‘ว่างงาน’พุ่ง เมษา6.5ล้านราย

10 เม.ย. 2563 | 00:00 น.

โควิด-19 ลามลูกจ้าง-พนักงาน เดือนมี.ค.ตกงานเพิ่มพรวด 72% รวม 1.44 แสนคน ขึ้นทะเบียนเยียวยาอีก 3 แสนราย สภาฯนายจ้างคาดสิ้นเม.ย.ทะลุ 6.5 ล้านคน ลุ้นรัฐช่วยอุ้มพนักงานโรงแรม-ท่องเที่ยว หวังซอฟต์โลน 5 แสนล้านจากธปท.ชุบชีวิตแรงงาน

โรคระบาดเชื้อโควิด-19 คุกคามเศรษฐกิจหนัก นายจ้างแห่ปิดตัวพักกิจการทำลูกจ้างตกงานระนาว เดือนมี.ค.2563 ผู้ประกันตนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงาน (ถูกเลิกจ้าง) จำนวน 144,861 ราย เทียบกับเดือนก.พ. มีจำนวน 84,177 ราย เพิ่ม 60,684 ราย หรือเพิ่มขึ้นถึง 72 %ขณะที่การยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ชดเชยรายได้ มีอัตราเพิ่มเพียง 12.57 %และคาดว่าตัวเลขในเดือนเม.ย จะขยายในอัตราเร่งขึ้นอีก เนื่องจากมีลูกจ้างที่ว่างงานจากเหตุสุดวิสัย (รัฐสั่งปิดสถานที่-เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกสั่งกักตัวกันแพร่เชื้อ 14 วัน) ยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนแล้วถึง 300,000 ราย ซึ่งนายจ้างรับรองแล้วเพียง 30,000 นาย  จึงควรรีบดำเนินการเพื่อกองทุนฯจะได้ปล่อยเงินได้ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ เพียงรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย) คาดการณ์คนตกงานเดือนมี.ค.-เม.ย.2563 ว่า จะอยู่ที่ราว 6,500,000 คน โดยเป็น 1.แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 2,750,000 คน 2. ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการโดยคำสั่งรัฐ แยกเป็น ลูกจ้างในร้านค้า, ร้านอาหารในห้าง 1,000,000 คน ร้านค้ารายย่อย 840,000คน แผงลอย 90,000 คน ร้านนวดแผนโบราณ เสริมสวย 370,000 คน ร้านอาหาร 210,000 คน แรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ปิดชั่วคราวอีกหลายแสนคน แรงงานเด็กจบใหม่ 500,000 คน คนตกงานสะสม 400,000 คน

 อัดมาตรการเยียวยาลูกจ้าง

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า มาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงาน ในส่วนของสำนักงานประกันสังคมมาตรการที่ออกมาคือ ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างเหลือ 4% (เดิม5%) ลูกจ้าง 1% (ดิม 5%) 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) ผู้ประกันตน ม.39-40 เหลือเดือนละ 86 บาท ขยายเวลาการนำส่งเงินสมทบ3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.) เลื่อนไปชำระภายในวันที่ 15 ก.ค.-15 ก..ย.ตามลำดับ การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย (รัฐสั่งปิดสถานที่-เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกสั่งพักงาน 14 วัน) ผู้ประกันตน ม.33 ที่ไม่ได้ทำงานไม่มีรายได้ ได้ชดเชย 62% (เดิม 50%) ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งอัตรานี้ทำให้ผู้ประกันตนที่มีรายได้ระดับค่าแรงขั้นตํ่า (วันละ313บาท เหรือเดือนละ 9,390 บาท จะได้รับการชดเชยที่ 5,821 บาท ส่วนผู้ประกันตน ม.39-40 ที่ไม่ได้สิทธิทดแทนว่างงานอยู่แล้ว ให้ใช้สิทธิลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน ”รับเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน

รวมทั้งปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ว่างงานจากการลาออก ได้ทดแทนอัตรา 45 %ของค่าจ้างจนกว่าจะหางานใหม่ได้ แต่ไม่เกิน 90 วัน (บังคับใช้ 2 ปี) และกรณีเลิกจ้างจากปิดกิจการ ลูกจ้างได้รับชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ตามอายุงานตั้งแต่ 30 วัน สูงสุด 400 วัน และต้องบอกล่วงหน้า 30 วันแล้ว ไปสิทธิประโยชน์ชดเชยว่างงานระหว่างหางานใหม่ได้ 70% ของค่าจ้าง แต่ไม่เกิน 200 วัน (บังคับ 2 ปีเช่นกัน) โดยค่าจ้างในระบบประกันสังคมมีเพดานสูงสุดที่ 15,000 บาท 

นอกจากนี้กองทุนประกันสังคม ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน วงเงิน 30,000 ล้านบาท (3ปี) เพิ่มสิทธิรักษาพยาบาลครอบคลุมถึงโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เท่าเทียมกับกองทุนบัตรทอง และสวัสดิการข้าราชการ ทั้งนี้ กองทุนประกันสังคมมียอดเงินสะสม(ณ ไตรมาสแรก 2562) ที่ 2,063,627 ล้านบาท มีสมาชิกผู้ประกันตนรวม 16,657,679 คน เป็นผู้ประกันตนม.33(ลูกจ้างพนักงาน) 11,692,429 คน ผู้ประกันตนม.39-40 (อดีตลูกจ้าง-อาชีพอิสระ สมทบเอง) 4,965,250คน

โรงแรมขอผู้ว่าฯสั่งปิด

ด้านธุรกิจท่องเที่ยว นายสุรพงศ์ เตชะหรูวิจิตร ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโรงแรมที่ผู้ว่าฯสั่งปิดกิจการชั่วคราวในแต่ละพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี จันทบุรี ชลบุรี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น อุดรธานี นครราชสีมา และสุราษฎร์ธานี ทำให้ลูกจ้างได้รับการชดเชยจากประกันสังคม และอีกหลายจังหวัดกำลังรอการพิจารณา ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบความเดือนร้อนของแรงงานในธุรกิจโรงแรมแล้ว  อย่างไรก็ตาม โรงแรมไหนที่ยังมีนักท่องเที่ยวใช้บริการอยู่ หรือรายที่ไม่อยากปิดกิจการ ยังสามารถเปิดให้บริการต่อ แต่ต้องทำแผนปฏิบัติการเฝ้าระวังโควิดเสนอทางจังหวัด ที่โรงแรมนั้น ๆ ตั้งอยู่


‘ว่างงาน’พุ่ง  เมษา6.5ล้านราย

ลุ้นซอฟต์โลน5แสนล้านธปท.

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยว่าสทท.ได้เสนอให้ครม.พิจารณาให้ภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบที่ต้องปิดกิจการชั่วคราวโดยที่รัฐบาลไม่ได้สั่งปิด ให้เข้าข่ายมาตรา79/1 ในกรณีเหตุสุดวิสัย เพื่อให้แรงงานท่องเที่ยวทั้งระบบ สามารถได้รับเงินชดเชยจากประกันสังคม ในอัตรา 62% ของค่าจ้างได้ด้วย ในส่วนของซอฟต์โลนท่องเที่ยว 1 หมื่นล้านบาท ที่กันออกจากวงเงินซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท วงเงินนี้ยังไม่พอ ต้องรอมาตรการเยียวยาโควิด-19 ระยะ3 ที่จะออก พ.ร.ก.เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ปล่อยซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่รวมถึงกลุ่มท่องเที่ยวได้

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ทางแบงก์ได้เสนอบอร์ดพิจารณาเปิดช่องทางพิเศษการปล่อยซอฟท์โลน 1 หมื่นล้านบาทให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว จากที่ต้องผ่านถึง 3 บอร์ดคือ บอร์ดจัดการ, บอร์ดบริหารและบอร์ดธนาคาร เพื่อให้เร็วขึ้น คาดว่าจะเริ่มอนุมัติกลางเดือนเมษายนเป็นต้นไป 

ส่วนหลักเกณฑ์พิจารณานั้นแบงก์ยังจะดูจากงบการเงินย้อนหลัง เช่น พิจารณาย้อนหลัง 4 ปี ควรจะมีกำไรใน 2 ปี เพื่อให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีศักยภาพพอจะยืนได้ ไม่ใช่มีประวัติผลประกอบการที่บอบบาง ยิ่งช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ประกอบการจะยิ่งอ่อนแอเพิ่มขึ้นอีก

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9 - 11 เมษายน พ.ศ. 2563