ชงครม.ฉีดแพ็กเกจยักษ์ 1.9 ล้านล้านสู้พิษโควิด-19

07 เม.ย. 2563 | 00:10 น.

จับตาประชุมครม.วันนี้อนุมัติแพ็กเกจยักษ์วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้าน บรรเทาผลกระทบโควิด-19 กระทรวงการคลัง เสนอ ออกพ.ร.ก.กู้เงินฟื้นฟูเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ด้านธปท.จัดแพ็กเกจใหญ่ ตั้งกองทุน 4 แสนล้านพยุงตลาดตราสารหนี้ พร้อมอัดฉีดซอฟท์โลนเพิ่ม 5 แสนล้าน สำนักงบฯหั่นงบรายกระทรวง 10% โปะเพิ่มอีก 6-7 หมื่นล้าน

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันนี้(7เม.ย.) จะมีการพิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ชุดที่ 3 โดยแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่าวงเงินที่หน่วยงานต่างๆเสนอให้ครม.เห็นชอบรวมกันกว่า 1.9 ล้านล้านบาท

 

กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมครม.อนุมัติการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.)ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท

 

เงินกู้จำนวนดังกล่าวจะนำมาใช้สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ที่ลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน จากผลกระทบจากระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่ผ่านการคัดกรอง ซึ่งกำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับสิทธิไว้จำนวน 9 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 1.35 แสนล้านบาท

 

ส่วนที่เหลือจะนำไปใช้ในการดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม ผู้ประกอบการ เกษตรกร ลูกจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคม รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่นการจ้างงานระสั้นทั่วประเทศ การเสริมสร้างอาชีพโอกาสทักษะใหม่ๆให้ประชาชนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเศรษฐกิจในประเทศ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมในพื้นที่ทั่วประเทศ  

"พ.ร.ก.กู้เงินที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้ครม.อนุมัติวงเงิน 1 ล้านล้านบาท จะเป็นงบที่ใช้สำหรับการฟื้นกำลังซื้อในประเทศ  ซึ่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สั่งให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงและจัดสรรงบให้ท้องถิ่น ชุมชนสร้างงานสร้างรายได้ภายในจังหวัดต่างทั่วประเทศ"

 

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังจะเสนอให้ที่ประชุมครม.ออกพ.ร.ก.อีก 2 ฉบับ ปรกะอบด้วย 1.พ.ร.ก.จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้โดยตรงผ่านกองทุนที่ตั้งขึ้น หากมีการดำเนินงานผลขาดทุนเกิดขึ้นรัฐบาลจะเข้ามาช่วยชดเชยความเสียหาย ส่วนตราสารหนี้ที่ธปท.จะเข้าไปซื้อจะต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง และเป็นตราสารหนี้ที่มีเคดิตเรทติ้งไม่น้อยกว่า investment grade ขึ้นไป
 

2.พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด ในรูปแบบโครงการเงินกู้แบบผ่อนปรนอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ หรือซอฟท์โลน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะตั้งวงเงินสนับสนุนเพิ่มเติมให้สถาบันการเงินอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือภาคธุรกิจ และลูกหนี้ของธนาคารในกลุ่มต่างๆที่ได้รับผลกระทบ 

ขณะที่สำนักงบประมาณ จะเสนอการปรับลดงบประมาณรายจ่ายของแต่ละกระทรวงลง 10% วงเงินประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้เมื่อรวมวงเงินที่จะใช้สำหรับการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ เบื้องต้นจะอยู่ที่ 1.96-1.97 ล้านล้านบาท