"EXIM BANK" โชว์ผลงาน ช่วย ลูกค้าส่งออก สู้วิกฤติ โควิด

25 พ.ค. 2563 | 05:11 น.

"EXIM BANK" แถลงผลงานพักชำระหนี้ พร้อมขยายสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ช่วยเหลือลูกค้าและผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ในภาวะโควิด-19

EXIM BANK โชว์ผลงาน ช่วยผู้ประกอบการส่งออก ที่ได้รับผลกระทบโควิดแล้ว 4,100 ราย เป็นเงินกว่า 50,000 ล้านบาท  ส่งผลให้เกิดปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ล้านบาท พร้อมหาช่องทางและโอกาสของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะ CLMV  และเตรียมความพร้อมรับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปสู่ New Normal

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ได้ช่วยเหลือและเยียวยาลูกค้าและผู้ประกอบธุรกิจส่งออก นำเข้า และนักลงทุนไทยจากผลกระทบของโควิด-19 ด้วยมาตรการต่างๆ โดยติดต่อไปยังลูกค้าทุกราย เพื่อสอบถามความเดือดร้อนและจัดแพ็กเกจทางการเงินที่เหมาะสมให้ตามความต้องการของธุรกิจ

"EXIM BANK" โชว์ผลงาน ช่วย ลูกค้าส่งออก สู้วิกฤติ โควิด

ทั้งนี้ ณ 15 พฤษภาคม 2563 EXIM BANK ได้ให้ความช่วยเหลือ ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19 กว่า 4,100 ราย หรือ 13% ของผู้ส่งออกทั้งประเทศ วงเงินรวม  50,000 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 ล้านบาท มีผู้ประกอบการขอรับคำปรึกษาด้านการส่งออกและเข้าร่วมโครงการอบรมหรือสัมมนาออนไลน์กับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของ EXIM BANK กว่า 1,100 ราย

ทั้งนี้ มาตรการของ EXIM BANK เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบด้วย

1. พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน ให้กับลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

2. ขยายเงื่อนไขบริการประกันการส่งออก เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยขยายเวลาการชำระเงินที่ให้ความคุ้มครองสูงสุด 270 วันแก่ผู้ส่งออกที่ถือกรมธรรม์ประกันการส่งออกของ EXIM BANK และส่งออกไปยังประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ตามประกาศขององค์การอนามัยโลก

3. สินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ย 2% ต่อปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจให้แก่ลูกค้าและผู้ส่งออก แบ่งเป็นสินเชื่อระยะยาว 7 ปี สำหรับลูกค้าและผู้ประกอบการทั่วไป วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปีในปีที่ 1-2 และสินเชื่อระยะสั้น 2 ปี สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินรวมกลุ่มไม่เกิน 500 ล้านบาท วงเงินสูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2562 อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ฟรี! ดอกเบี้ย 6 เดือน และ ฟรี! ค่าธรรมเนียมการใช้สินเชื่อ

4. สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ให้แก่กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุนระหว่างประเทศ ดอกเบี้ยต่ำสุด 3% ต่อปี วงเงินสูงสุด 15 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี

"EXIM BANK" โชว์ผลงาน ช่วย ลูกค้าส่งออก สู้วิกฤติ โควิด

5. สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ดอกเบี้ย 2% ต่อปี วงเงินสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี

6. สินเชื่อสนับสนุนสินค้าเกษตร อาทิ ผลไม้ และยาง

7. การให้คำปรึกษาแนะนำทางโทรศัพท์ 0 2617 2111 ต่อ 3510-2 และจัดอบรมออนไลน์ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถส่งออกได้มากขึ้น โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม EXIM BANK ทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเยียวยาลูกค้าและผู้ส่งออก ในรูปแบบการพักชำระหนี้และให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องด้วยต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่าปกติ การขยายบริการประกันการส่งออก เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทยกล้าเสนอเทอมการชำระเงินที่ผ่อนปรนขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อในต่างประเทศ

"EXIM BANK" โชว์ผลงาน ช่วย ลูกค้าส่งออก สู้วิกฤติ โควิด

นอกจากนั้นยังบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญ เพื่อให้ข้อมูลเศรษฐกิจและบทวิเคราะห์ธุรกิจ ชี้ช่องทางและโอกาสของผู้ประกอบการไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมาก แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

“EXIM BANK ติดตามสถานการณ์และความเดือดร้อนของลูกค้าและผู้ประกอบการไทยในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุน และออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ลดดอกเบี้ย MLR MOR และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง MRR ให้อยู่ระดับ 5.75% ต่ำสุดในระบบธนาคาร ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม"

ทั้งนี้ เพื่อช่วยผู้ประกอบธุรกิจส่งออก โดยเฉพาะ SMEs การจัดให้มีแพ็กเกจทางการเงินและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ลูกค้าและผู้ส่งออกที่สนใจ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านเงินทุนและความรู้ ควบคู่กับการขยายเครือข่ายธุรกิจให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมของตลาดผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมสู่ฐานวิถีชีวิตใหม่หรือ New Normal พร้อมกับโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นต่อไป” นายพิศิษฐ์กล่าว