สแตนชาร์ตลุ้น 2ตัวแปร -หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงิน

16 ก.ค. 2563 | 13:05 น.

สแตนชาร์ตจับทางกนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนส.ค.นี้-ชี้แนวโน้มตลาดผันผวน จับตามาตรการกระตุ้นและเงินทุนไหลเข้า- คาดสิ้นปีเงินบาทแตะ 31บาทต่อดอลลาร์

ยืนเป้าจีดีพีทั้งปีติดลบ 5%ไตรมาส2หดตัว 13%ลุ้น2ตัวแปร  “ประสิทธิภาพและความต่อเนื่องนโยบายคลัง และความชัดเจนนโยบายการเงิน” หนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจและเสถียรภาพตลาดการเงิน –จับทางกนง.ลดดอกเบี้ยอาร์พีในการประชุมเดือนส.ค.นี้ ชี้แนวโน้มตลาดผันผวน จับตามาตรการกระตุ้นและเงินทุนไหลเข้า- คาดสิ้นปีเงินบาทแตะ 31บาทต่อดอลลาร์

สแตนชาร์ตลุ้น 2ตัวแปร -หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเงิน

ดร.ทิม  ลีฬหะพันธุ์  นักเศรษฐศาสตร์ SCBT กล่าวว่า ธนาคารยังคงประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ของประเทศไทยปีนี้หดตัว 5%  โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 จะหดตัวที่ 13% และฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี โดย ประสิทธิภาพและความต่อเนื่องของนโยบายการคลัง และความชัดเจนของทิศทางนโยบายการเงิน เป็นตัวแปรสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทยและเสถียรภาพตลาดการเงิน 
การเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจและการระบาดของโควิด-19ในระยอง เป็นปัจจัยด้านลบต่อเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมานโยบายการคลังและนโยบายการเงินช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ดี อย่างไรก็ตาม ตลาดติดตามดูต่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร มีความต่อเนื่องไหม ส่วนอัตราเงินเฟ้อปีนี้มีแนวโน้มจะติดลบ 1%ก่อนจะกลับมาเป็นบวก 1%ในปีหน้า”

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดการเงินยังมีความผันผวน  เพราะในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนราว 5แสนล้านบาท โดยไตรมาส3ที่จะครบกำหนด 3แสนล้านบาท ซึ่งต้องติดตามความสามารถในการชำระคืน 
  

ดร.ทิมกล่าวถึงแนวโน้มค่าเงินบาท โดยคาดว่าสิ้นปี 2563 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หรืออาจจะแข็งกว่านั้นที่ 30 บาทต่อดอลลาร์  หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นต่อเนื่อง  โดยช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 มีเงินทุนออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยสุทธิราว 1.3 แสนล้านบาท แต่ในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม มีเงินทุนกลับเข้ามาในตลาดสุทธิประมาณ 5 หมื่นล้านบาทคาดว่าช่วงที่เหลือจะมีเงินไหลเข้าอีกประมาณ 1แสนล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในระยะที่ต้องเฝ้าระวัง ถ้ามีเงินทุนกลับเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อ นอกจากนี้ หากไทยกลับมาเปิดภาคท่องเที่ยวอีกครั้งได้สำเร็จ จะเป็นปัจจัยบวกกับค่าเงินบาทยิ่งขึ้น
  

 สำหรับมุมมองต่อการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในเดือนสิงหาคม( วันที่ 5 สิงหาคม 2563) คาดว่า กนง.จะปรับลดลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์พี)ลงอีก 0.25% ต่อปี โดยจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 0.25% ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยกำลังจะเข้าสู่ระดับ 0% ตลาดการเงินกำลังรอการสื่อสารที่ชัดเจนจาก ธปท. ว่าจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างไรต่อไปที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับภาคธุรกิจจริงๆ นอกเหนือจากผลต่อตลาดการเงิน ดอกเบี้ยติดลบจะเกิดขึ้นในไทยหรือไม่