กยศ.โดนพิษโควิดยอดชำระหนี้ลด

01 มิ.ย. 2563 | 02:42 น.

ผู้จัดการ กยศ. เผยพิษโควิด คาดส่งผลให้ยอดชำระหนี้ปีนี้เหลือ 2 หมื่นลบ. ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.2 หมื่นลบ. ลั่นคงเป้าปล่อยกู้ 3.4 หมื่นลบ. พร้อมขยายเกณฑ์รายได้ของครอบครัวผู้กู้ยืมให้เพิ่มเป็น "ไม่เกินครัวเรือนละ 3.6 แสนบาทต่อปี" 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ยืนยันว่าในปี 2563 กยศ.จะปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษาทั้งกลุ่มใหม่และกลุ่มเก่า ได้กู้ยืมได้ทั่วถึงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 34,000 ล้านบาทแน่นอน แม้แนวโน้มการชำระหนี้ของ กยศ.ในปีนี้จะลดลงเหลือ 20,000 ล้านบาท น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 32,000 ล้านบาท ก็ตาม เนื่องจากกองทุนฯยังมีเงินทุนเหลือเพียงพอ และไม่จำเป็นต้องเป็นภาระของบประมาณจากรัฐบาล

“ขณะนี้ กยศ.มียอดชำระหนี้เข้ามาแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 10% และคาดว่าตลอดทั้งปีจะมียอดชำระหนี้ต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิดทำให้ผู้กู้ยืมบางส่วนตกงาน มีรายได้ลดลง จนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามแผน ประกอบกับที่ผ่านมากองทุนฯ ได้มีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดถึง 8 มาตรการ เช่น การลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาทต่อคนต่อเดือนให้ผู้กู้ยืมกลุ่มหน่วยงานเอกชน การช่วยเหลือลูกหนี้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”นายชัยณรงค์ กล่าว

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ปีนี้ กยศ.ยังพยายามสนับสนุนให้ครอบครัวที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้กู้ยืมเข้าถึงการเรียนมากขึ้นตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ โดยได้ขยายเกณฑ์รายได้ของครอบครัวผู้กู้ยืมให้เพิ่มขึ้น จากเดิมมีรายได้ไม่เกินครัวเรือนละ 200,000 บาทต่อปี เพิ่มเป็นไม่เกินครัวเรือนละ 360,000 บาทต่อปี เพื่อสอดคล้องกับภาวะรายได้ครัวเรือนในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ผ่านมามีครอบรัวข้าราชการ และเอกชนหลายรายที่มีรายได้ไม่ถึงเดือนละ 20,000 บาท แต่ก็ไม่สามารถกู้ได้ แต่ต่อไปจะขยายรายได้ให้ถึงเดือนละ 30,000 บาท ก็สามารถเข้ามากู้ได้ด้วย

นอกจากนี้กองทุนฯยังได้มีการปรับค่าครองชีพรายเดือนให้ผู้กู้ยืมทุกระดับการศึกษาทุกระดับ เพิ่มอีกรายละ 600 บาทต่อเดือน ทำให้ผู้กู้ยืมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมีค่าครองชีพเพิ่มขึ้น จากเดิมได้รับเดือนละ 1,200 บาท เพิ่มเป็น 1,800 บาท ส่วนระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีจากเดิมได้รับ 2,400 บาท จะได้เพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือน เพื่อสอดคล้องกับค่าใช้จ่ายการดำรงชีพในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนการออกมาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด 8 มาตรการ ที่มีการออกมาก่อนหน้านี้ และบางมาตรการจะครบกำหนดในสิ้นเดือนมิ.ย.63 เช่น การลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาทต่อคนต่อเดือน ให้กับผู้กู้ยืมกลุ่มหน่วยงานเอกชน รวมถึงลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ให้กับผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดนาน 3 เดือน กยศ.จะมีการประเมินสถานการณ์ผลกระทบอีกครั้ง