สรรพสามิต รื้อระบบจัดเก็บภาษีเบียร์ เชื่อดันรายได้เพิ่ม 8,000 ล้าน

14 ก.ค. 2563 | 09:52 น.

"กรมสรรพสามิต" เตรียมนำระบบเก็บ"ภาษีเบียร์"ใหม่ มาใช้กับการจัดเก็บภาษีเบียร์ เชื่อช่วยเพิ่มรายได้ 8,000 ล้านบาทต่อปี ด้านไทยเบฟ-บุญรอด ขานรับ พร้อมทำตามเต็มที่

กรมสรรพสามิต เตรียมนำระบบเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding) มาใช้ในการจัดเก็บ "ภาษีเบียร์" หลังระบบเดิมใช้ Flow meter  สอบทานเป็นระบบเก่า ที่ใช้มากกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2526 ขณะที่อุตสาหกรรมเบียร์โตขึ้น เชื่อจะทำให้ มีรายได้จากภาษีเบียร์สูงขึ้นปีละ 8,000 ล้านบาท

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดี กรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมฯตั้งเป้าจะนำระบบเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีบนบรรจุภัณฑ์ (Direct Coding)มาเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์กระป๋องและเบียร์ขวดในโรงงานผลิตเบียร์ทั้ง 8 แห่งทั่วประเทศ ภายในต้นปี 2564 เพื่อทดแทนระบบเดิม

 

สรรพสามิต รื้อระบบจัดเก็บภาษีเบียร์ เชื่อดันรายได้เพิ่ม 8,000 ล้าน

 

ทั้งนี้ระบบจัดเก็บภาษีเดิมจะเก็บจากจำนวนสินค้าที่ออกจากหน้าโรงงาน โดยมีระบบ Flow meter ซึ่งติดตั้งอยู่ในสายการผลิตช่วยสอบทานเท่านั้น โดยเชื่อว่า ระบบใหม่จะทำให้กรมฯ มีรายได้การเก็บภาษีเบียร์สูงขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี จากปีก่อนที่จัดเก็บได้ 79,090.86 ล้านบาท

“การเก็บภาษีเบียร์ที่ใช้ระบบ Flow meter  สอบทานเป็นระบบเก่า ที่ใช้มากกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2526 ซึ่งขณะนั้นอุตสาหกรรมเบียร์และการเก็บภาษีเบียร์ยังไม่โตขนาดนี้ โดยมีการเสียภาษีเพียงปีละ 2,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันภาษีเบียร์เพิ่มเป็น 70,000-80,000 ล้านบาท และตั้งแต่ปี 2560 กรมได้นำเทคโนโลยีมาช่วยเก็บภาษีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระบบ QR Code มาใช้กับภาษีบุหรี่ และสุราไปแล้ว และหลังจากนี้จะเริ่มปรับปรุงใช้กับเบียร์ด้วย”นายพชรกล่าว

สรรพสามิต รื้อระบบจัดเก็บภาษีเบียร์ เชื่อดันรายได้เพิ่ม 8,000 ล้าน

สำหรับการเก็บภาษีด้วยระบบ Direct Coding ในสินค้าเบียร์ กรมฯได้เปิดให้บริษัทเอกชนเข้าร่วมประมูล เพื่อรับบริหารจัดการพิมพ์รหัสการเสียภาษีบนกระป๋องและขวดเบียร์ โดยกรมสรรพสามิตไม่ต้องลงทุนเอง หรือใช้งบประมาณจากรัฐแต่อย่างใด ซึ่งคาดว่าค่าพิมพ์สแตมป์ 25 สตางค์ต่อกระป๋อง ตลอด 7 ปี ประมาณ 8,000 ล้านบาท

 

วงเงินโครงการในการพัฒนาระบบใหม่มีกรอบกำหนดไว้ประมาณ 8,000 ล้านบาท ในระยะเวลา 7 ปี โดยใช้เงินจากกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่ได้เงินงบประมาณแต่อย่างใด

"เราไม่ได้เงินทั้ง 8,000 ล้านบาทนั้นมาเลยในคราวเดียว เพียงแค่กำหนดกรอบไว้เท่านั้น แต่ก็จะทยอยได้เงินนั้นในช่วง 7 ปีที่ระบบนี้ใช้งานอยู่ ดังนั้นจึงไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่ใดๆแน่นอน"นายพชร กล่าว

ด้านนายพิษณุ วิเชียรสรรค์ กรรมการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงงานผลิตเบียร์อยู่ 3 แห่ง มีกำลังการผลิต 1,540 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งทุกโรงงานพร้อมดำเนินการตาม แนวทางการจัดเก็บภาษีที่ กรมสรรพสามิต พิจารณาแล้วว่าเหมาะสม เพื่อให้การเก็บภาษีตรงไปตรงมาที่สุด โดยเรื่องนี้บริษัทไม่ต้องลงทุนเอง แต่กรมสรรพสามิตจะเป็นผู้ดำเนินการให้

สรรพสามิต รื้อระบบจัดเก็บภาษีเบียร์ เชื่อดันรายได้เพิ่ม 8,000 ล้าน

เช่นเดียวกับนายสุรสิทธิ์ ทองจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักภาษีแลรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะให้โรงงานผลิตเบียร์ทั้ง 3 โรง ปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงการคลังเต็มที่ ในการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีใหม่ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่