เอ็นพีเเอลพุ่ง จี้ธปท.รับมือ ลูกหนี้โวยแบงก์ช่วยไม่จริง

01 เม.ย. 2563 | 23:55 น.

บี้ ธปท. รับมือหนี้เสียพุ่ง ห่วงมนุษย์เงินเดือนตกงาน หลังธุรกิจปิดกิจการชั่วคราว แบงก์แจงผวา NPL อ้างพบลูกหนี้ผิดนัดชำระ 3 งวด ดอดเจรจาขอเข้ามาตรการลูกค้าดี ขณะที่ธปท.ยังไม่ผ่อนเงื่อนไขด้านเครดิต

หลังการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉิน เพื่อให้คนอยู่บ้าน หรือ Lockdown เพื่อลดการแพร่เชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) แต่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอลงแรงหรือหยุดชะงัก สิ่งที่ตามมาคือ การจ้างงานลดลง อัตราการว่างงานสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อแผ่วลงด้วย

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารต่างประเทศ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมทั้งผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ออกมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อสำหรับลูกหนี้ดี เน้นประคับประคองลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย 6 กลุ่มคือ 1.ลูกค้าบัตรเครดิต กำหนดผ่อนปรนโดยลดอัตราผ่อนชำระขั้นตํ่าจากเดิม 10% 2.สินเชื่อส่วนบุคคล 3.ลูกค้าสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ของธนาคาร (วงเงินไม่เกิน 250,000 บาท) 4.สินเชื่อลีสซิ่ง (เครื่องจักร) 5.สินเชื่อบ้านสำหรับวงเงินไม่เกิน (3 ล้านบาท) และ 6.สินเชื่อผู้ประกอบการรายย่อย (เอสเอ็มอี) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาท

 

ต้นทุนแบงก์ต่างกัน

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.เปิดเผยว่า มาตรการที่ธปท.ประกาศเป็นมาตรฐานขั้นตํ่า ส่วนการช่วยเหลือเป็นดุลพินิจของแต่ละธนาคารที่จะนำไปพิจารณาให้ความช่วยเหลือได้ตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับ ในส่วนของบัตรเครดิต ซึ่งทางชมรมบัตรเครดิตกับธนาคารต้องไปหารือกัน เพื่อช่วยลดภาระตรงนี้ เพราะปกติลดเงินต้นไม่ได้อยู่แล้ว แต่ให้อำนาจแต่ละธนาคารไปพิจารณาในส่วนของดอกเบี้ยเอง แต่ต้องเข้าใจว่า แต่ละธนาคารมีต้นทุนหรือภาระแตกต่างกัน เพราะมีโครงสร้างฐานลูกค้าที่ไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถลดเหมือนกันทุกธนาคารได้

 

ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าหรือไม่นั้น หลักเกณฑ์ในการพิจารณาไม่ใช่ว่า ทุกธนาคารจะลุกขึ้นมาปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ที่ผ่านมา ธนาคารได้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงตามดอกเบี้ยนโยบายแล้ว อย่างไรก็ตาม วิธีการทำงานของธนาคารจะติดต่อลูกค้าโดยตรงเป็นรายๆ ไป เพื่อรับฟังปัญหาและให้ความช่วยเหลือตามสภาพ ซึ่งแบงก์พยายามจะดูแลลูกค้าทั้งหมด แต่ความลำบากของคนไม่เท่ากัน จึงต้องดูแลเป็นรายๆ 

 

แบงก์ช่วยไม่จริง

อย่างไรก็ตาม หลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ดีออกมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 ปรากฏมีลูกหนี้บางส่วนออกมาระบุถึงการขอความช่วยเหลือจากธนาคารเจ้าหนี้ ยังไม่ได้รับการดูแลเท่าที่ควร เช่น ลูกหนี้บัตรเครดิตระบุว่า หลังติดต่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ผู้ออกบัตรเครดิต ส่วนใหญ่ไม่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จริงตามที่ประกาศ บางธนาคารยังปฏิเสธให้ลูกค้าผู้ถือบัตร โอนยอดวงเงินคงเหลือไปเข้าโครงการมาตรการช่วยเหลือลูกค้าดี และเริ่มการผ่อนชำระใหม่ แต่ต้องปิดบัตรบัญชีเดิมไปก่อนและปฏิเสธที่จะพิจารณา ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากเดิม และในส่วนของงวดการผ่อนชำระยังคงยึดมาตรฐานลดวงเงินผ่อนชำระ 5% ใน 2 ปีแรก ตามเกณฑ์กลางที่กำหนดไว้

 

ต่อข้อถามธนาคารพาณิชย์ตามที่ลูกหนี้ร้องเรียนว่า ไม่ได้ให้การช่วยเหลือลูกค้า(ดี)จริงนั้น แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้ธปท.ไม่ได้สนับสนุนด้านเครดิต เช่น การปล่อยสินเชื่อเพิ่มหากเกิดกรณีเป็นหนี้เสีย ธนาคารก็ต้องบันทึกเป็นหนี้เสียเช่นเดิม จึงไม่กล้าปล่อยวงเงินเพิ่ม เช่นเดียวกับการพักหนี้ ไม่เก็บค่างวด หรือการลดวงเงินผ่อนต่องวดหรือในการผ่อนชำระ ซึ่งค่างวดหรืออัตราดอกเบี้ยนั้น จะเป็นรายได้ของธนาคาร แต่หากพักชำระดอกเบี้ยให้ลูกค้า ธนาคารก็จะไม่มีรายได้ในช่วงนั้น แต่ธนาคารจะต้องบันทึกหรือนับเป็น “ไม่มีรายได้” 

 

“กลุ่มธุรกิจเช่าซื้อที่ยังถกเถียงกันว่า ถ้าไม่เก็บค่างวด 6 เดือน ไม่เก็บดอกเบี้ย ธนาคารจะไม่มีรายได้ แต่ยังต้องจ่ายดอกเบี้ยฝั่งเงินฝาก ซึ่งอาจทำให้บางธนาคารขาดทุนหรือกำไรลดลง เพราะรายได้ไม่เข้าและมีสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ หรือสำรองหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบไปหลายทอด เช่น ผู้ฝากเงินหรือผู้ถือหุ้นของธนาคาร แม้ที่ผ่านมาธปท.สนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่ไม่ต้องบันทึกก็ตาม  

 

กู้แสนล้านครบดีล

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า หากปัญหาไวรัสโควิด-19 ระบาดลากยาว เศรษฐกิจจะทรุดหนักจนเกิดวิกฤติขึ้นมา โดยวิกฤติจะเกิดผ่านปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ หรือ credit crisis คือ กลุ่มภาคธุรกิจที่มีปัญหาหนี้สูงและเป็นกลุ่มที่อันดับความน่าเชื่อถือตํ่ากว่าระดับน่าลงทุน หรือ non-investment grade หรือ high yield จะเป็นกลุ่มที่อาจผิดนัดชำระหนี้และอาจทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นต่อระบบตลาดเงินและตลาดทุน จนลามไปสู่การไถ่ถอนตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้บริษัทเอกชน หรือ corporate bond ในกลุ่มที่มีความน่าเชื่อถือดีหรือไม่ได้รับปัญหาทางเศรษฐกิจมากจนบริษัทไม่มีเงินชำระหนี้

เอ็นพีเเอลพุ่ง  จี้ธปท.รับมือ  ลูกหนี้โวยแบงก์ช่วยไม่จริง

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า จะมีหุ้นกู้เอกชน ตั๋วบี/อี ครบกำหนดไถ่ถอน เดือนละแสนล้านในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งจะเป็นปัญหาใหญ่ของตลาดเงิน ตลาดทุน เพราะจะทำให้มีบางธุรกิจ อย่างอสังหาริมทรัพย์ ไม่สามารถที่จะยืดอายุการชำระหนี้ได้ ซึ่งธปท.และกองทุนภาครัฐได้เตรียมวงเงินตั้งรับไว้แล้ว

 

นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวว่า โกลด์แมนได้เข้าซื้อกองทุนของตัวเองคิดเป็นมูลค่า 722 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากกองทุนรวมตลาดเงินไฟแนนเชียลสแควร์ และอีก 301 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกองทุนสแควร์ไพรม์ รวมการฉีดเงินเข้าระบบมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิดทั่วโลก ทำให้นักลงทุนไถ่ถอนหลักทรัพย์ไปมากกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะเวลา 4 วันทำการ ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ปกติในอุตสาหกรรมตลาดกองทุนรวม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีใครทำในสถานการณ์ความวิตกเกี่ยวกับโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ธนาคารนิวยอร์กเมลลอน ได้เข้าซื้อกองทุนของตัวเอง 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์ รวมมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563