" ธีระชัย "เตือนเจ้าหน้าที่ ธปท.ต้องระวังตัวมากที่สุด

06 เม.ย. 2563 | 11:07 น.

เพจ Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala เตือนเจ้าหน้าที่ ธปท. ต้องระวังตัวมากที่สุด 

จากเพจ Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala หรือ ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล โพสต์เรื่อง  เตือนเจ้าหน้าที่ ธปท. ต้องระวังตัวมากที่สุด  โดยระบุว่า


ข่าวเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ระบุว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รวม 3 ฉบับ  ซึ่งเกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  2 ฉบับ และกระทรวงการคลัง 1 ฉบับ ซึ่งจะขออนุมัติร่างกฎหมายทั้ง 3 ฉบับต่อที่ประชุม ครม. วันที่ 7 เม.ย. นี้

 

สำหรับร่าง พ.ร.ก. ของ ธปท. ทั้ง 2 ฉบับ  ได้รับการขยายความเพิ่มเติมจากนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. โดยฉบับแรกเป็น ร่าง พ.ร.ก. ให้อำนาจ ธปท. ทำซอฟต์โลนโดยตรงด้วยเงินของแบงก์ชาติเอง ซึ่งคล้ายกับช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2555 


ส่วนอีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.ก. ให้อำนาจ ธปท. ซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดออกใหม่ โดยมีเป้าหมายดูแลตลาดที่มีขนาดสูงถึง 3.5 ล้านล้านบาท และครอบคลุมประชาชนหลากหลายประเภท  ถือเป็นการ "สร้างหลังพิงให้ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนให้สามารถดำเนินการต่อไปได้"

 

" ธีระชัย "เตือนเจ้าหน้าที่ ธปท.ต้องระวังตัวมากที่สุด

 

ผมขอชมเชย พ.ร.ก. ซอฟต์โลน

ในปี 2555 ผมเป็นรัฐมนตรีคลัง และผมมีแนวคิดจะขอให้ ธปท. ให้ซอฟต์โลนแก่กิจการธุรกิจที่ประสบปัญหาจากน้ำท่วมใหญ่ ผมจึงได้ขอนัดพบหารือกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล  โสณกุล ซึ่งขณะนั้นท่านเป็นประธาน ธปท. ปรากฏว่าท่านรับฟังความจำเป็นจากผมแล้ว ท่านก็จ้องหน้าของผม แล้วบอกว่า - ได้ ท่านจะนำไปเสนอคณะกรรมการ ธปท. ต่อไป

 

ผมได้ให้มีการจัดทำยกร่าง พระราชกำหนด การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. ๒๕๕๕ กำหนดวงเงินให้กู้แก่เอกชนที่เดือดร้อนไว้ 3 แสนล้านบาท โดย ธปท. จะคิดดอกเบี้ยจากสถาบันการเงินร้อยละ 0.01 ต่อปี
กำหนดให้ผู้มีสิทธิกู้ ได้แก่  บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนา ที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงาน สถานที่ประกอบอาชีพหรือสถานประกอบธุรกิจหรือการค้าของตนอยู่ในเขตพื้นที่อุทกภัย และผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่อยู่ในเขตพื้นที่อุทกภัย โดยสถาบันการเงินต้องให้กู้ร่วมด้วยร้อยละ 70 ของเงินให้กู้ และเนื่องจากต้นทุนของสถาบันการเงินสูงกว่า จึงให้คิดดอกเบี้ย blended cost ได้ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี

 

ผมถูกปรับพ้นออกจากตำแหน่งในวันที่ 18 มกราคม 2555  แต่พระราชกำหนดดังกล่าวเดินหน้าต่อไป โดยออกประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 และเป็นเครื่องมือหลักอย่างหนึ่งที่รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้แก้ปัญหาวิกฤติมหาอุทกภัย  คิดถึงความหลังในวันนี้ ผมก็ต้องขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง ต่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ขณะนั้น และคณะกรรมการ ธปท. ทุกคนที่ร่วมมือช่วยกันหาทางรอดให้แก่ประเทศ

ดังนั้น ข่าวข้างต้นในส่วนที่เกี่ยวกับ ธปท. จะให้ซอฟต์โลนเพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤติโควิดนั้น ผมไม่เป็นห่วง เพราะเป็นแนวทางเดียวกับที่ผมทำเป็นตัวอย่างไว้

 

แต่ผมเป็นห่วง พ.ร.ก. ให้อำนาจ ธปท. ซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดออกใหม่
แทนที่จะเป็นทางรอดแก่ประเทศ ผมเกรงว่าจะพา ธปท. และประเทศชาติลงนรก !!!

 

ผมขอตั้งข้อสังเกต ดังนี้
1. รัฐบาลต้องแก้ปัญหาที่ตนเองก่อไว้เสียก่อน
ขณะนี้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กำลังจะต้องชดใช้กรรมเก่า  เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ปล่อยให้มีเงินทุนไหลเข้ามาลงทุนซื้อตราสารหนี้สกุลบาทมาก  เพื่อกินส่วนต่างดอกเบี้ย  มีผลทำให้เงินบาทแข็ง แต่ทำให้ตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นคึกคัก ช่วยหนุนตัวเลข จีดีพี  บริษัทอสังหาริมทรัพย์เป็นกลุ่มธุรกิจหลักกลุ่มหนึ่งที่ออกตราสารหนี้  เป็นกลุ่มใหญ่ที่ฉวยเอาเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวไปใช้ประโยชน์   จึงนำไปสู่การสร้างคอนโดฯเต็มไปหมด ส่วนหนึ่งเล็งไว้ขายแก่คนจีน และบ้านตากอากาศเพื่อขายคนยุโรป

 

โควิดได้เปลี่ยนสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยสิ้นเชิง  คนจีนจะไม่มาซื้อคอนโดฯ เหมือนเดิม  และกว่าคนยุโรปจะกลับมาเที่ยวไทยก็อีกระยะหนึ่ง  ดังนั้น ตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังจะเข้าสู่โหมดถูกเขย่า  บางโครงการจะไม่รอด บางบริษัทจะไม่สามารถชำระหนี้เมื่อตราสารครบกำหนด   ราคาอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวอยู่แล้ว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำมาระยะหนึ่ง และเนื่องจากนโยบายเก็บภาษีจากที่ดินแบบพิสดารของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์  ที่กดดันชนชั้นล่าง  เอาใจชนชั้นบน  แต่บัดนี้เจอไข้โควิดอีกรายการหนึ่ง ราคาอสังหาริมทรัพย์จะยิ่งอ่อนลงไปอีก

 

มาถึงวันนี้ นักลงทุนต่างชาติรายใหม่ไม่เข้ามาอีกแล้ว ส่วนรายเก่า ที่ก่อนหน้านี้เสวยสุขจากกำไรส่วนต่างดอกเบี้ย บัดนี้ก็ติดกับดัก ถ้าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้  ก็ต้องยอมรับขาดทุน ต้องยอมรับ haircut

 

ถามว่า วันนี้แบงก์พาณิชย์พร้อมจะให้กู้แก่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ฐานะการเงินอ่อนหรือไม่?  เพื่อช่วยบริษัทแก้ผ้าเอาหน้ารอด ช่วยให้บริษัทหาเงินไปใช้คืนเมื่อตราสารหนี้ครบกำหนด เป็นไปได้หรือไม่?


ตอบว่า จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะแบงก์พาณิชย์ตระหนักดีว่า ลูกค้าเงินกู้หลายราย ทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจอื่น บางธุรกิจจะอ่อนกำลัง  เงินหมุนเวียนจะสะดุด และอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นหลักประกันก็มีแนวโน้มจะเสื่อมราคาลงไป ดังนั้น แบงก์พาณิชย์ก็จะง่วนดูแลลูกค้าปกติอย่างใกล้ชิดเป็นหลัก จะให้ความสำคัญแก่บริษัทที่ออกตราสารหนี้เป็นรอง

 

" ธีระชัย "เตือนเจ้าหน้าที่ ธปท.ต้องระวังตัวมากที่สุด

 

ถามว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะต้องดำเนินการอย่างไร
ตอบว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จะต้องแก้ปัญหาที่ตนเองก่อไว้  โดยบังคับให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์แก้ปัญหาของตนเองก่อน ด้วยการเพิ่มทุน หรือขายโครงการแบบยกล็อต หรือขายแบบลดราคาต่ำพิเศษ หรือประกาศหยุดชำระหนี้ moratorium ตราสารหนี้ เพื่อบังคับให้นักลงทุนต่างชาติต้องรับผลขาดทุนตามสัดส่วนที่เป็นธรรมไปก่อน

 

ส่วนการตรา พ.ร.ก. ให้อำนาจ ธปท. ซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดออกใหม่ ผมมีความเห็นว่า อาจจะมีผลเป็นการเอาคนไทยทั้งประเทศ ไปโอบอุ้มนักลงทุนต่างชาติ

 

2. เจ้าหน้าที่ ธปท. ต้องระวังตัวเป็นพิเศษ
ถ้า ธปท. เป็นผู้เสนอให้ออก พ.ร.ก. ดังกล่าว ก็จะถูกบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์ชาติไทยว่า ธปท. เป็นผู้เสนอโครงการ เพื่ออุ้มนักลงทุนต่างชาติ  แต่ผ่องถ่ายความเสี่ยงเครดิตไปให้แก่ประชาชน เพราะถึงแม้รัฐบาลจะเสนอให้ความคุ้มครองแก่ ธปท. โดยให้กระทรวงค้ำประกันกรณีมีขาดทุนก็ตาม ก็ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม


เพราะมาตรการดังกล่าว เป็นเพียงการคุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ ธปท. อันเป็นรูปแบบของกฎหมาย  แต่มิได้เป็นการคุ้มครองความเสี่ยงให้แก่ชาติไทย อันเป็นเนื้อหาทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

 

ผมขอเตือนน้องๆ ที่ ธปท. ว่า ในภาวะหน้าสิ่วหน้าขวาน  อะไรก็ดูจำเป็นไปหมด  แต่ถ้าท่านไม่ตั้งสติให้ดี  เมื่อวิกฤติผ่านไป ท่านมีความเสี่ยงจะถูกดำเนินคดี ซึ่งเคยเกิดมาแล้วในอดีตแก่รุ่นพี่ เพราะการที่ ธปท.  เข้าไปเป็นผู้จัดสรรเครดิตเสียเอง ถ้าเกิดขาดทุน แม้แต่กระทรวงการคลังจะเป็นผู้รับภาระ  แต่เนื่องจากเป็นภาระแก่ชาติบ้านเมือง ท่านก็อาจจะถูกสอบสวน 

 

" ธีระชัย "เตือนเจ้าหน้าที่ ธปท.ต้องระวังตัวมากที่สุด

 

ดังนั้น ทางที่ดี ท่านจึงควรจะเสนอให้ผู้ว่าการ ธปท. เป็นผู้อนุมัติทุกครั้ง เพื่อจะได้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว

นอกจากนี้ การที่ ธปท. เข้าไปเป็นผู้จัดสรรเครดิตเสียเอง จะมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียง Reputation risk ของ ธปท. เพราะอาจจะถูกกล่าวหาว่ามีการวิ่ง มีการรับเงินใต้โต๊ะ หรือมีการชี้นำให้ช่วยบริษัทที่สนิทสนมกับนักการเมือง หรือสปอนเซอร์ของพรรคร่วมรัฐบาล

 

ถามว่า กรณีประเทศอื่นที่ธนาคารกลางเข้าไปช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชน  มีการบริหารความเสี่ยงกันอย่างไร
(ก) ธปท. ระบุว่า จะซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนดออกใหม่   จึงเป็นการซื้อในตลาดแรก  ซึ่งย่อมไม่มีกลไกที่จะสะท้อนความเสี่ยงเครดิต หรือสะท้อนราคาตลาดที่แท้จริงได้เลย 

 

ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปจะซื้อในตลาดรองที่ยังไม่ถึงวันครบกำหนดเท่านั้น  ซึ่งจะเป็นกลไกที่สะท้อนราคาตลาดที่แท้จริงไว้ก่อน  (โดยกรณีตราสารระยะยาว จะซื้อเฉพาะที่มีอายุเหลืออยู่เกินกว่า 6 เดือน ขอย้ำว่าไม่ใช่ตราสารที่กำลังจะครบกำหนด และกำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่อง จึงเป็นการดำเนินนโยบายการเงินอย่างแท้จริง มิใช่ทำหน้าที่จัดสรรเครดิตแบบมั่ว ๆ) 


กรณีนี้ ธปท. จึงต้องระวังจะถูกบันทึกประวัติศาสตร์ว่า เป็นผู้เสนอให้ประเทศไทยเสี่ยงแบบไม่ลืมหูลืมตา ไม่ตรงกับตัวอย่างที่มีอยู่แล้วในยุโรป

 

(ข) กรณีเฟดนั้น ผันตัวให้อยู่ห่างออกจากกลไกการคัดเลือกและการตัดสินใจเรื่องราคาอย่างสิ้นเชิง โดยตั้งเป็นกองทุนต่างหาก และมอบให้ฟันด์แมเนเจอร์ระดับไฟแลบรายหนึ่งเป็นผู้บริหารกองทุนอิสระไปเลย


แต่ทั้งนี้ ธปท. ต้องคำนึงว่า เฟดในยุคของทรัมป์นั้น  ถูกขย่มผ่านทวิตเตอร์หลายครั้ง ก็เลยมีภาพว่า อาจจะทำตัวขาดความเป็นอิสระไปเสียแล้ว  กลายเป็นเครื่องมือที่ทรัมป์จะใช้ปั๊มฟองสบู่ตลาดหุ้นในปีเลือกตั้งไปเสียแล้ว

 

" ธีระชัย "เตือนเจ้าหน้าที่ ธปท.ต้องระวังตัวมากที่สุด

 

(ค) ธปท. มีหน้าที่ต้องสร้างความมั่นใจ และต้องจัดสภาพคล่องหล่อเลี้ยงระบบการเงิน ก็จริง โดย ธปท. ควรจะตั้งวงเงินหลายล้านล้านบาท ไม่ใช่เพียงหนึ่งล้านล้านบาท


แต่แทนที่ ธปท. จะเข้าไปซื้อตราสารหนี้เอกชนเองโดยตรง ควรเปลี่ยนเป็นกำหนดให้แบงก์พาณิชย์เป็นผู้รับซื้อ แล้วเมื่อใดที่แบงก์ต้องการสภาพคล่อง  ก็เปิดให้นำมาเป็นหลักประกันเพื่อกู้จาก ธปท. ได้

 

ด้วยวิธีนี้ จะมั่นใจได้ว่าแบงก์พาณิชย์ที่รับซื้อตราสารหนี้ ได้พิจารณาความเสี่ยงแบบมืออาชีพเรียบร้อยแล้ว โดยกรณีใดเห็นได้ว่าบริษัทนั้นไม่มีช่องทางแก้ปัญหาด้านรายได้ (เช่น มีคอนโดฯ เตรียมขายคนจีนเต็มไปหมด) ก็จะกดราคาลงต่ำกว่า par
วิธีแก้ปัญหาในตลาดการเงินที่ดีที่สุด คือต้องยอมรับความเป็นจริง และต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส ส่วนการดำเนินการที่ผิดหลักการนั้น มีแต่จะนำไปสู่ความตื่นตระหนกในที่สุด

 

ผมเองผ่านวิกฤติต้มยำกุ้งมาแล้ว จึงมีประสบการณ์ และขอเตือนรุ่นน้อง ๆ ที่ ธปท. ขอให้ท่านระวังตัวอย่างมากที่สุด