ธปท.ชี้ 3ปัจจัยเสี่ยงกดเศรษฐกิจไทย

30 มิ.ย. 2563 | 10:29 น.

ธปท.ประเมิน 3 ปัจจัยเสี่ยงครึ่งปีหลัง จับตาเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก-เผยเครื่องชี้ในประเทศเดือน พ.ค.หดตัวสูงโดยเฉพาะมูลค่าส่งออกไม่รวมทองคำติดลบ 29% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ห่วงตลาดแรงงานเปราะบางกดกำลังซื้อ-ยันสถานะแบงก์ไทยแกร่ง

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงข่าวเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคม 2563 โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยหดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจากเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้นในทุกด้าน ทั้งจากอุปสงค์ต่างประเทศทั้งภาคการท่องเที่ยวที่ยังหดตัวสูง จากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ และภาคการส่งออกสินค้าที่หดตัวสูงขึ้น ตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่อ่อนแอ และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน และภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวสูงขึ้น 


อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง และมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบมากขึ้น ตามอัตราเงินเฟ้อ หมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลงสำหรับตลาดแรงงานเปราะบางขึ้นมาก ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดใกล้สมดุล ส่วนดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิ ทางด้านสินทรัพย์และด้านหนี้สิน

 

"จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่องที่ 100% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทย ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธุรกิจและแรงงานในภาคที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว แต่คาดว่าครึ่งปีหลังจำนวนนักท่องเที่ยว จะเข้ามา 1.3 ล้านคนและเศรษฐกิจโลกน่าจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 แล้ว และจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยด้วย"

 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหดตัวสูงขึ้นที่ 23.6 %จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ 29.0% เป็นการหดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ โดยหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้าและมีเพียงการส่งออกทองคำและสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ตามการส่งออกผลไม้ไปจีนเป็นสำคัญ ส่วน ส่งออกรถยนต์มีแนวโน้มดีขึ้น และแนวโน้มรายตลาดการส่งออกมีจีนเพียงประเทศเดียวที่ขยายตัวได้ ส่วนมูลค่าการนำเข้าหดตัวค่อนข้างแรงที่ 34.2%

ธปท.ชี้ 3ปัจจัยเสี่ยงกดเศรษฐกิจไทย

ด้านเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนหดตัว12.5%สูงต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายหดตัวในทุกหมวด จากปัจจัยสนับสนุนด้านกำลังซื้อภาคครัวเรือนที่ยังอ่อนแอ ทั้งในมิติการจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ โดยตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น จากสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิ์ว่างงาน มีจำนวน 3.3 แสนคน และถูกเลิกจ้างประมาณ 1 แสนคนคิดเป็นสัดส่วน 22% ของผู้ขอรับสิทธิ์ ประกันสังคม โดยยังไม่รวมถึงการว่างงานจากนอกภาคประกันสังคม

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคมเริ่มมีการทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการระบาดของโรค COVID-19 ทำให้กิจกรรมบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินการได้ รวมทั้งได้รับแรงพยุงจากมาตรการเยียวยาของภาครัฐ ประกอบกับรายได้เกษตรกรหดตัว4.3%น้อยลง จาก9.1%แต่ ราคาสินค้าเกษตร หดตัว3.0%


สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนหดตัว 12.5%สูงขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งมีกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มาก แม้การลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีสัญญาณที่ดีขึ้นแต่ยังไม่เห็นผลชัดเจน เพราะความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง


มูลค่าการนำเข้าสินค้าหดตัวสูงขึ้นมากที่ 34.2 %จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเป็นการหดตัวสูงในทุกหมวดสินค้า ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง และสินค้าทุน สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่อ่อนแอ โดยการนำเข้าสินค้าที่ลดลงมากในเดือนนี้ทำให้ดุลการค้าปรับสูงขึ้น แม้การส่งออกสินค้าจะหดตัวสูง


สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐยังสะท้อนบทบาทการพยุงเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ หดตัวสูง แต่รายจ่ายประจำที่ไม่รวมเงินโอนและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว 1.5% และ 11.2%ตามลำดับ หลังจากที่ขยายตัวสูงในเดือนมีนาคมและเดือนเมษายน ทำให้รายจ่ายรัฐบาลที่ไม่รวมเงินโอนโดยรวมแล้วทรงตัว แม้รายจ่ายลงทุนที่ไม่รวมเงินโอนอยู่ที่8.1%จะขยายตัวต่อเนื่อง
 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีความเปราะบางมากขึ้น โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ3.44%มากขึ้นจากเดือนก่อน จากอัตราเงินเฟ้อในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับลดลง -0.01%โดยอาจติดลบในช่วงที่เหลือของปีนี้ 

ธปท.ชี้ 3ปัจจัยเสี่ยงกดเศรษฐกิจไทย
นายดอนกล่าวถึง 3 ปัจจัยเสี่ยงช่วงที่เหลือ ว่า 1. หากเศรษฐกิจโลกเกิดอุบัติเหตุจากการระบาดรอบที่ 2 ของโควิดอย่างรุนแรง จนต้องปิดประเทศอาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่านี้ 2.แนวโน้มสถานการณ์ของสงครามทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ และ 3.เสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยจะติดตามตลาดพันธบัตรว่าจะผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ 


ส่วนในประเทศนั้น ภาครัฐมาถูกทางเห็นได้จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)จัดสรรงบฟื้นฟู 4แสนล้านบาทโดยเน้นเรื่องการจ้างงาน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการที่ดีและมีการใส่เงินที่ถูกจุด


ต่อข้อถามถึงแนวโน้มเอ็นพีแอล นายดอนระบุว่า เอ็นพีแอลคงจะเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคมแต่ไม่กระทบธนาคารพาณิชย์ เพราะ นอกจากธนาคารพาณิชย์จะมีเงินทุนที่เข้มแข็งพร้อมรับเศรษฐกิจไทยที่จะหดตัวได้สูงที่สำคัญธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลความสามารถในการชำระหนี้และมีมาตรการยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ ขณะที่ภาครัฐได้มีมาตรการเยี่ยวยาเช่นกัน