เงินฝากท่วมแบงก์ พักหลบความเสี่ยง

02 เม.ย. 2563 | 00:00 น.

ตลาดประเมินครึ่งแรกปี 2563 เงินฝากโตกระฉูด เผย 2 เดือนเริ่มเห็นสัญญาณ เงินจากขายสินทรัพย์อื่น หอบหลบพักความเสี่ยง รอจังหวะลงทุน ชี้ทิศตลาดเงินตลาดทุนและทองคำยังผันผวน หนุนคนหันถือเงินสด รักษาเงินต้น แบงก์หวั่นจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม

แม้แนวโน้มดอกเบี้ยจะเป็นทิศทางขาลง หลังจากธนาคารกลางหลายๆประเทศประกาศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งรวมถึงไทยด้วย เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ที่กำลังขยายวงกว้างขึ้นและจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยอดเงินฝากธนาคารพาณิชย์กลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับราคาสินทรัพย์ต่างๆ ที่นักลงทุนต่างเทขาย แม้จะขาดทุน เพื่อต้องการถือเงินสดให้มากที่สุดในสภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้แต่ทองคำหรือกองทุนรวมก็ตาม ที่เห็นการเทขายออกมา จนบางแห่งต้องปิดกองทุนไปแล้ว เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดตามมา

 

ฐานเศรษฐกิจรวบรวมเงินฝากธนาคารพาณิชย์ในระบบ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ส่วนใหญ่พบว่า ทุกธนาคารมีปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสวนทางกับยอดการปล่อยสินเชื่อ โดยมากสุดคือ ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา เพิ่มขึ้น 1.2 แสนล้านบาท หรือ 8.25%  ตามด้วยยูโอบีเพิ่มขึ้น 26,053 ล้านบาท หรือ  6.21%  ซีไอเอ็มบี ไทยเพิ่มขึ้น 9,287 ล้านบาท หรือ 4.91% ตามด้วย กสิกรไทย 91,655 ล้านบาท หรือ 4.65% และธนาคารกรุงเทพ เพิ่มขึ้น 1 แสนล้านบาท หรือ 4.42%

แหล่งข่าวเปิดเผยว่าแนวโน้มเงินฝากธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะครึ่งปีแรกน่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปลายปีที่ผ่านมา ผู้ถือสินทรัพย์หรือหน่วยลงทุนส่วนใหญ่ทยอยขายสินทรัพย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และนำเงินมาพักในบัญชีเงินฝากธนาคาร เพื่อรอจังหวะการลงทุน ซึ่งเป็นปกติในทุกๆปี แต่เนื่องจากปีนี้มีปัจจัยความผันผวนในทุกตลาด ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน การลงทุนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำ ต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งสิ้น

 

 “ในภาวะที่ทุกตลาดไม่ปกติ ส่วนใหญ่คนจะหันมาถือเงินสด เพราะหากต้องการสภาพคล่องในระยะเวลาอันสั้น อาจจำเป็นต้องขายสินทรัพย์ในราคาส่วนลดหรือ Discount อีก ซึ่งแนวโน้มจะเห็นเงินฝากไหลเข้าธนาคารจำนวนมาก เพราะคนไม่เล่นหุ้น ไม่ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยง ที่สำคัญคนต้องการรักษาเงินต้น และเวลาขายกองทุนก็มักจะโอนเงินมาพักที่ธนาคารอยู่แล้วเพื่อที่รอจังหวะในการลงทุนในระยะข้างหน้า แต่ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งฝั่งธนาคารไม่ได้ต้องการเงินฝาก เพราะสินเชื่อไม่ได้เติบโตมาก ที่สำคัญถ้าเงินฝากเข้ามาเยอะ ธนาคารก็จะต้องมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกค้า แต่จะเห็นได้ว่าธนาคารในฝั่งยุโรปอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบไปนำหน้าแล้ว ซึ่งประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะใกล้เคียง

เงินฝากท่วมแบงก์  พักหลบความเสี่ยง

นายเอกสิทธิ์ พฤฒิพลากร ผู้อำนวยการอาวุโสผลิตภัณฑ์ธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดเงินฝากภาพรวม ขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น กองทุนหุ้นและจะมีการขายกองทุนตราสารหนี้ว่า จะมีการผิดนัดชำระหรือไม่ เพราะฉะนั้นจึงต้องหาที่ปลอดภัย ซึ่งเงินฝากเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและสร้างรายได้ให้กับเจ้าของสินทรัพย์ เพราะปัจจุบันราคาทองคำก็มีความผันผวนค่อนข้างสูงดังนั้นแนวโน้มเงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงจึงเป็นที่นิยม และเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาไม่นานมาก

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซีไอเอ็มบี ไทยมีเงินฝากเพิ่ม 6,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากออมทรัพย์ที่มีดอกเบี้ยสูง (speed saving) อีกส่วนเป็นเงินฝากประจำราว 50% เป็นเงินฝากประจำ 5 เดือน และออมทรัพย์เงินฝากดอกเบี้ยสูง โดยเงินฝากประจำ 5 เดือน จ่ายดอกเบี้ยอัตรา 1.25% และล่าสุดธนาคารเพิ่งออกเงินฝากประจำ 9 เดือน ซึ่งจะมีผลในเดือนเมษายน 2563 กำหนดฝากขั้นตํ่า 500 บาท จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 1. 3% ต่อปี และเงินฝาก Digital Saving จ่ายดอกเบี้ยอัตรา 2% ต่อปี ซึ่งจะหมดเขตภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยคาดว่ายอดเงินฝากสิ้นปีจะอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท

 

ตอนนี้ตลาดค่อนข้างผันผวน จึงมีลูกค้าบางกลุ่มที่มองหาเงินฝากประจำที่มีระยะเวลานาน อีกทั้งเงินฝากเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยสูงสำหรับผู้บริโภค เช่น เงินฝากประจําดอกเบี้ยสูง ซึ่งแนวโน้มก็จะเห็นสภาพคล่องไหลไปอยู่ในเงินฝากทุกแบงก์จนกว่าตลาดจะมีความชัดเจน เช่น จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19 มีตัวเลขลดลงหรือมีปัจจัยบวกเข้ามาเสริม เมื่อนั้นก็จะเห็นเงินฝากไหลไปในสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้หรือตราสารทุนอีกครั้ง

สำหรับปัจจัยที่มีผลให้เงินฝากในตลาดเพิ่มขึ้นมาจากความกังวลหรือผู้บริโภคมีความกลัวว่า ผู้ออกหุ้นกู้จะผิดนัดชำระ จึงมีการถ่ายถอนเงินในกองทุนต่างๆ เพื่อนำไปที่ปลอดภัย โดยเงินฝากเป็นช่องทางที่ปลอดภัย

 

ส่วนภาพรวมความต้องการสินเชื่อ นายเอกสิทธิ์กล่าวว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงทรงตัว เพราะทุกธนาคารมุ่งเน้นที่จะให้การช่วยเหลือ เพื่อประคองลูกค้าในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากเหตุการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยในส่วน ของสินเชื่อบ้านของธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย 2 เดือนที่ผ่านมาลดลง 20%

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563