กนง.จี้เร่งปรับโครงสร้างหนี้เศรษฐกิจ เน้นสร้างรายได้ จ้างงาน

04 มิ.ย. 2563 | 03:33 น.

บอร์ดกนง.แนะเร่งปรับโครงสร้างหนี้และเศรษฐกิจ ป้องกันผิดนำชำระ-หนุนผู้ประกอบการทำธุรกิจรูปแบบใหม่หลัง COVID-19

กนง.แนะประสานมาตรการคลัง-เงินและสินเชื่อใกล้ชิด เร่งปรับโครงสร้างหนี้ –ป้องกันผิดนัดชำระพร้อมปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเน้นสร้างรายได้และจ้างงาน หนุนผู้ประกอบการทำธุรกิจรูปแบบใหม่หลัง COVID-19

วันที่ 4มิถุนายน 2563  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 โดยในการประชุมครั้งที่ 3/2563คณะกรรมการเข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายวิรไท สันติประภพ (ประธาน) นายเมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน) นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน  นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นายคณิศ แสงสุพรรณ นายสุภัค ศิวะรักษ์ นายสมชัย จิตสุชน
คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสหดตัวมากกว่าคาดและฟื้นตัวช้า จากการระบาดของ COVID-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นในบางประเทศหรือกลับมารอบสองในประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดแล้ว และยังมีความเสี่ยงอีก 4ด้าน 

ตลาดการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังธปท. ดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพตลาดการเงิน โดย จัดตั้งกลไกช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (Mutual Fund Liquidity Facility: MFLF) รวมทั้งจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงจากช่วงก่อนหน้าที่ปรับสูงขึ้นมากตามภาวะตลาดการเงินโลกตึงตัวขึ้น อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองผันผวนน้อยลง ตลาดตราสารหนี้กลับมาทำหน้าที่ได้เป็นปกติมากขึ้น 
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐและสกุลเงินภูมิภาค สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (nominal effective exchange rate: NEER) ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนเริ่มลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น หลังสถานการณ์การระบาด COVID-19 ปรับดีขึ้นและ เงินบาทยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกทองคำที่สูงขึ้นตามทิศทางราคาทองคำอีกด้วย ในระยะข้างหน้า ตลาดการเงินโลกยังมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากการระบาดของ COVID-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่มาก คณะกรรมการฯ กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่อาจกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตามผลของมาตรการผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้ายขาออกที่ได้ดำเนินการไป และศึกษาถึงมาตรการที่จะลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทจากการส่งออกทองคำด้วย
สำหรับภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้  ตามการส่งออกสินค้าและบริการ อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาของภาครัฐจะมีส่วนช่วยประคับประคองกำลังซื้อของครัวเรือนได้บางส่วน ทั้งจาก ครัวเรือนภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากขึ้น และครัวเรือนนอกภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากการลดชั่วโมงทำงาน การลดค่าจ้าง และการเลิกจ้างของธุรกิจ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง และวิเคราะห์หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น (scenario analysis) จากปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ (1) แนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าและการระบาดในต่างประเทศ รวมถึงผลสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนและยารักษา (2) การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและโอกาสที่จะเกิดการระบาดรอบสองในประเทศ และ (3) ประสิทธิผลของมาตรการด้านการคลัง การเงิน และสินเชื่อ โดยต้องออกใช้ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและทันการณ์เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs ให้ดำเนินไปได้ต่อเนื่อง 
คณะกรรมการฯ โดยรวมเห็นควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ โดยเฉพาะครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น โดยจำเป็นต้องประสานมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อจำเป็นต้องประสานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ควรดำเนินมาตรการที่เน้นการจ้างงาน สร้างรายได้ และสนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และเร่งรัด    การให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ ก่อนที่มาตรการการเงินการคลังที่ออกมาในช่วงเยียวยาเศรษฐกิจจะทยอยสิ้นสุดลง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและศักยภาพการเติบโตในระยะยาว นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐจะต้องสนับสนุนการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำธุรกิจใหม่หลังจากการแพร่ระบาดคลี่คลายลงด้วย
 

อ่านฉบับเต็ม https://medias.thansettakij.com/media/pdf/2020/1591241997.pdf