การออมระยะยาวที่มาพร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี

12 ก.ค. 2563 | 19:00 น.

อย่างที่รู้กันว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว และกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์แบบในปี 2564 จากการที่จะมีประชากรกว่า 20% ของประเทศจะมีอายุมากกว่า 60 ปี แต่การเตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยยังไม่พร้อมเท่าที่ควรทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะเรื่องของเงินออม

ที่น่ากังวลขึ้นไปอีกคือ จากผลการสำรวจด้านการวางแผนทางการเงินหลายชิ้นในไทยยังชี้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Gen-Y มีการวางแผนทางการเงินในระดับตํ่า โดยเฉพาะกลุ่ม first jobber จากข้อมูลงานวิจัยของธนาคาร ทหารไทยร่วมกับไวท์ไซท์พบว่า คนกลุ่ม Gen-Y กว่าครึ่ง มีหนี้และมีภาระหนี้เฉลี่ยสูงถึง 4.2 แสนบาทต่อคน รวมทั้งมีทัศนคติที่ให้ความสำคัญต่อการออมน้อยกว่าคนกลุ่ม Gen-X และกลุ่มเบบี้บูม

ทัศนคตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วที่คนรุ่นใหม่รู้สึกถึงประโยชน์ของการออมลดลง

ภาครัฐจึงพยายามส่งเสริมการออม ซึ่งปัจจุบันมี 2 รูปแบบคือ การออมภาคบังคับคือ  กองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบข.) และการออมภาคสมัครใจที่จูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษี กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และที่กำลังจะออกมาอีกอันคือ กองทุนบำนาญแห่งชาติ (กบช.) 

การออมระยะยาวที่มาพร้อมสิทธิลดหย่อนภาษี

กองทุน SSF เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ที่เข้ามาแทนกองทุนหุ้นระยะยาว(LTF) ที่หมดอายุไป โดยผู้ที่ลงทุนในกองทุน SSF สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อนับรวมกับกองเกษียณอายุอื่นๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2563 ไปจนถึงปี 2567 สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท รวมถึงตราสารหนี้(หุ้น)และกองทุนรวม และต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ แบบวันชนวัน เช่นซื้อ 1 มิถุนายน 2563 ขายได้ 1 มิถุนายน 2573 

ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ผู้ลงทุนใน “SSF แบบพิเศษ” หรือ SSFX เพื่อกระตุ้นการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่ง SSFX คล้ายกับ SSF ธรรมดา แต่มีนโยบายลงทุนในหุ้นไม่น้อยกว่า 65% และสามารถนำเงินที่ลงทุนมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มอีก 2 แสนบาท นอกเหนือจากวงเงินเดิม แต่ต้องเป็นการซื้อระหว่างวันที่ 1 เมษายน -30 มิถุนายน 2563 เท่านั้น 

ปรากฎว่าช่วง 3 เดือน มีกองทุน SSFX รวม 20 กองทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 15 แห่ง มีทั้งกองทุนตราสารทุนและกองทุนผสม(เน้นลงทุนในหุ้นไทย)มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 8,885 ล้านบาท 

ใครที่ซื้อ SSFX ไม่ทัน ไม่เป็นไร เพราะยังมี SSF ให้ลงทุนได้อีก ซึ่งจะมีกองทุนที่มีหลากหลาย ทั้งลงทุนในตราสารหนี้ ตราสารทุน และอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และยังจะมีกองทุน SSF เปิดใหม่ให้ได้เลือกพิจารณาลงทุนได้มากขึ้น ตามความเหมาะสมกับแผนการลงทุนระยะยาวพร้อมกับได้ลดหย่อนภาษี  

การเลือกกองทุนเพื่อการลงทุนในระยะยาวอย่าง SSF ที่ต้องถือครองหน่วยลงทุนอย่างน้อย 10 ปี หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ ค่าธรรมเนียมกองทุน โดยจากข้อมูลของกองทุน SSF และ SSFX กว่า 40 กอง มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนรายปีตั้งแต่ 0.32-2.68% โดยกลุ่มกองทุนที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมระดับตํ่าคือ กองทุนตราสารหนี้ ตราสารตลาดเงิน ในขณะที่กองทุนหุ้นหรือกองทุนผสมจะมีการเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์การลงทุนของแต่ละกองทุน ซึ่งกองทุนที่เก็บค่าธรรมเนียมการจัดการตํ่ากว่า 1% มักจะเป็นกองทุนดัชนี กองทุนตราสารหนี้ 

วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้เห็นว่า เงินออมของแรงงานไทย อยู่ได้น้อยกว่า 6 เดือน เงินออมที่มีไม่สามารถรองรับกับภาวะช็อคแบบปัจจุบันทันด่วนที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้น  New normal หนึ่งที่คนไทยเรียนรู้จากโควิดคือ ต้องเร่งออมให้มากขึ้นและมีวินัยตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ 

การเกษียณ หลายคนอาจจะมองว่า เป็นเรื่องไกลตัว อาจไม่ได้สนใจ แต่การสร้างแรงจูงใจให้คนตระหนักและเริ่มออมเงินโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตระยะยาวได้ 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563