขาเลือกไปหาธนาคารดีกว่า

ดังนั้น niche market ของเราจะเป็นกลุ่มบนที่ต้องการใช้เงินเลย รอธนาคารนานๆ ไม่ได้ เพราะแน่นอนสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยถูกกว่าเราอยู่แล้ว แต่ไทยเอชจะเน้นความรวดเร็ว ในการที่ตอบโจทย์ลูกค้า อย่างลูกค้าบางราย อาจมีคนในครอบครัวสุขภาพไม่ดี ต้องการใช้เงินเลย หากต้องรอแบงก์อนุมัตินานเป็น 2 สัปดาห์คงรอไม่ไหว แต่มาที่เราอนุมัติให้ได้ภายใน 3-4 วันทำการ

เชื่อยังมีศักยภาพโตได้อีกมาก

เขากล่าวว่า ทั้งนาโนไฟแนนซ์ และ personal loan ถือเป็นตลาดใหม่ของบริษัท จึงต้องอาศัยเวลาหา niche market ที่ชัดเจน และต้องเป็นก้อนใหญ่ที่มากพอด้วย อย่างเมื่อสิ้นปี 2558 ไทยเอชมีลูกหนี้ทุกประเภทอยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท จำนวนนี้สัดส่วนกว่า 99% เป็นหนี้ที่มีหลักประกัน (โดยที่ครึ่งหนึ่งหรือ 50% เป็นสินเชื่อประเภทจำนองบ้าน) ส่วนที่เหลือ 1% เป็น personal loan และนาโนไฟแนนซ์ รวมกันไม่ถึง 10 ล้านบาท

สำหรับแผนธุรกิจปี 2559 บริษัท ตั้งเป้าขยายสินเชื่อที่มีหลักประกัน เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ส่วนสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์สุทธิคาดจะยังทรงตัวเท่าปีที่แล้วที่ 1 ล้านบาท และมีแผนขยายสาขาทั้งในกรุงเทพฯปริมณฑล และต่างจังหวัดเพิ่ม 3-4 แห่ง พร้อมพัฒนาบุคลากรรองรับ

"โปรดักต์เราคล้ายกับ บมจ.ศรีสวัสดิ์ เพาเวอร์ 1979 และบจก. เมืองไทยลิสซิ่ง แต่เรายังมีแก๊บและไปได้อีกมาก เพราะเรายังไม่มีสาขา นั่นหมายความว่าโอกาสของเราจากวันนี้ยังไปได้อีกเยอะดังนั้นถ้าเราสามารถขยายสาขาให้ครอบคลุมได้ โอกาสโตก็จะมีมากกว่านี้"

 รัฐมาถูกทางแต่ควรปรับเพดานดบ.เพิ่ม

นายคณิตเชษฐ์ ยังได้กล่าวถึงกรณีที่ทางการ จะปรับลดหลักเกณฑ์นาโนไฟแนนซ์รายใหม่ จากที่ต้องมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท มาเป็น10 ล้านบาท ว่าเมื่อเทียบจากตลาดนอกระบบที่มีขนาดใหญ่แล้ว ถือว่าจำนวนผู้เล่นที่ได้รับใบอนุญาตตอนนี้แล้ว 30 รายยังไม่มาก เพียงแต่ว่าผู้เล่นรายไหน จะอยู่รอด อยู่ได้ต่างหาก ตรงนี้ซิน่าคิด เพราะบริษัทใหม่ ๆเข้ามาเข้ามีต้นทุนทั้งโอเปอเรตอร์ ต้องเซ็ตอัพระบบ ต้องขยายสาขา ฉะนั้นถ้าเขามาทำแล้วไม่คุ้มเสีย ก็ไม่เกิด ปัจจุบันที่เห็นว่าเกิดจะเป็นบริษัทรายเดิมๆ ที่มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว มากกว่าที่เป็นลูกค้ารายใหม่

"คือจริงๆ เราไม่ได้มีต้นทุนแค่หนี้เสีย แต่เรามีต้นทุนด้าน operation cost (ต้นทุนในการดำเนินงาน) อยู่ด้วย ยกตัวอย่างเกณฑ์ของไทยเอชทุก 100 ใบสมัคร จะมีคนผ่าน 10 คน เทียบกับรายอื่นทุก 100 ใบสมัครจะมีคนผ่าน 50 คน ต้นทุนก็ไม่เท่ากันแล้ว ฉะนั้นนอกเหนือจากเอ็นพีแอล ต้นทุนoperation cost ส่วนนี้อาจไม่คุ้ม เพราะเพื่อให้เอ็นพีแอลที่ควบคุมได้ แต่เราต้องไปแลกโอเปอเรชันที่สูงขึ้น เพราะอย่าลืมลูกค้าเราเป็นลูกค้าใหม่ที่เราไม่เคยมีข้อมูลมาก่อน ไม่เหมือนบริษัทที่มีฐานลูกค้าเดิม และมีประวัติของลูกค้าอยู่แล้ว " นายคณิตเชษฐ์ กล่าว พร้อมทิ้งท้ายว่า

ทางการควรพิจารณาปรับเพดานดอกเบี้ย จากที่กำหนดที่ 36% ให้สูงขึ้น เพราะการจะเอาชนะเงินกู้นอกระบบได้ ก็ต้องมีผู้ประกอบการในระบบมากขึ้น ซึ่งการที่ดอกเบี้ยมีอัตราที่สูงขึ้นจะเป็นแรงจูงใจดึงผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เพราะอย่างน้อยที่สุด รัฐบาลก็สามารถจะควบคุมได้ด้วยเครื่องมือต่าง ๆภายใต้การกับกับดูแล

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,149 วันที่ 17 - 20 เมษายน พ.ศ. 2559