ชัดมั้ย “เน้นสุ่ม-ไม่ปูพรมตรวจ” “สิ้นเปลือง-เครื่องมือ-น้ำยา” ไม่พอ

08 เม.ย. 2563 | 12:43 น.

รายงานพิเศษ

การแถลงข่าวของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 มีความชัดเจนอย่างมากใน 2-3 ประเด็น ที่ทำให้ประชาชนที่วิตก ตื่นตระหนกกับการแพร่ระบาดของโรคไวรัส โควิด-19 ได้เห็นถึงสถานการณ์และความเป็นจริง

 

ประเด็นแรก จำนวนผู้ป่วยที่ยืนยันติดเชื้อรายใหม่ยังมีปริมาณที่เพิ่มขึ้น จากวันก่อนหน้า 38 ราย เป็น 111 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมเป็น 30 ราย ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อสะสมรวม 2,369 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังกันต่อไป

 

แต่ในข่าวร้ายก็มีข่าวดีมาก เมื่อคนติดเชื้อจำกัดวงแคบคือ “กลุ่มเดิม-กลุ่มเดินทางมาจากเมืองนอก-กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์-กลุ่มที่ตรวจสอบสวนโรค-กลุ่มกลับจากเมืองนอกและรัฐคัดกรองกักตัว”เป็นกลุ่มหลัก ไม่ใช่คนในประเทศที่ร่วมมือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”กันจนหลายคนเริ่มโอดครวญ

 

ขณะที่กลุ่มเสียชีวิต ก็ไม่ใช่คนที่กักตัวอยู่บ้าน แต่เป็น “คนต่างชาติและเป็นกลุ่มเดินทางจากต่างประเทศ”เป็นหลัก

นอกจากนี้ จำนวนการรักษาหายกลับบ้านได้ ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าดีใจถึง 64 ราย จาก 824 ราย เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เพิ่มขึ้นมาเป็น 888 ราย ในวันที่ 8 เม.ย.  และหากไปดูสถิติเมื่อวันที่ 6 เม.ย.พบว่าหายกลับบ้านได้ 119 ราย และรักษาตัวหายกลับบ้านได้อีก 62 คน ในวันที่ 5 เม.ย.63 

 

ข้อมูลชุดนี้ สะท้อนว่า คนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยมีอัตราการรักษาตัวแล้ว “หาย-ไม่ตาย” มีปริมาณสูงขึ้น การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในประเทศไทยมีประสิทธิภาพมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลก ที่มีอัตราการตายเป็นร้อยคน เป็นพันคนจนผู้คนพากันหวาดผวา

แต่ประเทศไทยติดเชื้อ แต่รักษาหาย! อันนี้สำคัญต่อขวัญกำลังใจของคนไทยเป็นอย่างมาก...คุณว่ามั้ย?!

 

ประเด็นที่สอง จำนวนผู้ป่วยขได้กระจายตัวออกไปยังพื้นที่รอบนอกมากขึ้น โดยผู้ติดเชื้อ 2,369 คน มาจาก 67 จังหวัด โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด 10 อันดับคือ กรุงเทพฯ 1,223 คน นนทบุรี 141 คน ภูเก็ต 140 คน สมุทรปราการ 102 คน ชลบุรี 70 คน ยะลา 68 คน ปัตตานี 55 คน สงขลา 47 คน เชียงใหม่ 39 คน ปทุมธานี 27 คน

 

ในจำนวนนี้มี 10 จังหวัดที่ ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อ ได้แก่ กำแพงเพชร, ชัยนาท, ตราด, น่าน, บึงกาฬ, พังงา, พิจิตร, ระนอง, สิงห์บุรี และอ่างทอง คนไทยต้องช่วยกันปรบมือให้ทุกฝ่ายที่ร่วมแรงร่วมใจ อย่าให้ติดเชื้อ! 

 

ประเด็นที่สาม โฆษก ศบค.ระบุว่าตอนนี้กลุ่มเสี่ยงที่ต้องตรวจสอบเข้มข้นตลอด 24 ชั่วโมง คือกลุ่มผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศถือเป็นกลุ่มก้อนใหม่ที่ต้องเฝ้าระวัง เหมือนกรณีคนไทยที่เดินทางกลับมาจากอินโดนีเซียพบว่าติดไวรัสโควิดถึง 42 คน แม้ทั้งหมดได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลแล้ว แต่จะต้องขีดวงการดูแลผู้ป่วยที่กลับมาจากต่างประเทศให้ได้

 

ข้อมูลนี้บ่งบอกว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ไม่มีเท้าเดินมาติดคน แต่มาจากคนที่ ”เป็นพาหะ”นำเชื้อไปติดผู้อื่น และแต่ละวันยังมีคนไทยอีกมากที่ทยอยเดินทางกลับประเทศ ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องเข้มงวดมากขึ้น 

 

ใครเข้ามาในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีใบรับรองแพทย์ หรือไม่มีไข้ จะต้องเข้าพักกักตัว ในพื้นที่ที่รัฐจัดไว้ State Quarantines ทุกคน ไม่ต้องไปสนหน้าอินทร์หน้าพรหมกันอีกต่อไป ใครไม่ทำตามกติกานี้ต้องลงโทษให้เห็น

 

อย่าเปิดทางให้ใครเข้า-ออก โดยเสรี เพียงแค่มีเวิร์กเพอร์มิต หรือใบรับรองแพทย์โชว์!...รัฐต้องทำให้เห็น

ประเด็นที่สี่ ประเทศไทยมีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนจำกัดอย่างยิ่ง และน่าจะเป็น”จุดอ่อนในการสกัดการแพร่ระบาด” ทั้งประเทศมีแค่ 80 แห่ง เป็นปริมณฑล 39 แห่ง ต่างจังหวัด 41 แห่ง ศักยภาพในการตรวจมีเพียง 20,000 กลุ่มตัวอย่างเท่านั้น

 

นี่จึงเป็นที่มาของจำนวนการตรวจผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม-ปัจจุบันสามารถตรวจได้เพียงแค่ 75,000 กลุ่มตัวอย่าง

 

ในจำนวน 75,000 ตัวอย่างนั้น มิได้หมายถึงจำนวนประชากร 75,000 คนเสียด้วยซ้ำไป เพราะการตรวจจากกลุ่มตัวอย่างนั้นถ้าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้วจะต้องมีการตรวจเชื้อไวรัสเป็น 10 ครั้ง เหมือนที่ "แมทธิว ดีน"  โดนตรวจเชื้อ

 

แสดงว่า อัตราการตรวจเชื้อของประเทศไทยต่ำมาก และใช้วิธีการ “ป่วยจึงตรวจ” เราเน้นรักษามากกว่า”ป้องกัน”การระบาด เหมือนอิตาลี ไต้หวัน เกาหลีใต้

 

คำถามคือปัญหาการตรวจเชื้อไวรัสที่ระบาดหนักจนคนผวากันทั้งเมืองจะเป็นอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ บอกว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นจะต้องตรวจให้ได้วันละแสนเคส 

 

“การจะเพิ่มจำนวนตรวจเป็นแสนเคส ไม่ใช่ทิศทางทั้งหมด แต่เป็นแค่ส่วนหนึ่งที่เราจะใช้ Active case finding คือการไปหาผู้ป่วย แล้วขีดวง แล้วตรวจตรงนั้นให้ได้มากที่สุด วิธีการนี้เป็นหลักการของระบาดวิทยาที่ยอมรับกันทั่วโลก”นพ.ทวีศิลป์ชี้แจงไว้อย่างนี้ครับ 

 

ประเทศไทยมีทรัพยากรทางด้านการตรวจสอบไวรัสไม่เพียงพอ ชุดตรวจที่มีอยู่เพียงพอให้ดำเนินการตรวจได้แค่เพียงวันละ 10,000 เคส ในต่างจังหวัด และอีก 10,000 เคสในกรุงเทพฯ แถมยังมีปัญหาเรื่องเครื่องตรวจและน้ำยา แปลว่า การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขของไทย จะไม่ตรวจปูพรมไปมากๆเพื่อสุ่มหาคนมีเชื้อให้ได้มากที่สุด เพราะสิ้นเปลือง และไม่ได้สร้างผลดีในระยะยาว เพราะถึงจะตรวจวันนี้ไม่เจอ แต่พรุ่งนี้หรือวันรืนมาตรวจอีกอาจจะเจอก็ได้ เพราะระยะเวลาการฟักตัวของเชื้อในตัวของแต่ละคนไม่ได้พร้อมกัน 

 

การรอให้มีอาการมาก่อนแล้ว ค่อยตรวจน่าจะดีต่อทรัพยากร และกำลังบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจำกัดมากกว่า ไม่ใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ไปโดยเปล่าประโยชน์ 

 

แปลไทยเป็นไทยแบบไม่ต้องอ้อมค้อม จะไม่มีการปูพรมตรวจคนติดเชื้อทั่วประเทศ เพราะเราไม่มีเครื่องมือในการตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 และน้ำยาที่เพียงพอ...

ชัดมั้ย...ถ้าไม่ดูแลตัวเองก็ตัวใครตัวมันละครับ!