นักวิเคราะห์มอง แนวโน้มหุ้นไตรมาส 3 ยังมีทิศทางลบ

02 ก.ค. 2563 | 08:14 น.

นักวิเคราะห์มอง จีดีพีปี 63 หดตัว 7.21% แนวโน้มหุ้นไตรมาส 3 ยังมีทิศทางลบ คาดดัชนีสิ้นปีเฉลี่ย 1,383จุด สูงกว่าผลสำรวจครั้งก่อน

นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุนเปิดเผยว่า ผลการสำรวจความเห็นของ นักวิเคราะห์ และ ผู้จัดการกองทุน ต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย  (SET Index) ในครึ่งหลังปี 2563 พบว่า มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 20 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ 15 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน  4 บริษัทและบริษัทโกลด์ ฟิวส์เจอร์ส 1 บริษัท ซึ่งได้ปรับสมมติฐานหลักเป็นปัจจุบันแล้ว

นักวิเคราะห์มอง แนวโน้มหุ้นไตรมาส 3 ยังมีทิศทางลบ

สำหรับผลสำรวจพบว่า สมมติฐานด้าน GDP ปีนี้ มีค่าเฉลี่ยการขยายตัวที่  -7.21%  ส่วนสมมติฐาน GDP ปี 2564 นั้นผู้ตอบทุกรายมองว่า เป็นบวกเฉลี่ยที่ 4.24% และไม่มีผู้ตอบที่มองแย้งว่า GDP ปี 64 จะติดลบ

ขณะที่นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน 45% มองว่า ดัชนีราคาหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3 มีแนวโน้มไปในทิศทางลบ ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถาม 35% มองไปในในทิศทาง Sideways หรือไม่เปลี่ยนแปลงไปมากจากไตรมาส 2 และ 20% มองว่า ตลาดจะเปลี่ยนแปลงในทิศทางบวก และคาดว่า ดัชนีราคาหุ้นไทย ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,347 จุด”

นักวิเคราะห์มอง แนวโน้มหุ้นไตรมาส 3 ยังมีทิศทางลบ

 

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อการขับเคลื่อนตลาดในไตรมาส 3 นั้นนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า สถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 รวมถึงความเสี่ยงของการเกิด Second Wave เป็นปัจจัยลำดับแรกที่มีอิทธิพลต่อทิศทางราคาหุ้นไทยระยะสั้น รองลงมาคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและผลประกอบการ ตามลำดับ

 

สำหรับจุดสูงสุดของ SET Index ในช่วง ก.ค.ถึงสิ้นปี 2563 เฉลี่ยที่ระดับ 1,448 จุด และจุดต่ำสุดของดัชนี ระหว่างปีนับจากนี้มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุดที่ 1,236 จุด  โดยเป้าหมาย ดัชนี ณ วันสิ้นปี 2563 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,383จุด ซึ่งมากกว่า ผลสำรวจของไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1,276 จุด”

 

ขณะที่ด้านราคาน้ำมัน ผู้ตอบแบบสอบถามได้ปรับใช้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบ เฉลี่ยของปี 2563 ที่ 41.13 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยแยกตามกลุ่มมีผู้ตอบคือ 35-39.99 บาท มีผู้ตอบ 10.53% 40-44.99 บาท มีผู้ตอบ 63.16% และ 45-49.99 บาท มีผู้ตอบ 26.32%

สำหรับปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในครึ่งหลังของปี 2563 ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก ผู้ตอบแบบสำรวจ 95% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก รองลงมาผู้ตอบ 70% คาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา (FED) และผู้ตอบ 50% คาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศจะส่งผลบวก ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่มีปัจจัยใดที่มีผู้ตอบถึง 50% ที่ระบุว่าเป็นบวก

นักวิเคราะห์มอง แนวโน้มหุ้นไตรมาส 3 ยังมีทิศทางลบ

 

ส่วนปัจจัยที่จะ ส่งผลในด้านลบ ต่อตลาดทุนไทยในครึ่งหลังปี 2563 คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจต่างประเทศทั้ง อเมริกา ยุโรป เอเชียรองลงมาคือ ปัจจัยด้านผลประกอบการของบจ.และสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด- 19 เป็นปัจจัยที่มีเสียงโหวต 80% ขึ้นไปและเศรษฐกิจภายในประเทศ 75% ตามลำดับ

นักวิเคราะห์มอง แนวโน้มหุ้นไตรมาส 3 ยังมีทิศทางลบ

เป็นที่น่าสังเกตุว่าปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศนั้นไม่มีผลมากนักต่อทิศทางราคาหุ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยมีผู้ตอบเพียง 10% ที่มองว่าจะเป็นผลบวก และมีผู้ตอบ35% ที่มองแย้งว่าจะเป็นผลลบ

 

นอกจากนั้นสมาคมนักวิเคราะห์ฯยังได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะว่า ภาครัฐควรเร่งนโยบายเรื่องใดที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจพบว่า ส่วนใหญ่เสนอให้ภาครัฐใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อ 47.06% ของผู้ตอบได้แก่ ชดเชยรายได้ การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ฯลฯ

ส่วนด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ มีผู้ตอบ 41.18% ข้อเสนอได้แก่ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลง หรือการชดเชยอื่นๆ ที่เป็นรูปธรรมให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ นอกเหนือจากข้อเสนอดังกล่าว มีผู้ตอบ 35.29% ที่เสนอให้ภาครัฐเร่งโครงการลงทุนภาครัฐ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน

ด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะปรับลด 0.25% ในครึ่งหลังของปี 2563 ถึง 60% ของผู้ตอบและคาดว่าคงที่ 40% ตามลำดับ และ คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดเฉลี่ยที่ 65.44 บาท ลดจากการสำรวจครั้งก่อน 79.70 และ EPS ของงบปี 2563 คาดว่า EPS Growth เฉลี่ยอยู่ที่ -22.30%