ชงครม. ออกพรก. อุ้มตราสารหนี้

06 เม.ย. 2563 | 01:30 น.

แบงก์ชาติ ชงครม. ออกพรก.ซื้อตราสารหนี้ชั้นดี เผยอสังหาฯ เสี่ยงสุด ครบชำระแสนล้าน

การระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่ยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยและยังไม่มีท่าที่ว่า จะหยุดการแพร่เชื้อได้ ทำให้รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือ ออกมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. ระบุว่า ธปท.เตรียมเสนอมาตรการต่างๆ ให้คณะรัฐมตรี (ครม.)พิจารณาเห็นชอบในหลักการ

 

ทั้งนี้จะเสนอออก พ.ร.ก.เพื่อจัดทำมาตรการสร้างหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้เอกชน เพื่อให้ดำเนินการต่อไปได้ เพราะจากการทำงานร่วมกับซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร่วมกันพิจารณากลไกที่สำคัญที่จะช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้เอกชนที่ปัจจุบันมีขนาดใหญ่ 3.5 ล้านล้านบาท เทียบกับสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาด 14 ล้านล้านบาท

 

ขณะที่ผู้ถือตราสารหนี้เอกชน ครอบคลุมประชาชนหลากหลายประเภท และองค์กรหลากหลาย เช่น กองทุนรวม สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม กองทุนตราสารหนี้ อีกทั้งภาคธุรกิจจำนวนมากอาศัยการกู้เงินผ่านตลาดตราสาร ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกระทบที่ลุกลามมาจากตลาดตราสารหนี้โลกและความไม่แน่นอนเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดตราสารเอกชนทำหน้าที่ไม่ปกติเหมือนทั่วๆ ไป จึงต้องมีมาตรการช่วยเหลือ

 

“มาตรการต่างๆ ที่ผ่านมาเน้นไปที่ลูกค้ารายย่อย ให้พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยระยะหนึ่ง แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ยังมีความไม่แน่นอนและมีแนวโน้มจะขยายมากขึ้น จึงต้องขยายมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการพักเงินต้นและดอกเบี้ยให้ไปสู่เอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีสินเชื่อที่เป็นสภาพคล่องใหม่ เพื่อช่วยเหลือรายที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนและดูแลให้ธุรกิจก้ามข้ามสถานการณ์วิกฤติไปได้ และจากนั้นจากมาตรการของธนาคารกลางหลายประเทศ จะเห็นว่า ให้อำนาจ ธปท.สามารถซื้อตราสารหนี้เอกชนที่ครบกำหนด เพื่อไปชำระตราสารเดิม เฉพาะตราสารของบริษัทที่มีคุณภาพดี โดยจะต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่เติมเต็มให้ตลาดตราสารหนี้เอกชนทำหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งจะต้องมีเงื่อนไขคัดกรองว่าเป็นบริษัทที่ดี”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจข้อมูลหุ้นกู้ที่ครบอายุ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-4 พฤษภาคม 2563 พบว่า มีจำนวนรวม 130,076 ล้านบาท โดยบริษัทที่มีมูลค่าหุ้นกู้ครบอายุมากที่สุด คือ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีบมจ.ไทยเบฟเวอเรจ 2,000 ล้านบาท, บมจ.การบินไทย (THAI) 2,500 ล้านบาท, บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) 8,975 ล้านบาท, บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) 5,950 ล้านบาท, บมจ.แสนสิริ (SIRI) 2,270 ล้านบาท, บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH) 7,000 ล้านบาท และธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (KKP) 7,155 ล้านบาท

 

ที่กระทบหนัก และวิตกกันมากคือกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นับจากนี้ไม่สามารถยืดอายุการชำระหนี้ตราสารหนี้ได้ ท่ามกลางสถานการณ์การขาย ค่อนข้างฝืด เนื่องจาก ต่างได้รับผลกระทบรุนแรง จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ โควิด -19 ตั้งแต่ต้นปีซํ้าเติมความบอบชํ้า ผลพวงสงครามการค้า และ ยาแรง เกณฑ์ การปล่อยสินเชื่อ หรือ แอลทีวี ของแบงก์ชาติ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ นายวงศกรณ์ ประสิทธิ์วิภาต กรรมการผู้จัดการ บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ระบุ ยอมรับว่ามีลูกค้า ไม่มาโอนค่อนข้างมาก เนื่องจาก ไม่มีความมั่นคงในอาชีพ จากสถานการณ์โควิด

 

นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท แวลู บมจ.พฤกษา ระบุ บริษัทมีสภาพคล่องค่อนข้างมาก ทั้งการก่อสร้างเร็วการขายและการโอนกรรมสิทธิ์ แต่ละเดือนมียอดโอนกว่า 3,000 ล้านบาท บริษัทจึงไม่มีผลกระทบและมีแคชโฟลว์ค่อนข้างมาก

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,563 วันที่ 5 - 8 เมษายน พ.ศ. 2563