หุ้นไทยฝ่าอาถรรพ์ Sell in May

28 พ.ค. 2563 | 23:45 น.

ตลาดหุ้นไทย เดือนพฤษภาคมคึกคัก ฟื้นตัว 1.40% จับตาสวนทางSell in May หลังติดลบ 3 ปีซ้อน ชี้หุ้นถูกนำเข้าคำนวณใหม่และถูกเพิ่มนํ้าหนักใน MSCI ซื้อขายคึกคัก รับปัจจัยบวกรอบด้าน

บรรยากาศการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเดือนพฤษภาคม 2563 กลับมาสดใสอีกครั้ง สวนทางกับปรากฏการณ์ Sell in May ที่นักลงทุนต่างวิตกและเตรียมตัวรับมือตั้งแต่ต้นเดือน เพราะนอกจากจะกังวลการขายหลังประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.)ไตรมาสแรกแล้ว ยังมีผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 แต่ดัชนีหุ้นไทยตั้งแต่วันที่ 5-25 พฤษภาคม 2563 ปรับเพิ่มขึ้น 1.48% ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของเดือนพฤษภาคมในรอบ 4 ปี จากปี 2559 เพิ่มขึ้น 1.40% และลดลงต่อเนื่อง 3 ปี โดยปี 2560 ปรับลดลง 0.30%, ปี 2561 ลดลง 2.99% และ ปี 2562 ลดลง 3.18%

รายงานข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เปิดเผยว่า แม้การประกาศ MSCI Rebalance ตลาดหุ้นไทย จะถูกปรับลดนํ้าหนักลงสู่ 2.36% จาก 2.39% คิดเป็นเม็ดเงินลดลงประมาณ 56 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1,789.76 ล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยนที่ 31.96 บาทต่อดอลลาร์) แต่ราคาหุ้นที่ถูกนำเข้าคำนวณใหม่และหุ้นที่ถูกเพิ่มนํ้าหนัก ซึ่งจะมีผลราคาปิดวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 มีการปรับเพิ่มขึ้นตอบรับอย่างคึกคัก โดยเฉพาะ บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM),บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC), บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC), บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC), และบมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH)

หุ้นไทยฝ่าอาถรรพ์ Sell in May

อย่างไรก็ตาม หุ้น AWC เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 ปรับขึ้น 8.60% เพิ่มขึ้น 0.38 บาท อยู่ที่ 4.80 บาท โดยได้รับผลบวกจากความคาดหวังผ่อนปรนมาตรการ Lockdown ระยะที่ 3 ของไทย หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทรงตัว รวมถึงมีปัจจัยบวกหนุนจากการถูกนำเข้าคำนวณดัชนี MSCI ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส มองว่า จากสถิติย้อนหลัง 12 ปี พบว่า หุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 4.6% ต่อปี และมีความน่าจะเป็นที่จะให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 75% อีกทั้งหุ้นที่ถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี MSCI มักจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงวันก่อนการเข้าคำนวณ โดยเฉพาะหลังประกาศจนถึงวันที่มีผลบังคับใช้

ขณะที่ หุ้น KTC ที่ได้รับประโยชน์จากการถูกนำเข้าคำนวณดัชนี MSCI แล้ว ยังได้ประโยชน์จากการผ่อนคลาย Lockdown เช่นกัน โดยบล.กรุงศรีฯ ระบุว่า แนะนำเก็งกำไร KTC หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ส่งผลบวกโดยตรงกับกลุ่มไฟแนนซ์ นอกจากนี้ KTC ยังมีปัจจัยบวกจากที่ภาครัฐอนุญาตให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้ากลับมาเปิดดำเนินการ คาดหนุนยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเร่งตัวขึ้น

ขณะเดียวกัน หุ้น BTS นอกจากจะได้ผลบวกจากการถูกปรับเพิ่มนํ้าหนักในดัชนี MSCI แล้ว บล.กรุงศรีฯระบุว่า แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 13.50 บาท จากจำนวนผู้โดยสารทยอยเพิ่มขึ้น หลังจากที่ภาครัฐผ่อนคลายกิจกรรมเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 และคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเร่งตัวขึ้นอีกในช่วงปีหลัง เนื่องจาก BTS จะเปิดเส้นทางเดินรถสายสีเขียวเพิ่มอีก 4 สถานีในช่วงเดือนมิถุนายน คือ สถานี ม.เกษตร ถึง สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ

ด้านหุ้น MTC ที่ได้รับการปรับเพิ่มนํ้าหนักในดัชนี MSCI ซึ่งบล.เอเชีย เวลท์ มองว่า แนวโน้มกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2563 เติบโตต่อเนื่อง แต่อาจมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง เป็นผลจากความต้องการที่อ่อนตัวลง จากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายที่เปลี่ยน แปลงไป แต่คาดว่าจะไปเร่งตัวอีกครั้งในไตรมาส 3 ปี 2563 หลังรัฐบาลกลับมาเปิดเมืองอีกครั้ง ด้านหนี้ด้อยคุณภาพ (เอ็นพีแอล) ที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาสแรก มาจากการบันทึกผลขาดทุนรถยึด ตามปริมาณรถยึดที่เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากบริษัทไม่สามารถจัดการประมูลเพื่อระบายรถยึดออกไปได้

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบล.โกลเบล็กฯ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากคาดหวังกรณีพิจารณาผ่อนปรนในระยะ 3 และ 4 ตามลำดับ พร้อม ทั้งการปรับเวลาเคอร์ฟิวให้สอด คล้องกัน รวมทั้งประเด็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมหารือปลดล็อกการเดินทางท่องเที่ยว ภายในเดือนมิถุนายน นี้ ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยมองกรอบดัชนีเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 1,320- 1,350 จุด 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563