แบงก์เซฟ 5 หมื่นล้านกดดอกฝาก-ลดนำส่ง

02 มิ.ย. 2563 | 03:55 น.

ธนาคารใหญ่ รับอานิสงส์ดอกเบี้ยลด ส่งผลภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง 1.35 หมื่นล้านบาท ดึงส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.1-0.2% หลังกดดอกเบี้ยออมทรัพย์ลง กระทบเงินฝากออมทรัพย์ 7.7 ล้านล้านบาท แนะนาทีทองย้ายไปบัญชีอื่น ปลอดภาษี ด้านศูนย์วิจัยกสิกรมอง ไตรมาส 2 สินเชื่อแบงก์เร่งตัวขึ้น

ท่ามกลางกระแสการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของเฉพาะกิจของรัฐ(แบงก์รัฐ) หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอกเบี้ยนโยบายลง 3 ครั้งรวม 0.75% ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายคงเหลือ 0.50%ต่อปี ซึ่งตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ออกเอกสารเผยแพร่ โดยระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา (MLR) ลดลงรวม 0.62% อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดลงรวม 0.95% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) ลดลงรวม 0.72%

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมธนาคารพาณิชย์ได้ปรับลด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่การปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์บุคคลธรรมดานั้น ส่งผลกระทบต่อเงินฝากระดับประชาชนหรือบุคคลธรรมดาโดยรวมค่อนข้างมาก เพราะจำนวนเงินที่ถูกปรับลด ส่วนใหญ่อยู่ในบัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดารวม 7.7 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ประมาณ 4.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 61% ของบัญชีเงินฝากบุคคลธรรมดาที่เหลือเป็นบัญชีเงินฝากประจำ 2.9 ล้านล้านบาท 

ทั้งนี้หากพิจารณาจากประมาณการ ฐานข้อมูลสิ้นไตรมาส 1 ปี 2563 พบว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ประมาณ 4 ล้านล้านบาท คิดเป็น 52% จะอยู่ใน 5 ธนาคารใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย มี บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ในสัดส่วน 79% รองลงมาเป็นธนาคาร ไทยพาณิชย์และกรุงไทย สัดส่วนเท่ากันที่ 69% ตามด้วยธนาคาร กรุงเทพ 50% และธนาคาร กรุงศรีอยุธยา 41% 

แบงก์เซฟ 5 หมื่นล้านกดดอกฝาก-ลดนำส่ง

สำหรับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากรอบนี้ สามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของธนาคารได้ 13,500 ล้านบาทต่อปี คิดเป็น 12% โดยเฉพาะ 4 ธนาคารใหญ่ และยังช่วยดึงส่วนต่างอัตราอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ได้ประมาณ 0.1-0.2% เทียบกับภาระที่ลดลง 0.23% จากเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (เอฟไอดีเอฟ) ที่ประมาณ 32,000 ล้านบาทต่อปี

“ข้อสังเกตุที่พบส่วนใหญ่ คนไทยยังเก็บเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งตอนนี้ดอกเบี้ยตํ่า 0.25% ซึ่งในภาวะดอกเบี้ยขาลง หากย้ายไปฝากบัญชีอื่นๆ มีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าปล่อยให้เป็น Waste เช่น เงินฝากปลอดภาษี หรือออมทรัพย์พิเศษ ซึ่งยังมีให้เลือกได้ แค่ย้ายให้ถูกบัญชีเท่านั้น” 

ขณะที่ศูนย์ วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า จากการติดตามสถาน การณ์สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในภาพรวมพบว่าสินเชื่อ มีสัญญาณเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นไตรมาส 2 โดยเบื้องต้นมองว่า เดือนเม.ย. 2563 สินเชื่ออาจเติบโตขึ้น 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และมีแนวโน้มขยายตัวสูงตลอดทั้งไตรมาส 2 ในกรอบประมาณ 5.0-6.0% ขยับขึ้นจากที่ขยายตัว 4.0% ในไตรมาสแรก

โดยแรงหนุนของสินเชื่อหลักๆจะมาจาก 2 ส่วนคือ 1. การเบิกใช้สินเชื่อเพิ่มขึ้นของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งน่าจะใช้ช่องทางสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ทดแทนการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นกู้ในช่วงที่ภาวะตลาดผันผวน และ 2. มาตรการช่วยเหลือลูกค้า ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะที่ผันผวนของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19

“อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ปรับลดลง อาจมีผลช่วยลดภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบการและประชาชน แต่ในอีกด้านหนึ่ง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว อาจเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งต้องรับมือกับโจทย์ที่มีความท้าทายมากขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคุณภาพหนี้ยังเป็นประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่า สัดส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ จะขยับขึ้นมาที่ 3.05% ต่อสินเชื่อรวมในไตรมาสที่ 1 ตามที่คาด แต่การเร่งตัวขึ้นของสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต หรือ หนี้ Stage 2 มาที่ 7.70% (จาก 2.79% ณ สิ้นปี 2562) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในเบื้องต้นว่า สัดส่วน
สินเชื่อด้อยคุณภาพยังมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563

นอกจากนี้ อีกประเด็นเฝ้าระวัง จะอยู่ที่หนี้ที่สถาบันการเงินเข้าช่วยดำเนินการปรับโครงสร้าง ซึ่งจากยอดรวมหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน 6.12 ล้านล้านบาท (ณ วันที่ 15 พ.ค. 2563) นั้น ประเมินว่า ส่วนของธนาคารพาณิชย์อาจคิดเป็นประมาณ 30% ของสินเชื่อรวม ซึ่งคงต้องยอมรับว่า สถานการณ์ของลูกหนี้กลุ่มนี้ในระยะต่อไป ยังคงผันแปรตามเงื่อนไขการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์เฉพาะของแต่ละธุรกิจ อันจะมีนัยต่อทิศทางคุณภาพหนี้ รวมถึงภาระในการตั้งสำรองฯ ของธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน 

หน้า13  ฉบับที่ 3,579 วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563