สรรพากรคาด ภาษี e-Service สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

10 ก.ค. 2563 | 12:17 น.

สรรพากรคาดเก็บ "ภาษี e-Service" ต้นปี 64 จากผู้ให้บริการต่างประเทศ เช่น เฟสบุ๊ก ยูทูป คาดรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ โฆษก กรมสรรพากร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการบังคับใช้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติ หรือ พ.ร.บ.ภาษี e-Service หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไปเมื่อต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องส่งร่างดังกล่าวให้ประชุม สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา หากเห็นชอบก็จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ในปีภาษี 2564

 

สรรพากรคาด ภาษี e-Service สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท

สำหรับภาษี e-Service นั้นจะจัดเก็บกับผู้ให้บริการต่างประเทศ ทั้งแพลตฟอร์มดูหนัง เล่นเกมส์ นายหน้า สื่อโฆษณา ตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงบริการอีคอมเมิร์ซ เช่น Facebook, YouTube, Google, Line, Netflix และ Lazada ที่ให้บริการในประเทศไทยและมีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อนำส่งรายได้ให้กับกรมสรรพากร 7% ของค่าบริการ

ทั้งนี้ เป้าหมายการจัดเก็บ ภาษี e-Service ในปีแรกนั้น จะอ้างอิงจากฐานในปี 2562 ที่คาดว่าจะได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่จากการระบาดของโควิด-19 พบว่า มีผู้ใช้บริการทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ก็คาดว่าจะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้ให้บริการในประเทศไทยที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เพราะในแต่ละปีผู้ให้บริการต่างประเทศได้รายรับปีละ 40,000 กว่าล้านบาท แต่ไม่เคยเสียภาษี โดยยืนยันว่า ผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ ก็พร้อมที่จะเสียภาษีดังกล่าวแล้ว

 

ส่วนกรณีที่ กรมสรรพากร ติดหมายเรียกเก็บภาษีอดีตข้าราชการ ทั้งๆ ที่ไม่เคยจัดตั้งบริษัท นั้น นางสมหมาย ชี้แจงว่า ว่าเป็นไปตามข้อระเบียบของกรม โดยที่ผ่านมาสรรพากรพื้นที่ได้รับเรื่องให้ตรวจสอบ จึงได้ขออนุมัติออกตรวจสภาพกิจการของบริษัทดังกล่าว แต่จากการออกตรวจพบว่าสถานประกอบการปิด และจากการขอคัดหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าบริษัทฯได้แจ้งเลิกไปแล้ว

 

ดังนั้นกรมจึงต้องส่งหนังสือเชิญพบตามที่อยู่ของผู้ชำระบัญชีที่แจ้งไว้ต่อทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และได้ขออนุมัติสรรพากรพื้นที่ส่งหนังสือเชิญพบด้วยตนเอง หากไม่สามารถส่งได้หรือไม่มีผู้รับ จึงได้ปิดหนังสือเชิญพบดังกล่าว และในการปิดหนังสือเชิญพบเจ้าหน้าที่ได้แจ้งความตำรวจ เพื่อเป็นพยานว่ามิได้ทำให้เกิดความเสียหายใดๆ อย่างไรก็ตามอดีตข้าราชการรายดังกล่าว สามารถดำเนินการชี้แจง หรือ ร้องทุกข์ได้อยู่แล้ว ซึ่งกระบวนการถัดไปจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสืบสวนในการตรวจสอบพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป