รายได้วิกฤติ เงินคงคลังหด-ภาษีหาย ยอดจัดเก็บวูบ7.2หมื่นล้าน

01 มิ.ย. 2563 | 04:00 น.

รัฐเล็งดึงเงินคงคลัง โปะรายได้ หลัง 3 กรมจัดเก็บภาษีพลาดเป้าไป 3.64 หมื่นล้านบาท รับผลกระทบเยียวยาโควิด-19 สรรพากรรับตํ่ากว่าประมาณการ 2 ล้านล้านบาท เแม้มีช่องกู้เพิ่มได้อีกมาก   

ภายใต้กรอบงบประมาณปี 2563 ในวงเงินงบประมาณรายจ่าย 3.22 ล้านล้านบาท และเป็นรายได้รัฐบาล 2.31 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณขาดดุล 4.69 แสนล้านบาท ทำให้มีเงินงบประมาณจำกัดในการจะใช้เงินเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องหยุดหรือปิดกิจการ ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ส่วนใหญ่มองว่า จะทำให้เศรษฐกิจหดตัว 5-6% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไป 9 แสนล้าน-1 ล้านล้านบาทจากมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ 16 ล้านล้านบาท จึงเป็นที่มาของรพราชกำหนด(พ.ร.ก.)เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท 

 

บิ๊กตู่แจ้งกู้1ล้านล.

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมได้ชี้แจงต่อสภาผู้แทนราษฎรว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยไตรมาสแรกติดลบ 1.8% ถือเป็นการชะลอตัวครั้งแรกตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2557  และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์ (สศช.) ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะติดลบ 5-6% จากการดำเนินการตามมาตรการที่เข้มข้น แม้ว่า ในการแก้ไขปัญหารัฐบาลพยายามบริหารจัดการภายใต้กรอบงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่เพียงพอไม่ทันกับสถานการณ์ 

ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาสู่ประเทศไทยโดยเร็ว รัฐบาลประมาณการณ์ว่า จะต้องใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ไม่อาจดำเนินการด้วยวิธีงบประมาณตามปกติ หรือรัฐบาลกู้เงินตามกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนี้ได้ จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินรีบด่วน ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของสาธารณะ และความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ

 

รายได้รัฐต่ำเป้า

แม้รัฐบาลเตรียมกู้เงิน 1 ล้านล้านมาเสริมกับการกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 4.69 แสนล้านบาท แต่เมื่อผ่านมา 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 กลับพบว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่เป็นไปตามตามเป้าหมาย โดยช่วงเดือน.ต.ค.62-มี.ค.63 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ 1,143,571 ล้านบาท ตํ่ากว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 17,250 ล้านบาท หรือ 1.5% และตํ่ากว่าเอกสารตามประมาณการงบประมาณ 15,572 ล้านบาท หรือ 1.3% โดยเฉพาะ 3 กรมภาษีีคือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 1,164,730 ล้านบาท ตํ่ากว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3,760 ล้านบาท หรือ 0.3% แต่ตํ่ากว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณถึง 36,484 ล้านบาทหรือ 3.0% และหากประมาณการทั้งปี การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี จะตํ่ากว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณถึง 72,968 ล้านบาท 

 

รับไม่ถึง2ล้านล.

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี กรมสรรพากรกล่าวยอมรับว่า กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ได้ตํ่ากว่าเป้าหมายประมาณ 70,000 ล้านบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 63 ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลออกไปถึงเดือนส.ค.นี้ และการเร่งรัดการคืนเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เร็วขึ้น รวมไปถึงการลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% ทำให้รายได้ของกรมหายไป 

“จากตัวเลขดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ว่า ปีงบประมาณ 2563 นี้ กรมจะจัดเก็บรายได้ได้ตํ่ากว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 2 ล้านล้านบาทแน่นอน แต่จะลดลงมากน้อยเพียงใด ต้องรอดูการยื่นแบบแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วงเดือนส.ค.นี้ก่อนว่า เป็นอย่างไรด้วย”

สศค.จับตาใกล้ชิด

ด้านนายลวรณ แสงสนิท  ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษบกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังในฐานะทีี่ดูแลกระแสเงินสดของรัฐบาล จะติดตามรายรับรายจ่ายของรัฐบาลตลอดเวลาอยู่แล้ว แม้ว่า ขณะนี้ชัดเจนว่า การจัดเก็บรายได้รัฐตํ่ากว่าเป้าหมาย แต่สาเหตุ หลักๆเป็นการเลื่อนจัดเก็บภาษีเงิินได้บุคคลธรรมดาออกไปเป็นเดือนส.ค. ทำให้เงินไม่เข้าช่วงนี้ แต่ก็จะเข้ามาในช่วงปลายงบอยู่ดี รวมถึงการลดอัตราการหักภาษี ณที่จ่ายเหลือ 1.5% ก็เพื่อรักษาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ แต่เมื่อถึงเวลายื่นเสียภาษีก็ต้องจ่ายส่วนที่ขาดเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม หากรายได้รัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็ยังสามารถที่จะให้รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เข้ามาก่อนได้ แต่หากรัฐวิสาหกิจไม่มีรายได้นำส่งพอ จากปลกระทบของโควิด-19 เช่นกัน ก็ยังมีเงินคงคลังที่สามารถนำมาใช้ก่อนได้ ซึ่งในเดือนเม.ย. มียอดเงินคงคลังสุทธิ 152,354 ล้านบาท แต่หากไม่พอก็ยังสามารถกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ โดยเป็นการกู้เพื่อชดเชยรายได้ไม่พอรายจ่ายได้ 

รายได้วิกฤติ เงินคงคลังหด-ภาษีหาย  ยอดจัดเก็บวูบ7.2หมื่นล้าน

สบน.กู้แล้ว1.7แสนล.

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า แม้รายได้จะไม่เป็นไปตามประมาณการ แต่ต้องไปดูรายจ่ายด้วยว่า ตํ่ากว่าเป้าหมายหรือไม่ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็อาจจะยังอยู่ในกรอบงบประมารขาดดุล 4.69 แสนล้านบาทได้ แต่กำหมายก็ยังให้อำนาจสบน.กู้เพิ่มเติมได้ แม้จะมีการกู้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท หากยอดการขาดดุลเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายมากกว่ารายได้ เพราะเป็นการใช้เงินกู้คนละกรอบกฎหมายแต่สบน.จะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะดำเนินการเพราะยังมีเงินคงคลังที่สามารถดึงมาใช้ก่อนได้

สำหรับกรอบการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น ขณะนี้กู้ไปเพียง 1.7 แสนล้านบาท เป็นการใช้เงินเยียวยาประชาชน  16 ล้านรายในโครงการเราไม่ทิ้งกันเงิน เยียวยาเกษตรกร 10 ล้านรายและกลุ่มเปราะบาง ที่เหลือยังมีมีโครงการใช้เงินเสนอเข้ามา

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย.หดตัวสูงในทุกเครื่องยนเศรษฐกิจเหลือเพียง การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนโดยรายจ่ายประจำไม่รวมเงินโอนขยายตัว 7.9% และรายจ่ายลงทุนรัฐบาลกลางขยายตัว 28.9% รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 14.1% 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,579 วันที่ 31 พฤษภาคม - 3 มิถุนายน พ.ศ. 2563