รัฐอัด2.3แสนล้าน พยุงศก.สู้โควิด-19

29 พ.ค. 2563 | 06:50 น.

ครม.ไฟเขียวจ่าย “เยียวยากลุ่มเปราะบาง” 13 ล้านคน คนละ 3,000 บาท ด้านแบงก์รัฐออกสินเชื่อ-พักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยช่วยประชาชน ช่วงโควิด-19 แล้วกว่า 4.65 ล้านล้านบาท พร้อมออกใหม่อีก 2.3 แสนล้านบาท สศค.ยันเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอ  

รัฐบาลเดินหน้าเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการ เราไม่ทิ้งกัน ล่าสุด ณ 21 พฤษภาคม 2563 โอนเงินเยียวยาแล้ว 14.2 ล้านคน คิดเป็น 99% ส่วน 7 แสนราย จะโอนเงินให้หมดในสัปดาห์นี้ และอีก 1 แสน ที่มีปัญหาเลขบัญชีให้แก้ไข เพื่อโอนเงินในสิ้นเดือนนี้ ขณะที่เงินเยียวยาเกษตรกร ธนาคารเพื่อการ เกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)ได้รายชื่อจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว 6.7 ล้านราย ณ วันที่ 26 พ.ค. 2563 โอนเงินแล้ว 4.7 ล้านราย ส่วน 2 ล้านราย เตรียมโอนภายใน 28 พ.ค. นี้ และอีก 1,657 ราย โอนเงินไม่สำเร็จ โดยกระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างปรับปรุงข้อมูลส่งให้ธ.ก.ส.ในสัปดาห์นี้

ล่าสุดเมื่อ 26 พ.ค.ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติ “เยียวยากลุ่มเปราะบาง” ที่ไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยาจากมาตรการอื่นๆ ทั้งเราไม่ทิ้งกัน เยียวยาเกษตรกร จำนวน 13 ล้านคน ใน 3 กลุ่มคือ 1.เด็กแรกเกิดถึง 6 ปีที่มีฐานะยากจน 1.4 ล้านคน 2 ผู้สูงอายุ 9.66 ล้านคน และ 3.ผู้พิการ 2 ล้านคน 

โดยการจ่ายเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางจะให้รายละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มจากเงินอุดหนุนเดิมที่จ่ายอยู่แล้วเป็นเวลา 3 เดือนคือ พ.ค.-ก.ค.โดยจะเริ่มจ่าย มิ.ย.ซึ่งจะทบเดือนพ.ค.ด้วย  ทำให้จะได้ 2,000 บาท และอีก 1,000 บาทในเดือนก.ค. ภายใต้วงเงินรวม 3.9 หมื่นล้านบาท จากพระราชกำหนดกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท 

นอกจากความช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว สถาบันการเงินรัฐเอง มีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินผ่านการให้สินเชื่อ รวมไปถึงการพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยมาโดยตลอด ซึ่งนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 มีประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนรวมเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 4.65 ล้านล้านบาท

จำแนกรายธนาคารคือ ธ.ก.ส.ให้ความช่วยเหลือแล้ว 2,946,807 ล้านบาท และยังเตรียมออกสินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาทวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท และ สินเชื่อระยะสั้นฤดูการผลิตใหม่ วงเงินรวม 100,000 ล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท 

รัฐอัด2.3แสนล้าน  พยุงศก.สู้โควิด-19

ตามด้วยธนาคารออมสิน ให้ความช่วยเหลือแล้ว 1,241,769.5 ล้านบาท และจะช่วยฟื้นฟูรายได้ด้วยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า ผ่อนชำระนานใน 4 ประเภทรวม 40,000 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อประเภทละ 10,000 ล้านบาท คือ สินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ สินเชื่อก่อร่างสร้างตัวใหม่ สินเชื่อคลายกังวล และสินเชื่อ ซอฟต์โลนเยียวยาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกและธุรกิจท่องเที่ยว

ด้านธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) ช่วยเหลือลูกหนี้บ้าน รวม 443,220 ล้านบาท และเตรียมอีก 20,000 ล้านบาท สำหรับคนในครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดอกเบี้ย 1.99% ต่อปี คงที่ 2 ปีแรก 

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มาตรการทางการเงินที่ออกมาเดิมและที่ออกใหม่รวมกว่า 2.3 แสนล้านบาท จะมีส่วนพยุงเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ในภาวะวิกฤติที่ทุกประเทศได้รับผลกระทบ ซึ่งกระทรวงการคลังพร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหลังจากนี้ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการกระตุ้นต่างๆหากสถานการณ์ของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยเฉพาะมีการประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว สศค.ก็พร้อมที่จะเสนอมาตรการเหล่านี้ให้กับนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาทันที 

อย่างไรก็ตาม การจะใช้มาตรการใดในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น จะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในช่วงนั้นๆ ด้วยว่ามีความพร้อมรับต่อมาตรการมากน้อยเพียงใดโดยสศค.จะประเมินสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,578 วันที่ 28 - 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563