“แบงก์ชาติ”ออกพรก.พยุงตลาดตราสารหนี้3.5ล้านล้าน

03 เม.ย. 2563 | 07:39 น.

"แบงก์ชาติ"ออกพรก.พยุงตลาดตราสารหนี้3.5ล้านล้าน ชงครม.อังคารหน้า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นัดพิเศษ ว่า ในส่วนของผู้ประกอบการ ธปท.ทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์เพื่อนำเสนอมาตรการชุดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาเน้นประชาชนรายย่อย มีการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับช่วงเวลาหนึ่ง และเอสเอ็มอีก็มีมาตรการอีกชุด แต่สถานการณ์การระบาดยังมีความไม่แน่นอนมาก และมีแนวโน้มขยายมากขึ้นได้ จึงขยายมาตรการดูแลผู้ประกอบการ เรื่องของการพักเงินต้น แล้วก็ขยายให้ครอบคลุมเอสเอ็มอีที่มีขนาดใหญ่ขึ้นให้ครอบคลุมมากขึ้น

 

 “แบงก์ชาติ”ออกพรก.พยุงตลาดตราสารหนี้3.5ล้านล้าน

 

นายวิรไท กล่าวว่า จะมีเรื่องของสินเชื่อที่จะช่วยสภาพคล่องใหม่ ผู้ประกอบการจำนวนมากขาดเงินทุนหมุนเวียน ใช้ในการดูแลลูกจ้าง ธุรกิจให้ก้าวข้ามสภาวะที่ยากลำบากนี้ได้ ธปท.จะนำเสนอครม.เพื่อขอความเห็นชอบอนุมัติในหลักการ ที่จะขอออกพระราชกำหนด โดยธปท.เอง เพื่อจัดทำ ซอฟต์โลน ด้วยเงินของธปท. คล้ายกับที่เคยทำเมื่อปี 2555 ที่มีน้ำท่วมใหญ่ ที่ให้ธปท.จัดทำซอฟต์โลนโดยตรงได้ อันนี้ก็จะเป็นโครงการที่ใหญ่กว่าที่ครม.อนุมัติให้ใช้เงินธนาคารออมสินในรอบที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดจะนำเสนอครม.ให้ความเห็นชอบตัวร่างพระราชกำหนดในวันอังคารที่ 7 เม.ย. นี้ 

นายวิรไท กล่าวว่า วิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น เรียนว่าสถาบันการเงินเข้มแข็งสามารถเป็นเสาหลักสำคัญให้กับเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ ขณะเดียวกันเราก็ต้องให้แน่ใจว่าตลาดการเงินยังสามารถทำหน้าที่เป็นปกติด้วย สำนักงานกลต.และธปท.จึงร่วมกันพิจารณากลไกที่สำคัญที่ช่วยดูแลตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชน ซึ่งวันนี้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นมาก

 

“ตลาดตราสารหนี้มีขนาดถึง 3.5 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้กับภาคเศรษฐกิจประมาณ 14 ล้านล้านบาท จะเห็นได้ตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชนมีขนาดที่ใหญ่ และผู้ซื้อตราสารหนี้เหล่านี้ครอบคลุมประชาชนหลากหลายประเภทและองค์กร อาทิกองทุนรวมตราสารหนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ กองทุนในตราสารหนี้ในภาคเอกชน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ธุรกิจจำนวนมากด้วยที่อาศัยการกู้ยืมเงินผ่านตลาดตราสารหนี้”

 

 “แบงก์ชาติ”ออกพรก.พยุงตลาดตราสารหนี้3.5ล้านล้าน

 

นายวิรไท กล่าวอีกว่า แต่สถานการณ์ได้ลามมาจากตลาดสารหนี้ในโลก มาสู่ตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทย ถ้ามีความไม่แน่นอนในสถานการณ์เศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะทำให้การทำหน้าที่ของตลาดตราสารหนี้เอกชนทำหน้าที่ไม่ปกติ ธปท.จึงขอเสนอหลักการต่อครม.ว่า เพื่อมีมาตรการสร้างหลังพิงให้กับตลาดตราสารนี้ให้เอกชน เพื่อให้ดำเนินต่อไปได้ โดยศึกษาจากมาตรการของธนาคารกลางจากหลายประเทศ ทำคล้ายกันคือการสร้างหลังพิงให้กับตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

 

คือการขอให้มีการออกพ.ร.ก.ให้ธปท. สามารถเข้าไปซื้อตราสารที่ครบกำหนดที่จะครบกำหนดโลวโอเวอร์ หรือที่จะมีออกใหม่เพื่อไปชำระของเดิมได้ แต่ทั้งหมดต้องเป็นตราสารที่ออกโดยบริษัทคุณภาพดี และเขาจะต้องระดมทุนจากตลาดเอกชนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เราเป็นเพียงส่วนเข้าไปเติมเต็มเท่านั้น เพื่อทำให้ตลาดทำหน้าที่ได้ตามปกติ โดยจะมีเงื่อนไขคัดกรองให้แน่ใจว่าเป็นบริษัทที่ดี  ก็เป็นมาตรการที่จะเสนอออกเป็นพ.ร.ก.ที่จะเสนอที่ประชุมครม.วันที่ 7 เม.ย. เช่นกัน รายละเอียดก็จะรับทราบหลังจากครม.มีมติแล้ว

นายวิรไท กล่าวว่า ยังมีอีก 2 มาตรการการเงิน ที่จะขอความเห็นชอบจากครม. 1.เป็นการขยายระยะเวลาในการคุ้มครองเงินฝากออกไป ต้องเรียนยืนยันว่าสถาบันการเงิน ธปท. มีความมั่นคงดีมาก แต่ประชาชนมีความกังวล เพราะการคุ้มครองเงินฝากจะลดลง เหลือเพียง 1 ล้านบาท ในเดือนสิงหาคมนี้  คณะกรรมการฯของสำนักงานคุ้มครองเงินฝากจึงให้ขยายออกไปก่อนจากที่ 5 ล้านบาทจะลดเหลือ 1 ล้านบาท ก็ให้ยืดเป็นเดือนสิงหาคมปีหน้า เพื่อช่วยลดความกังวลของประชาชน 

 

 “แบงก์ชาติ”ออกพรก.พยุงตลาดตราสารหนี้3.5ล้านล้าน

 

อีกเรื่องคือการเลื่อนการส่งเงินสมทบธนาคารพาณิชย์ที่จะไปใช้หนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูของสถาบันการเงิน วันนี้ที่มีคนไปฝากเงินที่ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารก็จะต้องนำส่ง 0.46% เป็นเงินนำส่งเพื่อไปใช้หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ซึ่งเป็นหนี้จากวิกฤติตั้งแต่ปี 2540 ที่ยังเหลือยอดส่วนหนึ่ง ซึ่งตอนนี้อัตราดอกเบี้ยลดลงมาก

 

โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ที่ปรับลด 2 ครั้งที่ผ่านมา ก็จะทำให้มีการส่งผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปสู่ภาคธุรกิจและประชาชนได้ เพราะตรงนี้เป็นต้นทุนที่ค้ำอยู่ทำให้สถาบันการเงินไม่สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงไปได้  จึงขอให้ลดลงจาก 0.46% เหลือ 0.23% เป็นเวลา 2 ปี เงินตรงนี้ก็จะให้สถาบันการเงินนำไปลดดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงต่างๆ ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ประชาชนและภาคธุรกิจต้องจ่าย จะทำให้สถาบันการเงินก็จะมีเม็ดเงินเข้าไปลดภาระ

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าสรุปคือ ธปท.จะออกพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับใช่หรือไม่ ผู้ว่าการธปท. ตอบว่า เป็นพ.ร.ก. 2 ฉบับ อย่าเรียกว่าพ.ร.ก.กู้เงิน แต่เป็นพ.ร.ก.ที่ให้ใช้เงินของธปท.เข้าไปช่วยดูแล ไม่ได้เป็นการกู้เงินออกมาใหม่ ส่วนจะใช้วงเงินทั้งหมดเท่าไรนั้นขอให้ครม.ให้ความเห็นชอบในหลักการก่อน แล้วจะได้เห็นรายละเอียดต่างๆ

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการของธปท.ที่จะช่วยเจรจาให้ลีสซิ่งลดดอกเบี้ยเพราะคนเช่าซื้อจำนวนมากได้รับผลกระทบ นายวิรไท กล่าวว่า  เมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์ลีสซิ่งก็มีหลายประเภท ที่มีทั้งธนาคารพาณิชย์ และมีที่ไม่อยู่ในกำกับดูแลของธปท. และวิธีที่ได้เงินมาปล่อยกู้ต่อก็ต่างกัน ถ้าเป็นธนาคารพาณิชย์ก็ใช้เงินฝากมาปล่อยก็เป็นสภาพคล่องมาก ถึงเป็นเหตุผลที่ว่าจะมีการจัดเป็นซอฟต์โลนพิเศษที่ให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นที่ไม่ใช่สถาบันการเงินด้วย ส่วนมาตรการซอฟต์โลนจะเป็นอย่างไรช่วยได้อย่างไร รอให้ครม.อนุมัติก่อน

 

“จะมีขนาดครอบคลุมลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น วงเงินที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ที่มากกว่าธนาคารออมสินที่ครอบคลุมรายเล็ก เอสเอ็มอี ที่ไม่ครอบคลุมขนาดกลาง และธนาคารออมสินก็มีความจำกัดในเรื่องสภาพคล่อง ส่วนเงื่อนไขต่างๆเราก็ทำงานกับสถาบันการเงินต่างๆเพื่อให้แน่ใจว่าเมื่อมีการมาสามารถนำไปใช้ได้จริงและมีผลต่อประชาชนและเจ้าของธุรกิจ”