“บัณฑูร” หันหน้าเข้าป่า ฉากชีวิต"นักอนุรักษ์"

09 เม.ย. 2563 | 09:04 น.

หนึ่งในคำถามที่หลายคนสงสัยมากที่สุดว่า หลังจาก”บัณฑรู ล่ำซำ”ทิ้งบทบาทนายแบงก์แล้ว จะหันหน้าเข้าป่า สู่เส้นทางตามฝันนักอนุรักษ์อย่างใจปรารถนา เท่ากับว่าจากนี้ไปตระกูลล่ำซำได้ส่งไม้ต่อ(ธนาคารกสิกรไทย)ให้กับผู้บริหารมืออาชีพอย่างเต็มตัวใช่หรือไม่

“บัณฑูร ล่ำซำ” เปิดใจถึงเวลาปลดแอกแบกกระเป๋าเงิน ผันสู่ฝันกับงานอนุรักษ์ผืนป่าน่าน หลังใช้ชีวิตร่วม 40 ปี ภายใต้หลังคารวงข้าว หรือ ธนาคารกสิกรไทย โดยเขาได้แถลงและร่ำลาพนักงานและสื่อมวลชนผ่าน Facebook Live เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงปัญหาโรคระบาดใหญ่ โควิด-19 ที่ยังไม่สามารถกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดลงได้

หลายคนอาจแปลกใจ ทำไม นายแบงก็จึงตัดสินในลงจากตำแหน่ง “ประธานกรรมการ” ธนาคารกสิกรไทย โดยเขาได้เปิดใจผ่านทาง Facebook Live ของธนาคาร เมื่อเวลา 11.00-12.00 น. วันที่ 8 เม.ย. ที่ผ่านมา

ถือเป็นอีกฉากหนึ่งของชีวิต ทำมาเต็มที่แล้ว ไม่รู้จะทำอะไรแล้ว ทำงานแบงก์มา 40 ปี อยากไปทำอย่างอื่นบ้าง สมควรแก่เวลาในการส่งต่ออย่างดี ตอนนี้ไม่มีความกังวลอะไรเลย แถมยังมีความสุขด้วย เพราะมั่นใจว่าทีมงานเก่งทุกคน จบฉากเดิมอย่างสบายใจ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของชีวิต

“บัณฑูร” หันหน้าเข้าป่า ฉากชีวิต"นักอนุรักษ์"

ย้อนเวลา”บัณฑูร” กับ “น่าน” คือ ความปรารถนาที่จะใช้ชีวิตกับผืนป่าน่านที่เขาหลงใหล เมื่อครั้งไปมอบโครงการห้องสมุดที่ จังหวัดน่าน จากนั้นจึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐาน ย้ายทะเบียนบ้านไปพำนักที่จังหวัดน่านเพื่อจะเป็นชาวน่านเต็มตัว สะท้อนให้เห็นว่าเขาจริงจังและจริงใจต่อความปรารถนานี้อย่างลึกซึ้ง

หลังจากปล่อยวางจากตำแหน่งนายธนาคารแล้ว ก็จะสานต่อโครงการ รักษ์ป่าน่านต่อไปโดยจะยังคงทำงานประสานงานกับภาคราชการฟื้นฟูป่าต้นน้ำจังหวัดน่าน ให้เป็นรูปธรรม แต่ยังอาศัยธนาคารเป็นแบ็คอัพสนับสนุนงานอนุรักษ์ โดยเขาจะไม่เข้าไปอยู่ในระบบการเมืองเพราะไม่มีความปรารถนา

พระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 เตือนสติรับมือวิกฤต

 “บัณฑูร” ได้กล่าวในระหว่างอำลาผ่าน Facebook Live  ว่า ประเทศไทยประสบวิกฤตใหญ่เมื่อ 20 ปีก่อนทำให้ระบบเศรษฐกิจล้มครืนทั้งประเทศ หลังวิกฤตครั้งนั้นได้มีกระแสพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยทรงแนะนำว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ขอให้แน่ใจว่า ถ้าวันหนึ่งพายุมา อย่าถึงกับล่มสลาย หมายความว่า อย่าทำจนสุดโต่งเกินตัว ทุกอย่างต้องมีการเตรียมการ เพราะโลกมนุษย์มีการผันแปรตามปัจจัยต่าง ๆมากมาย ถ้าไม่เตรียมการ ไม่ระมัดระวัง เมื่อวิกฤตมา เพื่อพายุมาก็จะเกิดความเสียหายมากมายเหมือนเมื่อ 20 ปีก่อน

เชื่อมั่นระบบธนาคารไทยแข็งแรงสู้โควิดได้

อย่างไรก็ดี ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการธนาคารมาอย่างยาวนาน เขามองเห็นว่า ในวิกฤตโควิด-19นี้ ระบบธนาคารไทยมีความแข็งแกร่ง แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อ 20 ปีก่อน

 เขากล่าวว่าโชคดีที่วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดโรคระบาดครั้งนี้มีผลกับเศรษฐกิจก็จริง  แต่โครงสร้างความมั่นคงของสถาบันการเงินได้ตุนเสบียงสำรองไว้พอสมควร ต่อให้เกิดการถดถอยอันสืบเนื่องมาจากการที่ผู้คนทำงานไม่ได้ตามปกติ ค้าขายไม่ได้ตามปกติ ระบบธนาคารพาณิชย์ยังรับได้ เพียงแต่ต้องสูญเสียกำไรกันไปบ้าง เพราะคราวนี้เป็นการทำเพื่อพยุงประเทศชาติ

เตือนสติ ทุกอย่าวมีความเสี่ยงทั้งสิ้น

แม้ว่าในส่วนธนาคารพาณิชย์ เสมือนฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจกลับมาได้ดี แต่โดยจริง ๆ แล้ว ทุกอย่างมีความเปลี่ยนแปลง มีความเสี่ยงตลอดเวลา เช่น ประชาชนที่ได้กำไรผ่านระบบการเงิน มีการลงทุนโน่นนี่ หากลงทุนในที่มีความเสี่ยงย่อมเกิดปัญหาแน่นอน

ดังนั้น ต้องเตรียมรับมือ ว่าต่อไปพายุจะมารูปแบบไหน ทั้งเศรษฐกิจ โรคระบาด ซึ่งตอนนี้โรคระบาดเป็นพายุที่เกิดขึ้นทั้งโลก เพราะคนไม่สามารถทำมาหากินได้ปกติ 

สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ จะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นอันดับแรก โดยร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและประชาชน โดยการจัดการรักษามาตรฐานการชุมนุมที่เข้มข้น อย่างไรก็ดี ในระหว่างอาจจะมีการสะดุดของกิจการ เนื่องจากไม่มีคนซื้อของ ไม่มีการใช้จ่าย คนไม่มาเที่ยว แต่คนตัวใหญ่อาจจะพอประทังไปได้ แต่รายเล็กอาจจะอ่อนแอ ซึ่งธนาคารก็ช่วยเหลือในการประคองและยืดหนี้ออกไปให้ ขณะที่รากหญ้า จะเห็นว่าภาครัฐได้เข้าไปช่วยเหลือผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การแจกเงิน เพื่อให้ทุกคนสามารถผ่านวิกฤติไปได้

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นครั้งแรก และไม่รู้จุดจบว่าจะจบตรงไหน ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องช่วยประคองกันไป แต่ภาพรวมโครงสร้างของประเทศไทยไม่ได้เสียหาย ดังนั้น หากสถานการณ์โควิด-19 สามารถคลี่คลายได้ เชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นปกติได้

“ครั้งนี้ถือเป็นบทท้าทายของชีวิต ซึ่งแตกต่างจากครั้งที่แล้วที่ทำเกินตัว แต่ครั้งนี้เราต้องเร่งมือสู้กับสงครามโรคเป็นครั้งแรก โดยทุกคนต้องร่วมมือกันให้กำลังใจแพทย์ เพื่อให้สามารถสกัดโรคได้ ส่วนแบงก์ก็ต้องช่วยเหลือกันไป แบกกันไป เพราะทุกอย่างจะมาลงที่ระบบธนาคาร แต่เราเชื่อว่าตอนนี้บ้านเมืองหนักกว่าแบงก์ และทุกคนก็เหนื่อยกันหมด จึงต้องช่วยเหลือกันทุกฝ่าย”นายบัณฑูรกล่าวย้ำ

พายุลูกใหม่ที่ท้าทายหลังโควิดสงบ

อดีตนายแบงก์รวงข้าว ชี้ว่า มาตรการภาครัฐต่าง ๆที่ทำออกมาเพื่อรับมือวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ เห็นว่าเป็นมาตรการแก้ไขและรับมือของภาครัฐดูได้ผลเป็นลำดับ จึงคาดว่าน่าจะไปได้ดี และรองรับได้ขั้นหนึ่ง เพราะรัฐบาลไม่ได้กู้เงินมากเกินไป แม้ว่าระบบอาจจะตึงบ้าง ระบบธนาคารพาณิชย์ก็ตึงแต่ยังพอรับได้ และเงินลงทุนยังพอหาได้ ซึ่งไม่เหมือนปี 2540

“บัณฑูร” หันหน้าเข้าป่า ฉากชีวิต"นักอนุรักษ์"

แต่จะทำอย่างไรหลังจากพายุสงบ “บัณฑูร” ให้ข้อคิดว่า จำเป็นต้องคิดหาวิธีใหม่ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถกลับมาทำมาหากิน มีกินมีใช้ และ จะทำอะไรเป็นอาชีพ ซึ่งจุดนี้ถือว่าเป็นพายุอีกลูกที่ก่อตัวขึ้นมา เพราะความรู้แบบเดิมใช้ไม่ได้ ดังนั้นต้องมีองค์ความรู้ใหม่ ต้องสนับสนุนการวิจัย เพื่อที่จะหาวิชาชีพที่เหมาะสมสำหรับคนไทยหลังพ้นวิกฤตไปแล้ว เพราะไม่เช่นนั้นก็จะแข่งขันสู้คนอื่นไม่ได้

“จะให้คนไทยทำมาหากินแบบไหนเป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่จะให้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งเป็นพายุที่ก่อตัวอีกแบบนึง คือพายุที่ไม่สามารถแข่งขันกับเขาได้ในโลกนี้ ความรู้ใหม่ที่จะต้องสร้างขึ้นมาเพราะความรู้แบบเดิมช่วยไม่ได้”

เตือนสติคนแบงก์

ในการอำลาตำแห่งประธานธนาคารกรรมการ “บัณฑูร” ได้ฝากข้อคิด 4 ข้อ ให้พนักงานแบงก์กสิกรไทย ว่า การทำงานต้อง “อย่ามั่ว อย่าไม่คำนวณ อย่าชุ่ย และอย่าเหยียบตีนกัน”

“อย่ามั่ว” คือ ความไม่ชัดเจน ทุกสิ่งอย่างจะต้องมีความชัดเจน

“อย่าไม่คำนวณ” คือ ทุกอย่างจะมีตัวเลขกำกับ จะต้องดู 

“อย่าชุ่ย” คือ ทุกอย่างต้องทำอย่างระมัดระวัง

“อย่าเหยียบตีนกัน” คือ จะต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

ประธานกิตติคุณธนาคารกสิกรไทยได้ฝากทิ้งท้ายข้อคิดแก่พนักงานแบงก์ว่า “ธนาคารต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ปล่อยสินเชื่ออย่างมีความหมาย ไม่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สารพัดด้านของมนุษย์ ซึ่งพอเหลือกำไรบ้าง ซึ่งความไม่ยั่งยืน ทางธุรกิจสามารถถูกแทนที่ได้ตลอดเวลา หากมีข้อทะเลาะเบาะแว้งกันตลอดเวลา จะไม่สามารถสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจได้” 

อนึ่งหลังจากที่”บัณฑูร”ได้ลาออกจากตำแหน่ง บอร์ดธนาคารกสิกรไทยมีมติเอกฉันท์ในการมอบฉายา “ประธานกิตติคุณ (Chairman Emeritus)” ให้แก่”บัณฑูร” ซึ่งฉายานี้จะไม่เกี่ยวข้องกับการบริหาร แต่เป็นการยกย่องให้เกียรติที่ได้ร่วมงานกับธนาคารกสิกรไทยเป็นเวลา 40 ปี