สภาทองคำโลกผลสำรวจชี้แบงก์ชาติทั่วโลกจำนวนมากขึ้นเล็ง“เพิ่ม”ทองคำสำรอง

29 พ.ค. 2563 | 01:00 น.

การตัดสินใจล่าสุดในเดือนเม.ย.ของธนาคารกลางรัสเซีย ในการ “ระงับ” การซื้อเข้าทองคำ เพื่อเพิ่มสัดส่วนทองคำสำรองของประเทศ เป็นข่าวใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนมากพอสมควร เนื่องจากธนาคารกลางรัสเซียเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในโลก และการซื้อโดยธนาคารกลางรัสเซียได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

โดยในปี 2015-2018 ธนาคารกลางรัสเซียซื้อทองคำเพิ่มในปริมาณที่มากกว่า 200 ตันต่อปี ล่าสุดในปี 2019 ธนาคารกลางรัสเซียถือครองทองคำเพิ่มอีก 158.1 ตัน อย่างไรก็ดี ผลสำรวจความเห็นของธนาคารกลางทั่วโลกประจำปี 2020 จาก World Gold Council ดูเหมือนจะช่วยคลายความวิตกในหมู่นักลงทุนได้บ้าง

World Gold Council ได้ส่งแบบสำรวจไปยังธนาคารกลางจำนวน 150 ประเทศทั่วโลก โดยมีธนาคารกลางที่ร่วมตอบแบบสอบถามจำนวน 51 ประเทศ โดยแบ่งเป็นประเทศพัฒนาแล้วจำนวน 11 ประเทศ และประเทศในตลาดเกิดใหม่อีก 40 ประเทศ ผลสำรวจพบว่า “ธนาคารกลางคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 หรือ 20% เตรียมจะเพิ่มปริมาณทองคำสำรองของประเทศในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากสัดส่วนเพียง 8% ในการสำรวจปี 2019” ผลสำรวจยังบ่งชี้อีกว่า ปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่ธนาคารกลางใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเพิ่มทองคำสำรอง ได้แก่ สภาวะอัตราดอกเบี้ยติดลบ, ประสิทธิภาพของทองคำในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ และการที่ทองคำปราศจากความเสี่ยงของการผิดนัดชำระ 

สภาทองคำโลกผลสำรวจชี้แบงก์ชาติทั่วโลกจำนวนมากขึ้นเล็ง“เพิ่ม”ทองคำสำรอง

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ผลสำรวจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาวต่อระบบการเงินระหว่างประเทศ โดยธนาคารกลางผู้ตอบแบบสอบถามคิดเป็นสัดส่วนถึง 4 ใน 5 หรือ 80% คาดว่าเงินหยวนของจีนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ แม้ว่าส่วนใหญ่จะมองว่าสัดส่วนของเงินหยวนจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยสู่ระดับ 3-5% ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เมื่อเทียบกับสัดส่วน 2% ในปัจจุบัน ไม่ใช่แค่นั้น มากกว่า 2 ใน 3 หรือ 67% ของธนาคารกลางผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่า สัดส่วนของทองคำในเงินทุนสำรองระหว่างประเทศจะเติบโตขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยส่วนใหญ่คาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 13% สู่ระดับ 14-20%

แม้ความไม่แน่นอนของตลาด การขาดผู้ซื้อทองคำรายหลักอย่างรัสเซีย และความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากพิษ COVID-19 ส่งผลกระทบ ต่อระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางเกือบทุกแห่งทั่วโลก อาจบั่นทอนแรงซื้อทองคำจากธนาคารกลางทั่วโลกลงไปบ้าง แต่ปัจจัยเดียวกันนี้กลับไปกระตุ้นให้ธนาคารกลางเห็นความสำคัญและให้ความสนใจในทองคำมากยิ่งขึ้น สะท้อนจากสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของธนาคารกลางที่วางแผนจะเพิ่มทองคำสำรองในปีนี้ นั่นทำให้เชื่อได้ว่า ธนาคารกลางจะยังคงเป็นผู้ซื้อสุทธิต่อไปในปี 2020 ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสร้างเสถียรภาพให้แก่ราคาทองคำในระยะยาว 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563