คนกรุงว่างงานพุ่ง พ.ค.แตะ 9.6% ผลกระทบโควิด-มาตรการล็อกดาวน์

05 มิ.ย. 2563 | 01:22 น.

ว่างงานพุ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยผลสำรวจระบุ เดือน พ.ค. อัตราว่างงานคนกรุงและปริมณฑลแตะ 9.6% ผลกระทบจากโควิด-มาตรการล็อกดาวน์ คาดเพิ่มสูงสุดไตรมาส 2/63

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจสภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในช่วงวันที่ 21-28 พ.ค. 2563 พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้ 

อัตราการว่างงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เดือนพ.ค. 2563 อยู่ที่ 9.6% จากการสุ่มสำรวจภาวะการมีงานทำของครัวเรือนไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบจำนวนผู้ว่างงาน คิดเป็น 9.6% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ โดย 61.4% ของจำนวนผู้ว่างงานที่ทำการสำรวจ มีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของ COVID-19 และมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ครัวเรือนบางส่วนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ  และอีก 38.6% ของจำนวนผู้ว่างงาน มาจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่ COVID-19

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานน่าจะอยู่ในระดับสูงสุดช่วงไตรมาสที่ 2/2563 และค่อยๆ ปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากที่ภาครัฐทยอยผ่อนปรนความเข้มงวดในการบังคับใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำของไวรัส COVID-19 จนนำไปสู่มาตรการล็อกดาวน์ ครั้งที่ 2 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะติดตามประเด็นการจ้างงานของครัวเรือนไทยนี้อย่างต่อเนื่องและนำผลมารายงานในระยะถัดไป

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามมุมมองของครัวเรือนไทยต่อสภาวะการมีงานทำของตนเอง พบว่า 6.4% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ (ที่มีงานทำ) มองว่า บริษัทที่ตนเองทำงานอยู่มีโอกาสสูงที่จะปิดตัวลงในไม่ช้าจากผลกระทบของ COVID-19 ในขณะที่ 17.4% ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจ (ที่มีงานทำ) มองว่า มีโอกาสสูงที่บริษัทจะปรับลดพนักงานและตนเองจะถูกเลิกจ้าง ซึ่งครัวเรือนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มักเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และทำงานอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง 

 

คนกรุงว่างงานพุ่ง พ.ค.แตะ 9.6% ผลกระทบโควิด-มาตรการล็อกดาวน์

 

ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของเงินออมและการสร้างรายได้หลายช่องทางมากขึ้น หลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 จากการสำรวจมุมมองการวางแผนดำเนินชีวิตหลังเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ของครัวเรือนไทย 3 กลุ่ม แบ่งตามการใช้สิทธิ์เยียวยาผลกระทบจาก COVID-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

⦁    กลุ่มที่ 1 กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาจากมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน”  พบว่า หลังมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” สิ้นสุดลง ครัวเรือนที่ได้รับสิทธิ์มาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” ส่วนใหญ่ 35.5% พยายามหางานรับจ้างชั่วคราว (ฟรีแลนซ์) แบบเดิมทำไปก่อน อีก 25.6% เปลี่ยนไปค้าขายออนไลน์ 

⦁    กลุ่มที่ 2 กลุ่มแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และใช้สิทธิ์เงินชดเชยจากประกันสังคมกรณี COVID-19 พบว่า หลังจากที่สิ้นสุดช่วง 3 เดือนที่ได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคมแล้ว แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ 47.4% เลือกที่จะกระจายความเสี่ยงทางด้านรายได้ผ่านการมีอาชีพเสริมเพิ่มเติม อย่างน้อย 1 อาชีพ อีก 18.0% จะกลับเข้าทำงานบริษัทเดิม หากมีการรับคนเพิ่ม และอีก 11.3% เปลี่ยนไปค้าขายออนไลน์แทน 

⦁    กลุ่มที่ 3 กลุ่มแรงงานที่ไม่ได้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์ “เราไม่ทิ้งกัน” และไม่ได้ใช้สิทธิ์เงินชดเชยกรณี COVID-19 จากประกันสังคม พบว่า หลังจากที่เผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ แรงงานกลุ่มนี้ตระหนักถึงความสำคัญของวินัยทางการเงินของตนเองมากขึ้น โดย 43.8% ของแรงงานกลุ่มนี้เริ่มเก็บออมมากขึ้นและระมัดระวังการใช้จ่ายในปัจจุบัน อีก 28.4% มองหาอาชีพเสริมเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้หลายช่องทาง และอีก 22.9% ลดการก่อหนี้ทุกรูปแบบ และพยายามปลดภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิมให้เร็วที่สุด

⦁มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนไทยส่วนใหญ่  จากผลสำรวจ พบว่า แม้ในปัจจุบันจะมีการผ่อนปรนให้ธุรกิจส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว แต่ครัวเรือนส่วนใหญ่ 95.5% กลับได้รับผลกระทบจากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมในลักษณะที่แตกต่างกัน โดย 52.5% มีรายได้และผลประกอบการลดลง ทั้งนี้ ครัวเรือนส่วนใหญ่ 25.4% อยากให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังจากที่มาตรการเยียวยาในช่วงก่อนหน้าสิ้นสุดลง 

 

 

โดยสรุปแล้ว ผลการสำรวจข้างต้นชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานและการใช้จ่ายของครัวเรือนไทยในระยะข้างหน้า โดยวิถีปกติใหม่ (New normal) ที่สะท้อนจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ในการดูดซับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งเข้ามาแทนที่ภาคเกษตรกรรมที่แต่เดิมช่วยดูดซับแรงงานส่วนเกินจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในขณะที่รูปแบบการใช้จ่ายของครัวเรือนกลับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ระมัดระวัง และเร่งสร้างวินัยทางการเงินของตนเองเพิ่มขึ้น จึงเป็นโจทย์เร่งด่วนสำหรับภาครัฐ ทั้งในเรื่องของการออกมาตรการเศรษฐกิจที่ช่วยสร้างงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและรองรับจำนวนผู้ว่างงานใหม่หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง และการออกมาตรการส่งเสริมการออมที่เอื้อต่อแรงงานหลายกลุ่ม เช่น แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ  แรงงานที่มีรายได้น้อย เป็นต้น