ครม.ไฟเขียวลดเงินนำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐเหลือ 0.125%

30 มิ.ย. 2563 | 12:16 น.

ครม.ไฟเขียว ลดเงินนำส่ง เข้ากองทุนแบงก์รัฐเหลือ 0.125% ต่อปี หลังธปท.ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูของแบงก์พาณิชย์เหลือ 0.23% ก่อนหน้า

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ผ่อนปรนให้ธนาคารพาณิชย์ ลดเงินนำส่ง เข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จาก 0.46% ต่อปีเหลือ 0.23% ต่อปี  ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 30 มิถุนายน มีมติเห็นชอบให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากเดิม 0.25% ต่อปี เหลือ 0.125% ต่อปี ของยอดเงินฝากที่ได้รับจากประชาชน เป็นเวลา 2 ปี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ครม. มีมติเห็นชอบตามที่ ธอส.นำเสนอผ่านกระทรวงการคลัง ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ลดเงินนำส่ง เข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ระหว่างปีปี 2563 และ 2564 เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจลดต้นทุนทางการเงิน เพิ่มบทบาทในการสนับสนุนภาคธุรกิจและภาคประชาชน ให้มีต้นทุนทางการเงินหรือภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลง

ครม.ไฟเขียวลดเงินนำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐเหลือ  0.125%

 

ทั้งนี้ จากนี้หากประกาศกระทรวงการคลังในเรื่องดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้แล้ว ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้าน และเป็นธนาคารบ้านของคนไทย พร้อมที่จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงในไตรมาสที่ 3 เพื่อช่วยให้ลูกค้าปัจจุบันของธนาคารสามารถลดภาระหนี้เงินต้นคงเหลือได้เร็วขึ้น ส่วนผู้กู้รายใหม่ ก็จะมีโอกาสได้รับวงเงินกู้ที่สูงขึ้นด้วยรายได้สุทธิจำนวนเท่าเดิม

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของ ธอส. ปัจจุบันประกอบด้วย อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อยู่ที่ 6.150% ต่อปี อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) อยู่ที่ 5.750% ต่อปี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้เบิกเกินบัญชี (MOR) อยู่ที่ 5.900% ต่อปี