ฟันธง กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เหตุกระสุนเหลือน้อย

04 ส.ค. 2563 | 22:05 น.

คาดกนง.”คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เหตุรอผลจากมาตรการการเงินการคลัง ทีมเศรษฐกิจและบอร์ดกนง.ชุดใหม่ –ประเมินกระสุนเหลือน้อยเก็บไว้ยามจำเป็น

คาดบอร์ดกนง.”คง”อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%ต่อปี เหตุรอผลจากมาตรการการเงินการคลังและรอทีมเศรษฐกิจและบอร์ดกนง.ชุดใหม่ –ประเมินกระสุนเหลือน้อยเก็บไว้ยามจำเป็น-หากปิดเมืองรอบสองหรือเศรษฐกิจทรุดรุนแรงและยาวนาน-แนะใช้ 6มาตรการโฟกัสพยุงเศรษฐกิจ-ภาคธุรกิจและครัวเรือน 

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่ผ่านมา 5ครั้ง โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว  0.75% จากเดิมอัตรา 1.25%สู่ระดับ 0.50% นับจากการประชุมครั้งที่1/2563 เมื่อวันที่ 5 ก.พ.คณะกรรมการกนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ลดอัตราดอกเบี้ยจาก 1.25%เป็น 1.00%ต่อปี ตามด้วยการประชุมนัดพิเศษเมื่อวันที่ 20มี.ค.2563 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยจาก 1.00%เป็น 0.75%ต่อปีและให้มีผลในวันที่23มี.ค.2563 โดยให้เหตุผลว่า การระบาดของ COVID-19 มีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าเดิมที่คาดไว้ในระยะข้างหน้ารวมทั้งจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และการลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้ว
ต่อมา  ในการประชุมครั้งที่2 (เมื่อวันที่25 มีนาคม 2563) คณะกรรมการฯ มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.75% ต่อปีขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  0.25% ต่อปี  ถัดมาการประชุมครั้งที่ 3/2563เมื่อวันที่ 20พ.ค.2563  มีมติ4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีจาก  0.75% เป็น  0.50% ต่อปีโดยให้มีผลทันทีและการประชุมครั้งที่ 4/2563เมื่อวันที่ 24มิ.ย.2563   มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่  0.50 % ต่อปี
 

สำหรับการประชุมกนง.ในวันพุธที่   5 สิงหาคม 2563  นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินท่าทีกนง.มีแนวโน้มจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อัตรา  0.50%ต่อปี  โดยให้เหตุผลเศรษฐกิจไทยที่ยังค่อยฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิดยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกยังมีหลายประเทศที่ประชาชนติดเชื้อ ท่ามกลางความกังวลว่าจะเกิดการปิดเมืองรอบสอง(Second Wave)หรือไม่

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS)ระบุว่า เชื่อว่ากนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้  เหตุผลเพราะเศรษฐกิจมีความซับซ้อนและยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ประกอบกับกนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปก่อนหน้าแล้ว จึงรอดูประสิทธิผลทั้งนโยบายการเงินและด้านการคลัง ขณะเดียวกันการประชุมรอบนี้อยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนบุคลากรทั้งในบอร์ดกนง.และการเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล 
ด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า  กนง.จะพิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เพื่อรอดูภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะตัวเลขจีดีพีของไทยในไตรมาส 2/2563 ที่คาดว่าจะหดตัวลึกสุดในรอบปี  ที่จะเผยแพร่ในวันที่ 17 สิงหาคมนี้  หากตัวเลขหดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็จะเพิ่มแรงกดดันให้ภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้ง คาดว่า กนง. คงจะรอติดตามประสิทธิผลของมาตรการการเงินและการคลังที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้  และกนง.คงจะไม่พิจารณาเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเปลี่ยนผ่านทีมเศรษฐกิจทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ขณะที่ความสามารถในการดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลัง (policy space) มีจำกัดมากขึ้น ธปท.คงพยายามเน้นนโยบายที่จะมีประสิทธิผลต่อภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนและที่มีผลกระทบต่อกลไกทางเศรษฐกิจมากที่สุด 
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น โดยปัจจุบันมีการระบาดซ้ำในหลายประเทศที่ดูจะรุนแรงกว่าในรอบแรก ขณะที่การพัฒนาวัคซีนยังต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะผลิตออกมาใช้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้าและกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่พึ่งการส่งออกและท่องเที่ยว ขณะมาตรการเยียวยารอบแรกใกล้จะสิ้นสุดและยังมีการว่างงานสูงซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งกำลังซื้อและเศรษฐกิจในประเทศต่อไปจึงเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ภาครัฐต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า หากสถานการณ์มีความจำเป็น เช่น เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทรุดตัวอย่างรุนแรงและยาวนานกว่าที่คาดไว้ หรือเกิดเหตุการณ์โควิดระบาดซ้ำ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็อาจมีความเป็นไปได้ในระยะข้างหน้า
 

ดร.อมรเทพ  จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า สำนักวิจัยคาดว่ากนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปี ซึ่งการคงดอกเบี้ยรอบนี้เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายไว้ใช้ยามจำเป็น   เพราะมีความเสี่ยงต่างๆในช่วงครึ่งปีหลังอาจทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาหดตัวจากไตรมาสที่2ได้อีก 
“ ผมมองว่ากนง.มีกระสุนเหลือน้อย  แม้เศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาสสองแต่การฟื้นตัวครึ่งปีหลังยังเต็มไปด้วยความเสี่ยง หากโชคร้ายเกิดวิกฤติปิดเมืองรอบสองหรือSecond Wave คาดว่ากนง.จะใช้เครื่องมืออื่นพยุงเศรษฐกิจตาม 6มาตรการเพื่อให้เห็นว่านโยบายการเงินไทยยังไม่ถึงทางตัน”
    โดยเฉพาะหากเกิด Second wave ทางกนง.จะเหลือกระสุนน้อย  ซึ่งเครื่องมือที่ทางกนง.อาจหยิบมาใช้ในการพยุงไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวแรงหรือพยายามลดภาระทางการเงินให้แก่ผู้กู้ในช่วงปิดเมืองรอบสองได้แก่ 1. ลดการเก็บดอกเบี้ยเข้ากองทุนฟื้นฟูอีกจนหมด ซึ่งจะช่วยลดดอกเบี้ยได้ไม่ต่ำกว่า 0.23%  2. ลดดอกเบี้ยนโยบายจนหมด จาก 0.50% เหลือ 0% ซึ่งต่ำอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน 3. ขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์ลดดอกเบี้ยลงอีก หรือ moral suasion เพื่อช่วยกันลดภาระทางการเงินของผู้กู้และอาจขอให้ช่วยปล่อยสินเชื่อเพื่อสนับสนุนลูกค้ารายย่อยหรือ SME บางประเภทที่ได้รับผลกระทบ   4.ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้ เพื่อให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมีกระแสเงินหมุนเวียนเพียงพอและอาจใช้จังหวะเวลาช่วงนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาว แต่ก็ควรสร้างแรงจูงใจให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจน้อยและมีความสามารถในการชำระหนี้ กลับเข้ามาชำระหนี้ตามปกติเพื่อให้ธนาคารมีเงินทุนไปปล่อยสินเชื่อต่อได้
5. ผ่อนคลายกฏระเบียบการกำกับสถาบันการเงินให้ปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้น หรือผ่อนคลายเกณฑ์การใช้ soft loan ของกลุ่ม SME ให้คล่องตัวมากขึ้นเพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้  และ 6. ธปท.อาจให้น้ำหนักการใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนหรือเข้าแทรกแซงเพื่อให้เงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น