NPL เสี่ยงพุ่ง ก้อนใหม่ 1.7 ล้านล. แนะปรับหนี้เชิงรุก เติมเงิน SMEs

09 สิงหาคม 2563

จับตาสินเชื่อ 1.75 ล้านล้านบาท เสี่ยงเป็นหนี้เสียเพิ่ม ซํ้าหนี้เดิมค้างเกิน 60 วันโตพรวดกว่า 253% แตะ 5.45 แสนล้านบาท ลุ้นธปท.เคาะเกณฑ์ปรับโครงสร้าง ออกแพ็กเกจเติมเงินให้เอสเอ็มอี จี้แบงก์เร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก ก่อนเป็นหนี้เสีย สภาหอการค้าฯ ชงผ่อนปรนซอฟต์โลน ขยายเวลาพักหนี้ถึงปลายปี 64 เพิ่มวงเงินสินเชื่อหลักประกันเดิม คิดดอกตํ่า

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ระบุหนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) เกือบ 53% อยู่ในโปรแกรมพักชำระหนี้กว่า 5.45 แสนล้านบาท เป็นลูกหนี้จัดชั้น Stage2 หรือหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM) ก่อนที่จะรับผลกระทบจากโควิด ซึ่งกลุ่มนี้ยังเหนื่อย เพราะหากตัดหนี้ Stage2และ 3 (เอ็นพีแอล) ออกไปแล้วจะมีอีก 1.75 ล้านล้านบาท ซึ่งต้องจับตาว่า จะเป็นความเสี่ยงของสินเชื่อที่จะเป็นหนี้เสียหรือไม่ เพราะในจำนวนนี้ มีทั้งรายที่ได้รับผลกระทบจากโควิดและรายที่ไม่ได้รับผลกระทบ และหวังใจว่ารายที่ไม่รับกระทบจากโควิดจะกลับมา

 

กนง.จี้ปรับหนี้เชิงรุก

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ครั้งล่าสุด ได้ส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจเชิงรุก เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสรายได้ในบริบทใหม่ หลังโควิด-19 คลี่คลาย รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า(ซอฟต์โลน) การคํ้าประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ

 

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธปท.มองแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เชิงรุก ให้ลูกค้าเข้าถึงสภาพคล่องมากขึ้น  ซึ่งต้องคิดหลายเครื่องมือ หลายวิธี ไม่จำกัดเฉพาะลูกหนี้เดิม แต่มุ่งทำให้กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินด้วย หรือทำอย่างไรผู้ประกอบการจะอยู่ได้และรักษาการจ้างแรงงาน ซึ่งขณะนี้้ยังอยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งรายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจ รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มียอดสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท(Debt Holiday) ซึ่งจะครบกำหนดพักชำระหนี้ในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งจากนั้นจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น 

 

ทั้งนี้หากพิจารณาจากความคืบหน้าสถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มูลหนี้ 2.25 ล้านล้านบาท จำนวนบัญชี 1,173,057 ราย จากลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด 12,822,259 บัญชี มูลหนี้ 6.88 ล้านบาท โดยมูลหนี้ของเอสเอ็มอี 2.25 ล้านล้านบาท คิดเป็น 53% ของยอดสินเชื่อเอสเอ็มอีไตรมาสแรกปี 2563 ที่มี 4,207,008 ล้านบาท

 

สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในจังหวัดชลบุรีและเชียงใหม่ เริ่มพยุงรายได้กลับมาจากนักท่องเที่ยวในไทย แต่ในจังหวัดที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติยังต้องรอ เช่น ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ หรือพังงา 

 

ครึ่งปีหลังยังเสี่ยง

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า ช่วงที่เหลือของปียังไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะรัฐบาลยังไม่ลงทุน ประเทศก็ยังไม่เปิด ฉะนั้นความเสี่ยงยังมีอยู่เต็ม ยิ่งเอสเอ็มอีไม่ดีจะยิ่งกระทบ เพราะจ้างแรงงาน 60% จึงกระทบต่อรายได้บุคคล จึงไม่แปลกที่บสย.จะมีตัวเลขปฎิเสธสินเชื่อเพิ่มเป็นกว่า 30% จากเดิมอยู่ที่ 10% เหตุเพราะธุรกิจไม่มีรายได้หลักและกระแสเงินสดไม่ชัดเจน ขณะที่เอ็นพีแอลเพิ่มสูงขึ้น ส่วนรายที่ได้รับเงินกู้ซอฟต์โลนต้องมีรายได้จากธุรกิจอื่นๆด้วย เช่น เกษตรกร พ่อค้าออนไลน์ที่ยังดี  

 

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือ 1.ต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกคือ เร่งปรับโครงหนี้ให้เร็วและรัดกุม เพื่อทำให้ลูกหนี้หรือธุรกิจอยู่รอดอย่างน้อยประคองกันไปอีก 2 ปี เพราะยังไม่รู้ว่าโควิดจะจบลงเมื่อไรหรืออย่างไร ฉะนั้นทางการต้องการให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อ เพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจให้ยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่ตาย เพราะหากธุรกิจตายจะฟื้นช้า นอกจากนั้น ผู้ประกอบการเองต้องปรับกลยุทธ์ ปรับวิธีคิด ทำการค้า เพราะคนซื้อเปลี่ยนวิถี จึงไม่สามารถทำการค้าแบบเดิมได้

รายใหญ่ช่วยรายย่อย

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ในประเทศยังมีสภาพคล่อง สะท้อนเงินฝาก แต่ตราบใดที่คนยังต้องกินต้องใช้ 2.หากสามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ ก็จะดี และ3. ธุรกิจรายใหญ่ช่วยธุรกิจรายย่อย โดยเฉพาะการจ่ายเงินสดทันที เมื่อได้รับสินค้าจากซัพพลายเชน เพราะหากธุรกิจรายใหญ่ต้องการสภาพคล่อง ก็สามารถขอวงเงินกับธนาคารได้ 

 

“ถ้าเริ่มจากผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือระหว่างซัพพลายเชนกัน เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มไทยเบฟ กลุ่มซีพี และอีกหลายกลุ่มในหอการค้า ถ้ารายใหญ่รับสินค้าแล้ว จ่ายเงินสดให้ซัพพลายเชนทันที อาจจะหักเงิน 2% โดยไม่ต้องมีเทอม 120 หรือ 180 วัน ทำแบบนี้ รายย่อยจะรอดได้ เพราะตอนนี้เอสเอ็มอีมีจำนวนมาก ซอฟต์โลนไม่ทั่วถึงผู้ประกอบการทุกราย แต่ดีกว่าไม่มี”

NPL เสี่ยงพุ่ง ก้อนใหม่ 1.7 ล้านล.  แนะปรับหนี้เชิงรุก เติมเงิน SMEs

ปรับเกณฑ์ซอฟต์โลน

นายสนั่น อังอุบลกุล รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ทางหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทยได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรเช่น ธปท. บสย. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และธนาคารออมสิน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

 

ทั้งนี้ที่ประชุมมีข้อเสนอร่วมกัน 3 แนวทางคือ 1.ผ่อนปรนเรื่องซอฟต์โลนที่ภาครัฐออกมาแล้ว แต่ผู้ประกอบการจำนวนมาก ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อก้อนนี้  2.ขอขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ไปจนถึงปลายปี 2564 และ 3.เพิ่มวงเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการที่มีหลักทรัพย์เดิมอยู่กับธนาคารเดิม โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเดียวกับซอฟต์โลน โดยไม่ต้องประเมินหลักประกันใหม่หรือขอเพิ่มหลักทรัพย์

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้มีข้อเสนอมาตรการซอฟต์โลน มาตรการพักชำระหนี้และแนวทางช่วยเหลือทางการเงินรวมทั้งช่องทางต่างๆ โดยธปท.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาเร่งเจรจากับธนาคารก่อนหมดเวลาพักชำระหนี้ ซึ่งปัจจุบันลูกหนี้มีเจ้าหนี้หลายรายและขอให้เร่งติดต่อธนาคาร เพื่อปรับโครงสร้างหนี้สำหรับเรื่องซอฟต์โลนวงเงินใหม่เพิ่มเติม ตอนนี้อยู่ในช่วงที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อที่จะปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินง่ายขึ้น

 

ส่วนบสย.เน้นว่าให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินได้ก่อนดีกว่าที่จะรอเงินดอกเบี้ยตํ่าที่อาจจะมีข้อจำกัดขณะนี้บสย.ร่วมกับออมสินและไทยพาณิชย์ทำ MOU สินเชื่อฉุกเฉิน (Emergency Loan) วงเงิน 20,000 ล้านบาทและกำลังจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์ ทั้งผู้ให้บริการบัตรเครดิต, ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลังให้กู้ยืมแก่บุคคลธรรมดาโดยไม่มีหลักประกัน เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการเพื่อการอุปโภคบริโภค และผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผู้ให้บริการด้านอัตราแลกเปลี่ยนหรือโอนเงินตราต่างประเทศ

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,599 วันที่ 9 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2563