อัดงบ 6 แสนล้าน อุ้มเกษตร 9 ล้านครัวเรือน

08 เม.ย. 2563 | 06:25 น.

รมว.คลัง แจง มาตรการเยียวยาระยะ 3  พุ่งเป้าดูแล 3 กลุ่มหลัก  "  เกษตร  9 ล้านครัวเรือน - อาชีพอิสระ - งาน สธ." ใช้วงเงิน 6 แสนล้าน พร้อมกันวงเงินอีก 4 แสนล้าน ยกระดับสร้างอาชีพชุมชน  รับวิกฤติครั้งนี้รุนแรงกว่าปี 40 

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในรายการ"นิวส์รูม ห้องข่าวเศรษฐกิจ"  โดยขยายความถึงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. ) เมื่อวานนี้  ( 7เม.ย. ) ซึ่งได้อนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 ระยะที่ 3 มูลค่ารวม 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10-12% ของจีดีพี  ผ่านการออกพ.ร.ก. 3 ฉบับ คือ 1) พ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท  2) พ.ร.ก.ให้ ธปท. ออก Soft loan ช่วยเหลือ SME มูลค่า 5 แสนล้านบาท และ 3) พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงินมูลค่า  4 แสนล้านบาท โดยจะออกพ.ร.ก.กู้เงินวงเงิน 1 ล้านล้านบาทเท่านั้น  ส่วนอีก 9 แสนล้านบาท เป็นการออกพ.ร.ก.เพื่อปลดล็อกให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) สามารถใช้เงิน 

ทั้งนี้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็น 2 ส่วน เพื่อใช้ในมาตรการดูแลและเยียวยา 6 แสนล้านบาท และ 4 แสนล้านบาทเป็นการฟื้นฟู พัฒนายกระดับสร้างอาชีพในชุมชน   โดยจะเป็นการอุดช่องโหว่จากมาตรการระยะที่ 2 ( ระยะที่ 2 การช่วยเหลือเงินเยียวยา 5,000 บาทต่อราย ระยะเวลา 3 เดือน ให้กับแรงงาน ลูกจ้าง  ) พุ่งเป้า 3 กลุ่มหลักคือ 1.เกษตรจะให้เงินช่วยเหลือเป็นรายครัวเรือน เนื่องจากเป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศและยังมีสมาชิกของกลุ่มเกษตรกร ที่เข้ามาเป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ประสบภาวะตกงานต้องกลับบ้าน รวมถึงราคาพืชผลเริ่มตกต่ำ 2.กลุ่มอาชีพอิสระ และ 3.เพื่อสนับสนุนงานสาธารณสุข (สธ.) ในการต่อสู้กับไวรัสโควิด  

"กลุ่มเกษตรกร รัฐบาลจะเข้าไปดูเป็นรายครัวเรือน ปัจจุบันมีอยู่ราว 9 ล้านครัวเรือน จากข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธกส. ซึ่งรัฐบาลมีข้อมูลอยู่แล้ว โดยรูปแบบจะเป็นการเติมเงินเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ส่วนจะให้เท่าไร อย่างไรยังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบทั้งหมดยังนี้ต้องผ่าน ครม." 

ส่วนกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ขายของ กลุ่มนี้ไม่ได้ถูกเจ้าหน้าสั่งปิดโดยตรง แต่ต้องปิดกิจการของตัวเอง จะช่วยเหลืออย่างไรนั้น ?
นายอุตตม กล่าวว่า ลูกจ้างพนักงาน และธูรกิจที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ ครม.ก็ได้มีการหารือเช่นกัน และนายกฯก็สั่งการให้กระทรวงแรงงานไปดูว่าจะทำอย่างไรกับกลุ่มนี้ได้บ้าง  เช่นเดียวกับกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ได้รับผลกระทบ ถ้าอยู่ในระบบประกันสังคม ก็จะเข้าไปตามเกณฑ์ประกันสังคม ส่วนอาชีพอิสระ กระทรวงการคลังจะดูแล เช่นเดียวกับกลุ่มที่จ่ายเงินเข้าประกันสังคมเอง ในระบบมาตรา 39 และ 40  ก็จะให้สิทธิ์ได้รับเงิน 5,000 บาทได้เช่นกัน  

ขณะที่ 14 ล้านคนที่ได้รับเงินจากบัตรคนจน จะได้อะไรจากมาตรการครั้งนี้หรือไม่? รัฐมนตรีกระทรวงคลัง กล่าวว่า ในเรื่องของบัตรสวัสดิการที่ได้รับอยู่ ก็จะยังคงได้รับต่อไป แต่อย่างไรก็ตามการที่อยู่ในบัตรคนจน ถ้าได้รับผลกระทบ ก็ยังได้รับสิทธิ์เยียวยาเงิน 5,000 บาทด้วยเช่น

ส่วนวงเงินอีก 400,000 ล้านบาท จะใช้เพื่อจัดกิจกรรมฟื้นฟูชุมชม  การยกระดับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  นำระบบบเทคโนโลยีปรับใช้เพื่อพัฒนาด้านการผลิต เสริมสร้างทักษะ เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งต้องออกจากงาน กลับมาบ้าน จึงเราต้องสร้างงานในชุมชนให้เกิดขึ้น เพื่อคนเหล่านี้สามารถตั้งหลัก ตั้งฐาน และตั้งมั่นให้ได้

นายอุตตม กล่าวว่า วิกฤติครั้งนี้ ผมมองว่ารุนแรงกว่าปี 2540 เพราะปัญหาครั้งนั้นเกิดจากภาคธุรกิจ สถาบันการเงินปล่อยกู้เกินตัว  ภาคอสังหาริมทรัพย์มีหนี้สิน  แต่ประชาชนไม่ได้ถูกกระทบสามารถกลับไปทำงานที่บ้านได้ แต่ผลกระทบจากโควิทครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งออกไทยมากกว่า 70% ของจีดีพีได้รับผลกระทบ และเป็นการกระทบจากฐานรากขึ้นบน  อีกทั้งมาตรการเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส เช่นการประกาศเคอร์ฟิว ก็เป็นสาเหตทำให้กำลังซื้อหดหาย ส่งผลต่อภาคกำลังการผลิต การเลิกจ้างและรัดตัวเศรษฐกิจให้ยิ่งหดตัว  

"อย่างไรก็ดี กรอบการใช้เงินตาม พรก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท จะวางไว้เพื่อเยียวยาตามมาตรการระยะที่ 3 ดังที่กล่าว แต่สามารถที่จะยืดหยุ่น ปรับการใช้เงินได้ เพราะไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ไวรัสโควิด ท้ายสุดจะจบอย่างไร  และเป็นงบที่มีทุกกระทรวงมีส่วนร่วม โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองในทุกโครงการและต้องผ่านการพิจารณาในคณะรัฐมนตรี (ครม)ทุกครั้ง" นายอุตตม กล่าวทิ้งท้าย