เตือนรับมือ ศก.ไทยสาหัสแน่

29 มี.ค. 2563 | 23:00 น.

ธุรกิจเตรียมแผน BCP รับมือวิกฤติ นักเศรษฐศาสตร์ประสานเสียงจีดีพีไทยปีนี้สาหัส โอกาสติดลบตํ่ากว่า 5.3% เตือนทุกฝ่ายหยุดติดเชื้อไวรัสให้เร็ว เพราะหากยืดเยื้อ เศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสหดตัวลึก ถึง 7.6% เช่นปี 2541

 

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่เร่งตัวขึ้น จนยอดผู้ติดเชื้อรวมในไทยทะลุ 1,000 คนไปแล้วทำให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 25 มีนาคม แม้ จะมีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.75% หลังจากที่ได้ปรับลดฉุกเฉิน 0.25% ไปก่อนหน้า แต่สิ่งที่ทำให้ตลาดคาดไม่ถึงคือปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปี 2563 ลงลึกติดลบถึง 5.3%  ตํ่าสุดในรอบ 22 ปี ทั้งที่เพิ่งเข้าสู่เดือนที่ 3 ของปีเท่านั้น     

อย่างไรก็ตาม จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ยังลามเกือบทุกพื้นที่และอุตสาห กรรม ซึ่งภาคธุรกิจส่วนใหญ่ได้จัดทำแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) เพื่อไม่ให้ธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งภาคธุรกิจส่วนใหญ่มองว่า ไวรัสโควิดจะนำภาวะวิกฤติมาสู่ประเทศ โดยเห็นได้จากลักษณะของการแพร่ระบาดที่ขยายวงรวดเร็วแล้ว จึงพยายามวางแผน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถฝ่าวิกฤติรอบนี้ไปได้

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ตัวเลขประมาณการของธปท.สะท้อนเศรษฐกิจมีโอกาสหดตัวหรือขยายตัวได้ ขึ้นกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 และผลตอบรับประสิทธิผลมาตรการต่างๆ หากตอบรับนโยบายออกมาดีและลดการแพร่ระบาดของไวรัสได้ เศรษฐกิจไทยมีโอกาสในเชิงบวก แต่หากผลตอบรับและการแพร่ระบาดไปในทางตรงข้าม ก็มีความเสี่ยงที่ตัวเลขประมาณการจีดีพีอาจอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2541 ซึ่งติดลบ 7.6% ซึ่งยังต้องประเมินตัวเลขกันเป็นรายเดือนจากที่เคยประเมินเป็นรายไตรมาส

เตือนรับมือ ศก.ไทยสาหัสแน่

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดมองแนวโน้มโควิด-19 น่าจะกระทบเศรษฐกิจค่อนข้างสาหัส ซึ่งกระทรวงการคลังและธปท.พยายามออกมาตรการอย่าง ต่อเนื่อง แต่เมื่อตัวเลขเศรษฐกิจหดตัวไปมากและการแพร่ระบาดยังไม่จบ ซึ่งตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยถือว่า ยังไม่ถึงจุดสูงสุด ถ้าเกิดผู้ติดเชื้อเพิ่ม 30% ก็จะเหมือนสถานการณ์ในอิตาลี

“เราจะดูตัวเลขผู้ติดเชื้อของทางการเป็นหลักและใช้ตัวเลขประมาณการจีดีพีของธปท.เป็นโจทย์ ติดลบ 5.3% หรือจะแย่กว่านั้น ซึ่งต้องติดตามตัวเลขและข้อมูลเป็นรายเดือน”

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มจีดีพีปีนี้ขึ้นกับการหยุดแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิดและมาตรการฟื้นฟู ถ้าสถานการณ์คลี่คลายได้ภายในเดือนเมษายนและคนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ก็มีโอกาสที่จะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจติดลบตํ่ากว่า 5.3% แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึงสิ้นปี ทั้งเมืองไทยและทั้งโลกจีดีพีอาจติดลบหนักกว่า 5.3%

“สถานการณ์ครั้งนี้แตกต่างกับวิกฤติต้มยำกุ้งที่ไทยมีปัญหาและประเทศในกลุ่มอาเซียนมีปัญหาเจอภาวะเศรษฐกิจล้มละลาย แต่ไม่ได้มีปัญหาทั้งโลก แต่เงินบาทอ่อนค่าทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็ว แต่ครั้งนี้มีปัญหาทั้งโลก จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยจะทรุดหนัก โดยเฉพาะถ้าทั้งโลกไม่สามารถจบสถานการณ์ได้เร็ว มีโอกาสที่จีดีพีจะติดลบ 7.6% เหมือนปี 2541 และมีโอกาสจะติดลบหนักกว่านั้นได้”

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)กล่าวว่าที่ผ่านมา คาดว่าจีดีพีจะติดลบ 1% นั้นอาจจะไม่พอโดยอาจต้องเริ่มคิดกรณี full lock down ในเดือนเมษายน ซึ่งจะทำให้ไตรมาส 2 จีดีพีติดลบมากกว่าที่เคยคาดไว้ ส่วนทิศทางดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ระดับ 0.25% ซึ่งตํ่าที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่ยังมีนโยบายทาง การคลังที่จะมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจ และไม่ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายติดลบหรือลงสู่ระดับ 0%

 

หน้า 13-14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,561 วันที่ 29 มีนาคม-1 เมษายน 2563