เบื้องหลังมือวาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com

01 เม.ย. 2563 | 23:25 น.

เบื้องหลังมือวาง www.เราไม่ทิ้งกัน.com

ทันทีที่เปิดลงทะเบียนรับสิทธิเงินเยียวยาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรโนา(โควิด-19) รายละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ไปได้แค่ 30 นาทีแรก เว็บก็ล่ม และต้องปิดเว็บไป เหตุเพราะมีผู้มารอลงทะเบียน 2 ล้านคนและกรูกันเข้ามาถึง 20 ล้านคนในช่วง 5 นาทีแรก ซึ่งสูงกว่าที่ี่ระบบจะรองรับได้ที่ 3.48 ล้านคนต่อนาที

 

แต่ทีมงานใช้เวลาแก้ไขระบบเพียงชั่วโมงเศษ ก็สามารถกลับมาใช้งานได้ และทำให้คนที่รอลงทะเบียนสามารถลงได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่ถึง 24 ชั่วโมงดี ยอดคนลงทะเบียนก็ทะลุ 20 ล้านคนไปแล้ว และชื่อ “สมคิด จิรานันตรัตน์” ก็ถูกพูดอีกครั้งในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้        

“สมคิด จิรานันตรัตน์” ได้ชื่อว่าเป็นมือออกแบบระบบดิจิทัล อัพเกรดและพัฒนา application หรือแพลตฟอร์มใหม่ๆ รวมทั้งปรับปรุงแพลตฟอร์มและแก้ไขปัญหาด้านเทคโนโลยีต่างๆ โดยเริ่มสร้างชื่อจากธนาคารกสิกรไทย ในการเข้าไปปรับปรุง แอพพลิเคชัน K PLUS หรือ K ในตำแหน่งประธาน บริษัท Kasikorn Business Technology Group (KBTG) ก่อนที่จะลาออกมาร่วมงานกับ บริษัท Accenture ที่ปรึกษาทางธุรกิจ ที่ให้บริการครอบคลุม ทั้งด้านกลยุทธ์และแผนธุรกิจ รวมถึงปฏิบัติการด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ

 

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล นวัตกรรมและกรรมการ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โจทย์ครั้งนี้  เงื่อนไขต่างจากโครงการชิมช้อปใช้ที่มีโจทย์ค่อนข้างชัดเจน เช่น เฟส 1 จะเริ่มรับลงทะเบียน 10 วัน จากนั้นจึงขยายเฟส 2 และ 3 ทำให้เห็นภาพจำนวนของผู้ลงทะเบียนอย่างน้อย 1 ล้านคนต่อวัน ซึ่งการทำชิมช้อปใช้ จะเริ่มจากการมีประตูด้านหน้า เพื่อเป็นระบบกั้น หากจำนวนคนที่เข้ามามากเกินระบบที่กั้น ก็จะมีจำนวนคนอออยู่ที่ประตู ซึ่งจริงๆ ระบบติดขัด แต่บางคนก็เข้ามาได้

 

สมคิด จิรานันตรัตน์

 

โจทย์ใหม่ที่ได้รับในโครงการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทคือ กำหนดให้ไม่จำกัดจำนวนคนลงทะเบียนและสามารถรองรับการลงทะเบียนได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่สามารถรู้จำนวนคนที่จะเข้ามาและเราก็ไม่อยากเห็นการตั้งด่าน เพื่อไม่ให้คนแย่งกันเข้ามาพร้อมๆ กัน จึงหาวิธีทำระบบให้สามารถรองรับคนลงทะเบียนได้มากกว่าโครงการ ชิมช้อปใช้อย่างน้อย 10 เท่า ซึ่งเราได้ปรึกษาบริษัทที่ทำเกี่ยวกับ cloud service คือ google cloud ซึ่งเป็นบริษัทที่ใช้บริการและคุ้นเคยกันมานาน

 

“ทาง google cloud ที่สิงคโปร์ clame มาว่า จะสามารถรองรับและขยายกำลังเครือข่ายกับจำนวนเครื่องได้ไม่อั้น การออกแบบระบบจึงต้องดูวิธีออกแบบ เพื่อให้ประชาชนที่ลงทะเบียนสามารถใช้ได้มากที่สุด คือ Lean และลื่นไหล โดยไม่มีคอขวด ซึ่งยอมรับว่า หลังรับโจทย์นั้นมีเวลา 1 สัปดาห์ ซึ่งทีมงานภายในทำกัน 10 คน โดยเป็นการต่อยอดจาก ชิมช้อปใช้ แต่ก็จะมีทีมงานสนับสนุนหลายส่วนงาน ไม่ว่าจะเป็นทีมดูแลโครงสร้างพื้นฐาน โปรแกรมเมอร์ ระบบข้อมูล และจะมีทีมงานหลากหลายทั้งจากกระทรวงการคลังและกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส )”

ก่อนจะลงทะเบียนเวลา 18:00 น. จะเปิดให้คนเข้ามารอก่อนตั้งแต่เวลา 16:00 น. เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหล เมื่อถึงเวลาลงทะเบียนจริง ซึ่งขั้นตอนการลงทะเบียนจำเป็นต้องทำควบคู่กับการส่งรหัส OTP หรือ One time password ซึ่งต้องส่ง SMS ภายใน 5 นาที ซึ่งตอนทำชิมช้อปใช้ กำหนด 700 ทรานแซกชันต่อวินาที ซึ่งครั้งนี้ขอเป็น 1,200 ทรานแซกชันต่อวินาที แต่ก็ไม่พอ จึงได้คุยกับนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ซึ่งทางทรูบอกว่า ช่วยชาติกัน จึงขอเพิ่มมาได้เต็มที่ 5,000 ทรานแซกชันต่อวินาที ซึ่งการส่ง SMS จะมีจำนวน Request มากกว่า 20 ล้านครั้ง ซึ่งอาจจะมาจากคนหนึ่งเคาะหลายครั้ง ทำให้ระบบขัดข้องและรวน”

 

“ช่วงทดสอบก็ไม่ได้เกิดเหตุขัดข้องอะไร แต่พอเกิดเหตุขัดข้อง ก็แก้ไขจากระบบ ซึ่งตั้งกระบวนกันใหม่ ซึ่งระหว่างนั้น จะมีคนค้างท่อรออยู่กว่า 1 ล้านคน จากนั้นค่อยๆ ทยอยเปิดให้บริการ ซึ่งระบบสามารถทำงานได้ลื่นไหลดีจนงงเหมือนกันคือ ทำได้ 1 ล้านคนภายในเวลา 15 นาที แต่พอถึงจุดหนึ่งการส่ง SMS จำนวน 5,000 
ทรานแซกชันก็ไม่ทัน เราโทรศัพท์หาทรู แต่ทางทรูบอกว่า เต็มที่แล้ว จึงหาวิธี เพราะถ้ารอไปเรื่อยๆ SMS จะถูกส่งเข้ามารอ ซึ่งคนที่ได้โค้ดไปจะเกินเวลากำหนด จึงใช้วิธีเขียนโปรแกรมฉุกเฉินขึ้นมาตัดทิ้ง เพื่อเริ่มต้นใหม่แล้วก็ทำอยู่อย่างนี้ จนพ้นวิกฤติ”

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,562 วันที่ 2-4 เมษายน 2563