แบงก์สูญรายได้ดอกเบี้ย1.2 แสนล้าน

25 พ.ค. 2563 | 00:30 น.

แบงก์อ่วม สูญรายได้ดอกเบี้ย 1.2 แสนล้านบาท หลังเดินหน้าลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามกนง.ถึง 4 ครั้ง เผยลด 0.25% สามารถลดภารดอกเบี้ยประชาชนถึง 5.2 หมื่นล้านบาทต่อปี ฉุดรายรับดอกเบี้ยธนาคารทั้งปี 7% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดจาก 0.44% เหลือ 2.46%

ธนาคารพาณิชย์เดินหน้าลดดอกเบี้ยเงินกู้ ตามหลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ที่มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงจาก 0.75% ลงสู่ระดับ 0.50% ต่อปี โดยธนาคารขนาดใหญ่ 5 แห่งคือ กรุงเทพ กรุงไทย ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และกรุงศรีอยุธยา ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ทั้ง 3 ประเภทคือ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีแบบมีระยะเวลา(MLR) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี แบบเงินเบิกเกินบัญชี(MOR) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี(MRR) โดยมีผลตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2563

เมื่อพิจารณาจากปลายปี 2562 ธนาคารลดดอกเบี้ยมาแล้ว 4 ครั้ง โดย 5 ธนาคารใหญ่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.53-1.00% ซึ่งนอกจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มแย่ลงกว่าที่กนง.คาดการณ์จากผลกระทบของโควิด-19 แล้ว ยังมีเรื่องเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แค่เฉพาะสัปดาห์นี้ บาทแข็งค่าเร่งตัวขึ้น 1.62% สูงสุดเมื่อเทียบสกุลเงินประเทศเพื่อนบ้านที่แข็งค่า 1.62% ขณะที่วอนอ่อนลง 1% หยวนอ่อนลง 0.6% และดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนลง 0.5% สาเหตุจากการเก็งกำไรของนักค้าเงินต่างประเทศที่มองว่า ไทยมีประสิทธิภาพในการควบคุมโควิด-19 

นายนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย หรือTMB Analytics เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ดอกเบี้ยที่ลดลงถึง 4 ครั้งนับจากต้นปี โดย MLR ลดลง 0.8% ส่วน MOR และ MRR ลดลง 0.9% ทำให้รายรับดอกเบี้ยธนาคารทั้งระบบลดไป 1.2 แสนล้านบาทหรือ 7% ของรายรับดอกเบี้ยทั้งระบบต่อปีที่ 7.13 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ทั้งระบบ น่าจะลดลง 0.44% จากไตรมาส 1 ปี 2563 ที่ 2.9% เป็น 2.46%

เหตุผลหลักๆ ที่กนง.ลดดอกเบี้ยคือ 1. ถ้าสามารถส่งผ่านนโยบายดอกเบี้ย โดยธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราเท่ากับ 0.25% จะลดภาระดอกเบี้ยได้ถึง 5.2 หมื่นล้านบาทต่อปี 2.เศรษฐกิจมีแนวโน้มแย่กว่าที่คาด แม้ไตรมาสแรกจะออกมาดี แต่ไตรมาส 2 น่าห่วง และ 3.เร่งส่งผ่านสภาพคล่องจากระบบธนาคารไปยังครัวเรือนและภาคธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากธนาคารนำเงินฝากที่ไหลเข้ามา ไปปล่อยกู้ธปท. เมื่อลดดอกบี้ย REPO จะจูงใจให้ธนาคารนำสภาพคล่องสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

แบงก์สูญรายได้ดอกเบี้ย1.2 แสนล้าน

“การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยใกล้จะสุดทางแล้ว เพราะขอบล่างของดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดอยู่ที่ 0.24% โดยคำนวณจากการปรับลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 0.23% และเงินนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.) 0.01% ถ้าต่ำกว่านี้ ระบบธนาคารจะขาดแรงจูงใจรับเงินฝาก ฉะนั้นดอกเบี้ยนโยบายจะไม่ลดลงไปกว่า 0.25% ต่อปี กนง.จึงเหลือกระสุนเก็บไว้เพื่อช็อกระยะ 2 หรือ 3 ดังนั้นจึงเชื่อว่า กนง.จะคงดอกเบี้ยที่ 0.50% ต่อไปยาวถึงปีหน้า"  

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แนวโน้มต่อไปค่าเงินจะเคลื่อนไหวตามเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศเป็นหลักถึง 80% และการเมืองภายในอีก 20% ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม เกิดจากมุมมองนโยบายการควบคุมโควิดที่มีประสิทธิภาพบวกกับตลาดหุ้น ทำให้เกิดการเก็งกำไรระยะสั้น แต่ไม่กระทบนัก เพราะภาคการค้าและการท่องเที่ยวยังหยุดชะงัก แต่ต้องระวังไตรมาส 3 เพราะเงินบาทมีโอกาสพลิกกลับอ่อนค่าได้ จากการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่เงินบาทมักจะอ่อนค่าเฉลี่ย 0.5-1.5% ช่วงไตรมาสก่อนเลือกตั้ง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า แนวโน้มเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ในปลายปีนี้ จากการที่ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและหากไม่ปิดเมืองซ้ำ เพราะคนคลายความกังวลเรื่องสภาพคล่องดอลลาร์จะหายไปก่อนหน้า แต่ขอเตือนว่า เงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาอ่อนค่าประมาณเดือนมิถุนายน เพราะอนาคตสหรัฐฯอาจจะมีการระดมทุนในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ

“ธปท.ยังมีเครื่องมือ ทั้งดอกเบี้ยนโยบายและบริหารทุนสำรอง หรือ จำกัดเงินต่างประเทศเข้า-ออก แต่ดอกเบี้ยนโยบายต่ำเต็มที่แล้วโจทย์ต่อไปคือ ดูแลค่าเงินช่วยผู้ส่งออกให้มีรายได้ และหากอนาคตสหรัฯใช้ดอกเบี้ยติดลบหรือปิดเมืองอีกรอบ คนว่างงาน รายได้หาย เป็นความเสี่ยงส่งสัญญาณให้ทางการคุมสถานการณ์โควิด และดำเนินนโยบายการคลังควบคู่กับธปท.ใช้เครื่องมือจำกัดเงินไหลเข้า-ออก”

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยไม่ได้เป็นตัวหลักที่จะดันเศรษฐกิจจากหลังมือเป็นหน้ามือ แต่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากโควิด ซึ่งหากการเปิดเมืองต้องล็อกดาวน์ครั้งที่ 2  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกระทบเป็นลูกโซ่ ทำให้การฟื้นตัวทั้งกิจกรรมเศรษฐกิจและธุรกิจไม่สามารถดำเนินปกติได้รวมถึงต่างประเทศด้วย การลดดอกเบี้ยนโยบายเป็นเพียงปลายเหตุ จึงขึ้นกับการควบคุมโควิดที่จะมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือประชาชนโดยรวม  

“การลดดอกเบี้ยเงินกู้ย่อมมีผลต่อรายได้แบงก์ ซึ่งล้อตามคุณภาพสินเชื่อและเศรษฐกิจด้วย ขณะที่ธปท.มีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ สอดคล้องกับแบงก์ช่วยลูกค้าอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้ยากลำบากทั้งหมด ซึ่งช่วงที่เหลือกนง.ยังมี Policy Space หากจำเป็นต้องลดอีก 0.25% ต่อปีและหากจำเป็น ธปท.ยังมีมาตรการเพิ่มเติมได้อีก”

 

หน้า 18 หนังสือพิม์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,577 วันที่ 24 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563