ธปท.ผนึกออมสิน ฉีดสินเชื่อ6.2แสนล้าน ช่วย7แสนราย

08 เม.ย. 2563 | 05:50 น.

ครม.ไฟเขียว มาตรการเยียวยาโควิดระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ผ่าน พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ คลังเดินหน้ากู้ 1 ล้านล้านบาท สร้างการจ้างงานในพื้นที่ เสริมแกร่งฐานราก ธปท.ฉีด 4 มาตรการ ทั้งเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs พร้อมรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) ระยะที่ 3 ภายใต้วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท จะทำให้รัฐบาลมีเงินในการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการและประชาชน เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิดครั้งนี้ ถึง 2.08 ล้านล้านบาท

ประกอบด้วย ออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)กู้เงินของกระทรวงการคลัง 1 ล้านล้านบาทและมาจากพ.ร.ก. กู้เงินอีก 2 ฉบับ วงเงิน 9 แสนล้านของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 อีก 80,000-100,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้จะมีการโยกเงินกู้ดอกเบี้ยตํ่า (ซอฟต์โลน) ของธนาคาร ออมสินที่รัฐบาลเคยอนุมัติไว้ 1.5 แสนล้านบาท แต่ปล่อยกู้ได้เพียง 3 แสนล้านบาท จึงยังเหลืออีก 1.2 แสนล้านบาท ที่จะนำมารวมกับซอฟต์โลนของธปท.ที่จะให้กู้กับเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีวงเงินรองรับการปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีรวม 6.2 แสนล้านบาท คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประมาณ 7 แสนราย 

สำหรับวงเงินกู้ 1 ล้านล้าน ของกระทรวงการคลังนั้น จะเป็นการเพิ่มงบสำหรับด้านสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับสิทธิ์จากการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือ www.เราไม่ทิ้งกัน.com คนละ 5 พันบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน วงเงินรวม 2.7 แสนล้านบาท

ส่วนที่เหลือ 5.55 แสนล้านบาท จะเป็นแผนงานการช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ และอีก 4 แสนล้านบาท จะเป็นการนำไปใช้โครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม จากที่เสนอไป 5 แสนล้านบาทแต่นายกฯ ตัด 1 แสนล้านบาทไปช่วยเกษตรกร และประชาชน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เม็ดเงินที่ได้รับอนุมัติจากครม.จะนำไปใช้ในการดูแลผู้ได้รับผลกระทบ ลูกจ้างอิสระ เดือนละ 5 พันบาท ขยาย 3 เดือนต่ออีก 3 เดือนเป็น 6 เดือน ถึงกันยายน 2563 ส่วนการดูแลภาคของเกษตรกรที่จะประกาศรายละเอียดต่อไปถึงเกณฑ์และวิธีการ และด้านสาธารณสุข มีการกำหนดจัดงบประมาณเพิ่มเติมหากที่ความจำเป็นต้องใช้ ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้ 6 แสนล้านบาทจาก 1 ล้านล้านบาท

ส่วนการดูแลเศรษฐกิจรวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการดูแลงานที่สนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่กลับพื้นที่จึงต้องดูแลเรื่องการสร้างงาน สร้างอาชีพที่ต้องเริ่มขณะนี้อย่างต่อเนื่องไประยะต่อไป เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งให้เดินหน้าต่อเป็นรากฐาน ซึ่งวงเงินนี้จำนวน 4 แสนล้านบาท

“4 แสนล้านบาท จะดูแลพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะวันนี้เศรษฐกิจกระทบทั้งระบบ กำลังซื้อในพื้นที่หดหาย ผู้ประกอบการรายเล็กถึงกลางกระทบหมด จำเป็นต้องนำสภาพคล่องไปหล่อเลี้ยง สนับสนุนสร้างงานสร้างอาชีพให้มากที่สุดในเวลานี้ เพื่อให้ทุกคนดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง ส่วนการจ่ายชดเชยเกษตรกรที่ไม่ได้เงินชดเชย จะใช้หลักของครัวเรือน ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)กำลังทำรายละเอียด”

ธปท.ผนึกออมสิน  ฉีดสินเชื่อ6.2แสนล้าน ช่วย7แสนราย

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย ( ธปท.)กล่าวว่า ครม.เห็นชอบ 4 มาตรการเพิ่มเติมในส่วนของธปท. โดยมาตรการ  ที่ 1.เลื่อนชำระหนี้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท โดยพักชำระหนี้ 6 เดือน ซึ่งมี 1.7 ล้านราย ยอดสินเชื่อคงค้าง 2.4 ล้านล้านบาท

2.สนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลนเพิ่มเติม 500 ล้านบาท โดยธปท.คิดดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้ธนาคารนำไปปล่อยกู้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งลูกหนี้สามารถขอวงเงิน soft loan ได้ไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 และสถาบันการเงินเจ้าหนี้ จะคิดดอกเบี้ยในอัตรา 2% ต่อปี

โดยรัฐบาลจะรับภาระชดเชยดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก และรัฐบาลจะชดเชยความเสียหายบางส่วน และผู้ประกอบการจะปลอดดอกเบี้ยอัตรา 2% ใน 6 เดือนแรก โดยวงเงิน soft loan จะไม่ครอบคลุมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 

3. มาตรการเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้เอกชน ภายใต้พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้เอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกันสูง หากตลาดหนึ่งทำหน้าที่ไม่ได้ก็อาจจะส่งผลกระทบกับอีกตลาด จากตลาดตราสารหนี้เอกชนมีมูลค่า 3.6 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็น 20% ของตลาดตราสารหนี้ ในระบบ

“กองทุนตราสารหนี้เอกชนเป็นเงินสำรองชั่วคราว ซึ่งธปท. เตรียมความพร้อมไว้ก่อนล่วงหน้า เป็นการดับไฟตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ในปี 2540 เป็นการจัดการภายหลังเกิดวิกฤติทำให้ต้นทุนสูง ครั้งนี้เน้นที่จะช่วยเติมเต็มให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการสภาพคล่องส่วนขาดเท่านั้น”

4. ลดวงเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูเหลือ 0.23 % เป็นเวลา 2 ปี จากเดิมที่ต้องนำส่ง 0.46% ต่อปี ซึ่งธปท.คาดหวังให้ธนาคารนำเงินส่วนที่ลดไปลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ได้ทันที

“ธปท.ศึกษามาตรการของธนาคารกลางหลายประเทศ ไม่ใช่ธนาคารกลางที่ขอให้ออกพระราชกำหนด ให้ธปท.ซื้อตราสารที่ครบกำหนดการชำระ แต่ต้องเป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทที่มีคุณภาพดี”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,564 วันที่ 9 - 11 เมษายน พ.ศ. 2563