ทองคำเช้านี้ลดลง 50 บาท รูปพรรณขายออก 25,850 บ.

09 เม.ย. 2563 | 02:33 น.

สมาคมค้าทองคำ ประกาศราคาขายประจำวันที่ 9 เมษายน 2563 (ครั้งที่ 1) เมื่อเวลา 09.30 น. ราคาลดลง 50 บาท ทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 25,150.00 บาท ขายออกบาทละ 25,350.00 บาท ทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 24,695.64 บาท ขายออกบาทละ 25,850.00 บาท

 

ทั้งนี้ ประกาศราคาขายครั้งก่อนหน้า วันที่ 8 เมษายน 2563 เวลา 14.18 น. ทองคำแท่งรับซื้อบาทละ 25,200.00 บาท ขายออกบาทละ 25,400.00 บาท ทองรูปพรรณรับซื้อบาทละ 24,741.12 บาท ขายออกบาทละ 25,900.00 บาท

บทวิเคราะห์สถานการณ์ราคาทองคำแท่ง ประจำวันที่ 9 เมษายน 2563 โดย  บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG)  

 

คำแนะนำ :

เน้นหากำไรในกรอบ 1,629-1,668 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเปิดสถานะซื้อเพื่อทำกำไรระยะสั้นในโซน 1,629 ดอลลาร์ต่อออนซ์  แต่ควรตัดขาดทุนหากราคาหลุดเพื่อไปรอเปิดสถานะซื้อใหม่โซน 1,607-1,594 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนวรับ : 1,629 1,607 1,594 แนวต้าน : 1,668 1,689 1,703

ปัจจัยพื้นฐาน :

ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง  6.22 ดอลลาร์ต่อออนซ์  โดยยังคงได้รับแรงกดดันสำคัญจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์  ท่ามกลางความไม่แน่ใจว่าสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 จะมีแนวโน้มดีขึ้นจริงหรือไม่  ขณะที่ผลกระทบทางเศรษฐกิจดูเหมือนจะเลวร้ายกว่าที่ประเมินไว้ขั้นต้นส่งผลกระตุ้นแรงซื้อสกุลเงินดอลลาร์ที่อยู่ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง  ทำให้การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในระยะนี้ยังถูกสกัดช่วงบวกเอาไว้  อย่างไรก็ดี  ราคาทองคำปรับตัวลดลงในกรอบจำกัดเช่นเดียวกัน  โดยมีแรงหนุนส่งสำคัญ  คือ  การคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  ตอกย้ำการคาดการณ์ดังกล่าวด้วยรายงานการประชุมเฟด(FOMC Meeting Minutes) ประจำเดือนมี.ค. ที่สะท้อนความวิตกของกรรมการเฟดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ปีนี้ และเศรษฐกิจเสี่ยงเผชิญภาวะขาลง  อีกทั้งเฟดยังยืนยันตรึงดอกเบี้ยใกล้ 0% จนกว่าจะพ้นวิกฤต  ซึ่งนั่นจะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับทองคำที่อยู่ในฐานะสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ผลตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ย  แต่เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบเข้ามาส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาจึงทำให้ราคายังคงแกว่งตัวในกรอบ 1657.50-1639.29 ดอลลาร์ต่อออนซ์  ด้านกองทุน SPDR ถือทองเพิ่ม +2.92 ตัน  สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงาน และคาดการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก UoM